หลังจากพรรคการเมืองและผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรไทย ได้ลงสมัครอย่างเป็นทางการพร้อมกับได้หมายเลขติดตัวกันมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตทั่วประเทศจำนวน 400 คน ที่เหลืออีก 100 คนจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งแต่ละพรรคจะจัดลิสต์ส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งและมีการเปิดเผยต่อสาธารณชน
วิธีคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคใหญ่มีลุ้น พรรคขนาดกลางมีเหนื่อย
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. ในครั้งนี้ จะมีการแยกบัตร ส.ส. เขต และบัญชีรายชื่อออกจากกัน ในระบบบัญชีรายชื่อนั้นจะใช้วิธีการคำนวณโดยใช้สูตรหาร 100 โดยจะนำไปหารผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ อาทิ ประชาชนทั้งประเทศออกมาลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อรวมทุกพรรคได้ทั้งหมด 40 ล้านเสียง (จำนวน 40,000,000 นี้จะถูกนำไปหารด้วย 100 ซึ่งเท่ากับ 400,000) โดยจำนวนดังกล่าวจะเป็น “คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. บัญชีรายชื่อหนึ่งคน” คะแนนเฉลี่ยดังกล่าวจะถูกนำไปหารคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ
ซึ่งสูตรการคำนวณดังกล่าว ทำให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่อยู่ในพรรคขนาดใหญ่ต้องได้อยู่ในลำดับต้นของลิสต์ ขณะที่พรรคระดับกลางนั้น มีการคาดการณ์ว่าหากอยู่ต่ำกว่าในลำดับที่ 10 โอกาสที่จะได้เดินเข้าสภาก็มีไม่มากนัก ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองต่างก็วางแผนในการจัดลิสต์ เพื่อให้แกนนำพรรคได้มีโอกาสมากที่สุด
จำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ภาคอีสาน และภาคกลาง คือตัวชี้วัดศึกเลือกตั้ง 2566
ขณะที่ ส.ส. แบบแบ่งเขตที่มีการรับสมัครและหาเสียงกันอย่างครึกครื้น พร้อมขึ้นเวทีดีเบตนโยบายกันไปแล้วนั้น จากนี้เหลือเวลาอีกประมาณ 33 วัน ดูเหมือนว่าแต่ละพรรคการเมืองจะพยายามอย่างยิ่งในการลงพื้นที่ที่มีฐานเสียงเดิมของตนเองอยู่ โดยในครั้งนี้แต่ละภาคมีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้นจากเดิมทุกภาค
- ภาคอีสานมีให้ชิง 132 ที่นั่ง
สนามที่หลายพรรคแย่งชิงคะแนนกันมากที่สุด คือภาคอีสาน ที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตในครั้งนี้ได้ถึง 132 คน ซึ่งพรรคที่ได้ชื่อว่ามีฐานเสียงแน่นอยู่ในภูมิภาคอีสานคือ เพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ ก้าวไกล รวมไทยสร้างชาติ และประชาธิปัตย์
ซึ่งการส่งผู้สมัครของแต่ละพรรคนั้นต้องยอมรับว่าเป็นงานที่หินมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่ทุกพรรคต้องการทั้งคะแนนให้กับ ส.ส. แบบแบ่งเขต และคะแนนในแบบปาร์ตี้ลิสต์ นั่นเท่ากับว่าไม่เพียงแค่ผู้สมัครจะถูกใจคนในพื้นที่ แต่นโยบายพรรคก็ต้องได้ใจคนท้องถิ่นด้วยเช่นกัน
- ภาคกลางมีให้ชิง 122 ที่นั่ง
ทั้งนี้ไม่ใช่แค่พื้นที่ภาคอีสานเท่านั้นที่เป็นสนามประลองอันดุเดือดของการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ สนามภาคกลางที่มีจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งในปี 2562 โดยมีจำนวน ส.ส. สูงถึง 122 คน และสนามนี้ไม่ใช่แค่เพียงพรรคใหญ่เท่านั้น แต่พรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา นับเป็นคู่แข่งสำคัญกับพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและพลังประชารัฐ เพราะฐานเสียงของ ส.ส. ภาคกลางจากภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนานั้นแข็งแรงไม่น้อย และกล่าวกันว่าเซอร์ไพรส์ของภูมิใจไทย อาจไม่ได้อยู่ที่ภาคอีสาน หากแต่จะมาอยู่ที่ภาคกลางที่อาจจะทำให้ ภูมิใจไทย ได้ตัวเลข ส.ส. ครบสามหลักตามที่คาดหวังเอาไว้
- ภาคเหนือมีให้ชิง 39 ที่นั่ง
สำหรับภาคเหนือที่มีจำนวน ส.ส. ได้ 39 คน (จากเดิมในปี 2562 มีจำนวน 33 คน) เป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่ภาคเหนือนั้นเป็นพื้นที่ของพรรคเพื่อไทย หากจะมีพรรคไหนเจาะเข้าไปได้ ก็คงต้องดูว่าพลังของพรรคพลังประชารัฐจะไหวไหม แต่อาจจะมีลุ้นสำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ส่วนพรรคอื่นที่มีโอกาสแทรกเข้าไปในพื้นที่ภาคเหนือได้ เห็นจะเป็นพรรคภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ ก้าวไกล และประชาธิปัตย์
- ภาคตะวันออก (29) และภาคตะวันตก (20) มีให้ชิงรวม 49 ที่นั่ง
สำหรับภาคตะวันออกนั้น มี ส.ส. ได้ 29 คนและจะมีศัพท์เป็นอันเข้าใจในแวดวงคอการเมือง กับคำว่า “บ้านใหญ่” ที่รอบนี้อยู่ภายใต้สีเสื้อของพรรคเพื่อไทย แต่อย่างเสียไร ภาคตะวันออกที่มี ส.ส. แบบแบ่งเขตได้ 29 คน จะเป็นการต่อสู้กันอย่างหนักของสามพรรค คือ เพื่อไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ในขณะที่พรรคขนาดกลางอย่างภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และก้าวไกล จะเป็นตัวสอดแทรกที่อาจมีเซอร์ไพรส์บางในบางเขต
ส่วน ส.ส. แบบแบ่งเขตของภาคตะวันตก จะเป็นพื้นที่ของการต่อสู้กันชนิดประดาบก็เลือดเดือดของพรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ โดยภาคตะวันตกนั้นประกอบไปด้วยจังหวัด ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง ส.ส. ในพื้นที่เดิมนั้นมาจากทั้งสองพรรค น่าสนใจว่าการเลือกตั้งในครั้งที่ 27 ผู้สมัครจากพรรค รวมไทยสร้างชาติ ภูมิใจไทย และก้าวไกล จะสามารถแบ่งเก้าอี้มาได้บ้างหรือไม่
- ภาคใต้มีให้ชิง 58 ที่นั่ง
จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในภาคใต้ที่ได้รับการจัดสรรใหม่จาก กกต. นั้น เพิ่มขึ้นเป็น 58 คน จากเดิม 50 คน และเป็นที่ทราบกันดีว่าภาคใต้เป็นฐานที่มั่นสำคัญของประชาธิปัตย์ และในครั้งนี้ หัวหน้าพรรค จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประกาศไว้แล้วว่าจะต้องได้ ส.ส. ในภาคใต้ 35-40 ที่นั่ง แต่ก็ใช่ว่าประชาธิปัตย์จะไปถึงเป้าหมายได้โดยง่าย เพราะคู่แข่งที่สร้างเซอร์ไพรส์มาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562 อย่างภูมิใจไทยประกาศพร้อมชนเต็มที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ที่ทางภูมิใจไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นฐานเสียงใหม่ให้กับพรรค