สถานการณ์เด่นทางสุขภาพปี 2567 ของคนไทย ที่อยู่ในความสนใจของสังคม มี 10 สถานการณ์ ได้แก่
- การกราดยิงกับแนวทางการควบคุมอาวุธปืน
- ปัญหาแพทย์ลาออก ควรดำเนินการอย่างไร
- สองทศวรรษของบัตรทอง: การขยายสิทธิประโยชน์แบบจัดหนักจัดเต็ม
- การพนันออนไลน์ กับดักเยาวชนและคนหนุ่มสาว
- เกิดแล้วเกิดอีก อุบัติเหตุจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
- มาเฟียข้ามชาติกับการแก้ไขปัญหา
- แรงงานไทยในตะวันออกกลาง ทางสองแพร่งระหว่างความมั่งคั่งกับความมั่นคงในชีวิต
- มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตคนไทย 3 หมื่นคนต่อปี ถึงเวลาทวงสิทธิอากาศสะอาด
- การถ่ายโอน รพ.สต. ไป อบจ. ความเป็นมา ปัญหาความท้าทาย
- ธรรมนูญสุขภาพฉบับที่ 3 มุ่งสู่ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม
“ความเครียด” จากสถิติและข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกันว่า คนไทยเครียดมากขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและมีการฆ่าตัวตายจากปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นจากปี 2563 มี 355,537 คน เพิ่มเป็น 358,267 คน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 2,730 คน อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2563 อยู่ที่ 5-6 ต่อประชากรแสนคน เพิ่มเป็น 7.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2564 กลุ่มอายุที่ฆ่าตัวตายมากที่สุดคือ 15-34 ปี
ขณะที่ข้อมูลกรมสุขภาพจิตเมื่อเดือนมีนาคม 2565 พบว่า ประชาชนมีความเครียดสูงขึ้น 2.1 เท่า โรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 4.8 เท่า เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึง 5.9 เท่า โดยส่วนใหญ่คนมุ่งดับอารมณ์แห่งความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่ได้มุ่งค้นหาสาเหตุหรือทางแก้เหตุ เช่น การใช้ความรุนแรง การเบี่ยงเบนความสนใจของตนเอง ที่อาจนำไปสู่ผลกระทบสุขภาพ อย่างการติดบุหรี่ เหล้า หรือใช้สารเสพติด
ทั้งนี้ คนแต่ละช่วงวัยมีต้นเหตุความเครียดแตกต่างกันไป แต่โดยทั่วไปจะไม่แตกต่างมากนัก 1. วัยเด็กเป็นเรื่องการเรียน ความสัมพันธ์กับพ่อแม่ และการคบเพื่อน 2. วัยทำงานเป็นเรื่องสร้างฐานะ สร้างครอบครัว และดูแลคนในครอบครัว โดยพบปัญหาเสี่ยงหมดไฟ 57% หมดไฟ 12% 3. วัยสูงอายุเป็นเรื่องสุขภาพ การเงิน และความโดดเดี่ยว
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงและความบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนดิ้นรน เปรียบเทียบ แก่งแย่ง ช่วงชิง และเบียดเบียนกันมากขึ้น เป็นสิ่งเร้าภายนอกที่สุมให้อุณหภูมิความเครียดภายในสะสมสูงขึ้น จนกลายเป็นภาวะเรื้อรังของสังคมในศตวรรษที่ 21 ทั้งที่โลกเจริญด้วยเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ทำให้ทุกอย่างสะดวกสบาย
การฟื้นสภาพ (resilience) ด้านจิตใจเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องได้รับการฝึกฝน การพัฒนาจิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างความมั่นใจในการแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การมีมุมมองในทางสร้างสรรค์ หรือชี้ให้เห็นถึงด้านดีของการมีความเครียดในระดับที่เหมาะสม จะทำให้คนพยายามแก้ปัญหา รวมถึงควรมีการปลูกฝังกรอบแนวคิดแบบเติบโต (growth mindset) เพื่อรับมือกับความเครียดที่จะมาในรูปแบบและระดับต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้