กรมอนามัย เผยผลวิจัยชี้การมีกิจกรรมทางกายทั้งวันธรรมดาและวันหยุด ช่วยลดการเจ็บป่วยโรคหัวใจและสมอง มากถึงร้อยละ 38 โดย นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลผลการศึกษาแบบติดตามระยะยาว (Retrospective cohort study) ในสหราชอาณาจักร ของวารสารวิชาการ JAMA ประจำเดือน กรกฎาคม 2566 ที่ศึกษาติดตามการมีกิจกรรมทางกายด้วยการติดอุปกรณ์วัด (accelerometer) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ในกลุ่มประชากรอายุเฉลี่ย 62 ปี จำนวน 89,573 คน และติดตามผลลัพธ์ทางสุขภาพ เฉลี่ย 6 ปี พบว่า
“การมีกิจกรรมทางกายเพียงพออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ สามารถช่วยลดการเจ็บป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว และหลอดเลือดสมอง (Stroke) ได้ประมาณร้อยละ 22-38 เมื่อเทียบกับผู้ที่มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่า 150 นาทีต่อสัปดาห์”
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอด้วยกัน ระหว่างกลุ่มแรกที่มีกิจกรรมทางกายในสัดส่วนที่มากในช่วงวันหยุด หรือ “นักรบวันหยุด (weekend warrior)” กับกลุ่มหลังที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอในสัดส่วนที่มากในช่วงวันธรรมดา หรือ “ขยับวันธรรมดา (active regular)” พบว่า กลุ่มแรกจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว และหลอดเลือดสมอง (Stroke) น้อยกว่าเล็กน้อย อยู่ที่ร้อยละ 2-5 ส่วนกลุ่มหลังจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดน้อยกว่า หรือร้อยละ 8
ด้านนายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า จากรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน และลักษณะการทำงานของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ออกแรงน้อยลง (office-based) และอาจมีภาระงานในวันธรรมดามากจนไม่มีเวลาออกกำลังกาย อาจใช้วิธีออกกำลังกายในวันหยุดชดเชยแทน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีกิจกรรมทางกายในวันหยุดหรือวันธรรมดา ล้วนส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งสิ้น นอกจากนี้ ควรลดการมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง (การนั่งหรือนอนราบ) เป็นระยะเวลานาน ๆ ในแต่ละวัน ที่ส่งผลร้ายต่อหลอดเลือดหัวใจและสมอง และทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วย
กรมอนามัยขอแนะนำกิจกรรมทางกายระหว่างวัน โดยลุกยืนจากการนั่งทำงานบ่อย ๆ เช่น ทุก 60 นาที หรือปรับโต๊ะให้สามารถยืนทำงานได้ ด้วยการตั้งจอคอมพิวเตอร์บนหนังสือหรือลังกระดาษ ทั้งนี้ ให้ยึดจากองค์การอนามัยโลก คือ “ทุกการขยับนับหมด (every move counts)” เพื่อร่างกายที่แข็งแรงและมีสุขภาพดี
ระดับของกิจกรรมทางกายแบ่งระดับความหนักได้ 4 ระดับ ดังนี้
- ระดับหนักมาก (Vigorous) คือ การเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยมาก หน้าแดงและมีเหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็วมาก จนไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ เช่น ขัดห้องน้ำ ยกของหนัก วิ่งเร็ว ว่ายน้ำเร็ว กระโดดเชือก ปั่นจักรยานเร็วระยะไกล
- ระดับปานกลาง (Moderate) คือ การเคลื่อนไหวร่างกายที่ทำให้รู้สึกเหนื่อยปานกลาง หัวใจเต้นเร็วขึ้น หายใจเร็วขึ้น หน้าแดงมีเหงื่อซึม ยังสามารถพูดเป็นประโยคได้ เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน เดินขึ้นลงบันได ทำสวน การเสริฟอาหาร
- ระดับน้อย (Mild) คือ การเคลื่อนไหวร่างกายที่ออกแรงน้อย ส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น เดินระยะทางสั้น ๆ ล้างจาน พับผ้า โยคะ รดน้ำต้นไม้ ยืนบนรถโดยสาร
- ระดับนิ่งเฉย (Inactivity) คือ กิจกรรมที่ไม่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น นั่งเฉย ๆ นั่งดูทีวี นอนหลับ นั่งประชุม นั่งขับรถ นั่งสวดมนต์
กิจกรรมทางกาย โดยสามารถจัดแบ่งเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มที่ 1 กิจกรรมทางการกีฬาและสันทนาการ ประกอบด้วย 7 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ ปั่นจักรยาน ออกกำลังตามสภาวะ เต้นรำ ตกปลาล่าสัตว์ วิ่ง กีฬา และกิจกรรมทางน้ำ
- กลุ่มที่ 2 กิจกรรมงานบ้าน ประกอบด้วย 8 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ กิจกรรมงานบ้าน ซ่อมแซมบ้าน กิจกรรมนิ่งเฉย สวนและสนามหญ้า ดูแลตนเอง เพศสัมพันธ์ เดินและกิจกรรมทางศาสนา
- กลุ่มที่ 3 กิจกรรมทางอาชีพและกิจกรรมอื่น ๆ ประกอบด้วย 6 หัวข้อใหญ่ ได้แก่ เล่นดนตรี อาชีพ การเดินทาง กิจกรรมฤดูหนาว กิจกรรมอาสาสมัคร และกิจกรรมอื่น ๆ