ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ และความต้องการที่จะเป็น “ผู้สูงวัยที่สุขภาพดี” ทำให้ผู้สูงวัยจำนวนไม่น้อยหันมาใส่ใจสุขภาพร่างกายมากขึ้น เป็นผลให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันยังดูกระชุ่มกระชวย แข็งแรง และดูเด็กกว่าอายุจริงมากทีเดียว แสดงให้เห็นว่า สังคมไทยมีสัญญาณที่แสดงถึงการเป็นสังคมอายุยืน แต่ในขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าสังคมไทยได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)” แล้ว ด้วยอัตราการเกิดต่ำ คนอายุยืนขึ้น สัดส่วนผู้สูงอายุมีจำนวนมาก สังคมจึงพยายามประคับประคองให้ผู้สูงอายุวัยเกษียณแต่ยังทำงานไหวได้ทำงานต่อเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ในเมื่อผู้สูงอายุหลายคนยังทำงานไหว สุขภาพร่างกายยังแข็งแรงดี บวกกับความเคยชินที่ทำงานมาตลอดชีวิต ผู้สูงอายุหลายคนจึงรู้สึกเบื่อมากที่เกษียณจากงานมานั่ง ๆ นอน ๆ อยู่บ้านเฉย ๆ และอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นมาได้ด้วย ผู้สูงอายุหลายคนจึงเลือกที่จะหางานเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำ เพราะกายยังไหวและใจยังสู้ โดยมักจะเป็นงานที่ไม่ได้ใช้แรงมากและเหมาะกับสังขาร เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระลูกหลานในการหาเงินเลี้ยงดูตัวเอง เพื่อแก้เบื่อ และเพื่อให้ร่างกายยังได้ออกแรงบ้าง ซึ่งภาครัฐและภาคเอกชนก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ด้วยนโยบายการจ้างงานผู้สูงอายุ
อย่างไรก็ดี มีผู้สูงอายุกลุ่มหนึ่งที่ยังทำงานไหว แต่อยากที่จะประกอบธุรกิจส่วนตัวเล็ก ๆ ในช่วงบั้นปลายชีวิตมากกว่าที่จะกลับไปเป็นลูกจ้างเขา สุขภาพร่างกายยังมีความสามารถในการประกอบอาชีพ แต่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเงินทุนประกอบอาชีพ ตรงจุดนี้ หากถ้าไม่มีเงินทุนในการเริ่มต้นประกอบอาชีพล่ะก็ สามารถทำเรื่องขอกู้ยืมเงินเพื่อประกอบอาชีพ จากกองทุนผู้สูงอายุได้
กองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีหน้าที่เดินหน้าดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการผู้สูงอายุที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้ผู้สูงอายุได้นำเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย มาเป็นเงินทุนหรือเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ รวมถึงเป็นการหมุนเวียนสภาพคล่องทางการใช้จ่ายให้กับผู้สูงอายุ ทดแทนการเป็นหนี้นอกระบบ
สำหรับกองทุนผู้สูงอายุเพื่อการประกอบอาชีพ จะเป็นเงินทุนกู้ยืมเพื่อการประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถยื่นกู้รายบุคคล วงเงินรายละไม่เกิน 30,000 บาท และสามารถยื่นกู้รายกลุ่ม จำนวนไม่น้อยกว่า 5 คน วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท ไม่มีดอกเบี้ย และต้องผ่อนชำระคืนภายใน 3 ปี (ต้องมีผู้ค้ำประกัน)
ผู้สูงอายุคนไหนที่ต้องการจะรับสิทธิ์นี้ สามารถยื่นคำร้องขอกู้ยืมผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ www.olderfund.dop.go.th สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 354 6100 กองทุนผู้สูงอายุ (กรมกิจการผู้สูงอายุ) กรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ทุกจังหวัด
ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอกู้เงินกองทุนผู้สูงอายุเพื่อการประกอบอาชีพ
- ลงทะเบียนยื่นคำร้อง
- เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เยี่ยมบ้านสอบข้อเท็จจริง
- เสนอที่ประชุมพิจารณา
- แจ้งผลการพิจารณา
- นัดทำสัญญา/โอนเงินเข้าบัญชีของผู้กู้
**รวมระยะเวลาทั้งกระบวนการ 90 วัน แต่ระยะเวลาอาจมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับปริมาณคำร้องในแต่ละเดือน
คุณสมบัติของผู้กู้ยืมเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพของกองทุนผู้สูงอายุ
- มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
- ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านเงินทุนประกอบอาชีพ
- มีความสามารถในการประกอบอาชีพ
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- มีปัจจัยในการประกอบอาชีพ
- มีสถานที่ในการประกอบอาชีพในจังหวัดเดียวกันกับที่ได้ยื่นคำร้องขอกู้ยืมไว้
- ไม่เป็นผู้กู้ หรือผู้ค้ำประกันของกองทุนผู้สูงอายุ
- คู่สมรส หรือบุคคลซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส ต้องไม่เป็นผู้ค้างชำระเงินกองทุนผู้สูงอายุ
คุณสมบัติของผู้ค้ำประกันเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพของกองทุนผู้สูงอายุ
- เป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย และมีอายุไม่เกิน 57 ปีบริบูรณ์
- มีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านอยู่จังหวัดเดียวกับผู้ขอกู้ยืม
- เป็นผู้มีรายได้หรือเงินเดือนประจำไม่น้อยกว่า 9,000 บาท
- ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- ไม่เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ผู้สูงอายุบุคคลอื่น
- ไม่เป็นคู่สมรส หรือบุคคลซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสของผู้กู้
เอกสารประกอบการกู้ยืม
- บัตรประจำตัวประชาชน (ผู้กู้+ผู้ค้ำ)
- ทะเบียนบ้าน (ผู้กู้+ผู้ค้ำ)
- หนังสือรับรองเงินเดือนผู้ค้ำประกัน
- ใบสำคัญการสมรสหรือใบสำคัญการหย่า (ถ้ามี)
- ใบมรณบัตร กรณีคู่สมรสเสียชีวิต (ถ้ามี)
- ใบเปลี่ยนชื่อ สกุล (ถ้ามี)
**กรณีผู้ยื่นคำร้องมีอายุ 80 ปีขึ้นไป ต้องมีใบรับรองแพทย์ และรูปถ่ายเต็มตัวขณะประกอบอาชีพด้วย