สวัสดีวันมาฆบูชาค่ะ วันที่ถือว่าเป็นวันแห่งความรักของพุทธศาสนิกชน เพราะถ้าย้อนไปในพุทธกาล นี่คือวันที่เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่าจาตุรงคสันนิบาต ที่พระสงฆ์มารวมตัวกันโดยไม่ได้นัดหมาย 1,250 รูป และพระสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ ที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ที่ผ่านการอุปสมบทโดยพระพุทธเจ้า รวมกับวันดังกล่าวเป็นวันที่พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ และยังเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้แสดง “โอวาทปาติโมกข์” อันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา
วันดี ๆ แบบนี้เลยทำให้ผู้เขียนนึกถึงคำสอนของพระอธิการไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต ที่ท่านยกเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งแปลจากบาลีเป็นภาษาไทยได้ว่า “มือที่ไม่มีแผล ไม่มีวันกลัวยาพิษ เมื่อแผลในฝ่ามือไม่มี ยาพิษนั้นก็ไม่อาจจะให้โทษแก่ผู้ถือยาพิษได้ฉันใด ชื่อว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป”
เป็นคำสอนที่ได้ฟังครั้งแรกก็รู้สึกสะดุดใจขึ้นมาทันทีเพราะถ้าคิดตามคำสอนดังกล่าว เป็นความจริงเสียยิ่งกว่าจริง เพราะมือที่ไม่มีแผลนั้น แม้จะจับต้องถูกยาพิษ ยาพิษนั้นก็ทำอะไรไม่ได้ เช่นเดียวกับคนที่ไม่ได้คิดร้ายต่อใคร ไม่ได้ทำบาปต่อใคร ต่อให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่แย่แค่ไหนก็มักจะรอดมาได้ เพราะว่าบาปย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ทำบาป
ในยุคสมัยที่คนมักตั้งข้อกล่าวหาผู้อื่นลอย ๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือคนที่เที่ยวอวดอ้างการกระทำของตัวเอง พร้อมสบถสาบานว่าเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม ผู้คนเหล่านี้มักจะสาดยาพิษได้ไม่เว้นวันเพื่อให้ผู้ถูกกระทำนั้นได้รับผลอย่างที่พวกเขาต้องการ หากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีบาดแผลก็ไม่ต้องกลัวอะไร เพราะยาพิษที่สาดเข้าใส่นั้นย่อมทำอะไรไม่ได้
คำสอนดังกล่าวไม่ได้แค่เตือนใจให้เราต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังอะไร ทั้งกาย วาจา ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในใจ เพราะบาปนั้นเริ่มที่ใจ หากเราคิดไม่ดี ก็จะสะท้อนออกมาทางคำพูด แล้วต่อเนื่องไปที่การกระทำ กลายเป็นคนที่มีบาดแผลไปทั่วทั้งตัว เมื่อถูกยาพิษ อันหมายถึงการกระทำที่ไม่ดีจากผู้อื่น ยาพิษดังกล่าวก็สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย แล้วทำให้จิตสามารถปรุงแต่งจากเรื่องไม่เป็นเรื่องให้กลายเป็นเรื่อง อันเป็นความฟุ้งของจิตที่ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เห็นในทุกวันนี้
ชีวิตยุคนี้มีความสะดวกสบายมากกว่าในอดีตนะคะ เพราะมีเทคโนโลยีให้ใช้อย่างมากมาย แต่สำหรับ ใจคนเราแล้ว นี่คือยุคที่ “ยากแท้หยั่งถึง” มากที่สุด ส่วนหนึ่งมาจากเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสาร ที่สามารถทำให้ผู้คน “สนทนากันแบบลับหลัง” ได้มากขึ้น ทำให้การพูดคุยถึงบุคคลที่สามซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหานั้นได้อย่างออกอรรถรส เพิ่มความเกลียดชังได้ง่ายขึ้น ใส่เรื่องที่เกิดจากการปรุงแต่งได้สนุกขึ้น คนเราเวลาทำอะไรแบบนี้ก็เหมือน “ดื่มยาพิษ เพื่อทำร้ายคนอื่น” ให้ยาพิษนั้นกัดกร่อนความเป็นมนุษย์ของตนเอง
ในวันดี ๆ แบบนี้ ลองกลับมานั่งสำรวจใจตัวเองกันดูค่ะ ว่าที่ผ่านมาเราเคยสาดยาพิษใส่ใครไปบ้าง สำรวจตัวเองว่ามือของเราเคยมีบาดแผลมาหรือไม่ สำรวจตัวเองที่เคยพูดว่า คิดดี ทำดี พูดดี แต่แท้จริงแล้ว ได้ทำตามนั้นหรือเปล่า อย่างที่เขียนในข้างต้นว่า บาป เริ่มต้นที่ใจ รักษาใจของเราให้ดีค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วคนที่จะได้ประโยชน์จากใจที่ดีก็คือตัวคุณเอง
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า