เด็กและเยาวชนที่เกิดและโตในยุคที่อินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู ทุกสิ่งอย่างเป็นดิจิทัล ส่งผลให้พวกเขาคลุกคลีและคุ้นเคยกับสมาร์ตโฟนและหน้าจอต่าง ๆ คล้ายเกิดมาคู่กันอยู่แล้ว แต่จุดเริ่มต้นของโทษมหันต์ทั้งปวงนั้นล้วนมาจากผู้ใหญ่ที่มักจะ “เลี้ยงลูกด้วยมือถือ” เป็นประจำ เปิดหน้าจอทิ้งไว้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีอะไรให้โฟกัส นั่งนิ่ง ๆ อยู่กับหน้า ไม่ลุกซนก่อกวนทำความวุ่นวายใด ๆ ประโยชน์ก็คือผู้ใหญ่จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ไม่ต้องมาคอยนั่งเฝ้าเด็กตลอดเวลา
ตรงส่วนนี้ ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่านก็ตระหนักดีว่าการปล่อยเด็กให้อยู่กับหน้าจอมือถือนาน ๆ เด็กอาจจะพยายามเข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม จากนั้นก็จำพฤติกรรมเหล่านั้นมาใช้ในชีวิตจริง เนื่องจากเด็กยังไม่มีวิจารณญาณมากพอ แยกแยะถูกผิดไม่เป็น พ่อแม่จึงพยายามแก้ปัญหาด้วยการเปิดช่องที่สอนหนังสือให้กับเด็ก อาจเป็นการสะกดคำหรือท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ เพื่อหวังให้ครูในจอสอนหนังสือให้กับบุตรหลาน เมื่อเห็นเด็กจำมาพูดก็คิดไปเองว่าเด็กฉลาดที่เริ่มท่องหนังสือได้ แต่แท้จริงแล้ว นั่นกลับเป็นสัญญาณความผิดปกติที่เกิดกับบุตรหลานของคุณต่างหาก
เพราะสิ่งที่เด็กจดจำจากในคลิปวิดีโอมาพูดให้พ่อแม่ฟังนั้น เด็กไม่ได้เข้าใจความหมายของมันจริง ๆ หรอกว่าอะไรเป็นอะไร แค่ได้ยินแล้วก็จำมาพูด โดยพยายามท่องออกมาแบบนกแก้วนกขุนทองมากกว่า หากคุณพยายามถามว่าสิ่งที่พวกเขาพูดออกมาคืออะไร พวกเขาจะตอบคุณไม่ได้ ซ้ำร้ายยังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมือนกับเด็กทั่ว ๆ ไปในวัยเดียวกัน เช่น เฉยชากับสิ่งรอบข้าง วัน ๆ เอาแต่จดจ่อแค่กับหน้าจอเท่านั้น พูดไม่มองหน้า พูดช้า ไม่พูด ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ มักร้องไห้หนักโดยไม่มีเหตุผล บอกความต้องการของตัวเองไม่ได้ ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้ส่อเค้าว่าบุตรหลานของคุณกำลังมีความผิดปกติเสียแล้ว
ปล่อยเด็กไว้กับจอมือถือ ต้องระวัง! “ภาวะออทิสติกเทียม”
ก่อนอื่น ใครที่มีบุตรหลานเป็นเด็กเล็ก ควรลองไปสังเกตพฤติกรรมของพวกเขาดูก่อนว่ามีภาวะ “ออทิสติกเทียม” หรือไม่
- เฉยชากับสิ่งรอบตัว ไม่สนใจผู้อื่น
- ชอบทำอะไรซ้ำ ๆ
- ไม่สื่อสารด้วยการพูด เริ่มพูดช้า หรือพูดไม่เป็นภาษา
- พูดไม่มองหน้าหรือสบตาคนที่พูดด้วย
- ไม่เลียนแบบผู้ใหญ่
- เล่นกับใครไม่เป็น
- ร้องไห้งอแงเมื่อไม่ได้ดูอะไรจากหน้าจอ หรือร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
- ติดที่จะใช้หน้าจอ ไม่สนใจว่าคุณพ่อคุณแม่จะกอดหรือหอม
- บอกความต้องการของตัวเองไม่ได้
- พูดอะไรไปเรื่อย ๆ แบบนกแก้วนกขุนทอง
“ภาวะออทิสติกเทียม” ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะที่เด็กมีอาการคล้ายกับออทิสติก เมื่อเทียบกับพฤติกรรมของเด็กในวัยเดียวกัน เกิดขึ้นจากการที่เด็กขาดการถูกกระตุ้นในการสื่อสารสองทาง จึงทำให้เด็กเกิดความผิดปกติในการสื่อสารกับบุคคลอื่น เด็กไม่มีทักษะทางสังคมอย่างที่ควรจะเป็น พูดง่าย ๆ ก็คือ ปัญหาไม่ได้เกิดจากสมองของเด็กผิดปกติ ไม่ได้เกิดจากตัวโรค แต่เกิดจากการเลี้ยงดู ซึ่งสาเหตุก็เกิดมาจากการให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบอยู่กับหน้าจอ พวกสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต นานเกินวันละ 5 ชั่วโมง หรือก็คือให้หน้าจอเหล่านี้เป็นพี่เลี้ยงเด็กนั่นเอง และผู้ปกครองเองก็ไม่ค่อยจะมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กด้วย ไม่พูดคุย ไม่เล่นกับเด็ก คิดว่าปล่อยไว้กับจอดีแล้ว เด็กจะได้ไม่วุ่นวายกับตนเอง
เมื่อปล่อยเด็กไว้กับหน้าจอ เด็กจะรับสารจากคลิปวิดีโอต่าง ๆ ที่ได้ดูเพียงทางเดียว เกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม เด็กขาดการเรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าไม่สมวัยด้วย เพราะไม่สามารถถูกฝึกให้เรียนรู้ เลียนแบบ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่เด็กจะสนใจเฉพาะกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้า และสิ่งที่สามารถดึงดูดเขาได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ต้องรีบสังเกตบุตรหลานของคุณว่ากำลังมีภาวะออทิสติกเทียมหรือไม่ เพราะพฤติกรรมที่คล้ายกับออทิสติกนี้สามารถรักษาให้หายขาดและหายไวถ้ารู้เร็ว หลังจากที่ทำการรักษาอย่างถูกต้องจากกุมารแพทย์แล้ว เด็กจะอาการจะดีขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน และกลับมาเป็นเด็กปกติได้ โดยระหว่างนั้น ผู้ปกครองต้องเข้มงวดเรื่องการปล่อยลูกทิ้งไว้กับหน้าจออย่างเคร่งครัด ให้ดูได้แต่ต้องอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดวันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง ต้องพูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ ระหว่างที่อยู่กับหน้าจอ และหลังจากนั้นก็พากันไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีประโยชน์
วิธีป้องกันไม่ให้เด็กมีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก
1. พูดคุยกับเด็กบ่อย ๆ เพื่อให้เด็กเรียนรู้การออกเสียงและเลียนแบบพฤติกรรมจากผู้เลี้ยงดูไม่ใช่หน้าจอ ให้เด็กได้มีการสื่อสารสองทาง (โต้ตอบกลับ) อย่างน้อยควรคุยและเล่นกับเด็กวันละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง
2. ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี เล่นสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตโดยไม่มีผู้ใหญ่ควบคุมเด็ดขาด
3. เด็กที่อายุมากว่า 2 ปี ต้องมีการจำกัดเวลาดูทีวี หรือเล่นโทรศัพท์ ไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน
4. ผู้ใหญ่ต้องหากิจกรรมเสริมสร้างทักษะ และส่งเสริมพัฒนาการสมองและร่างกาย
5. หมั่นพาเด็กไปเข้าสังคม ให้ได้พบปะกันคนอื่น ๆ บ้าง
พ่อแม่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย เด็กรู้สึกโดดเดี่ยว อาจแย่ถึงขั้นนำไปสู่ “ภาวะซึมเศร้า”
เด็กยุคใหม่มีโอกาสที่จะมีภาวะออทิสติกเทียมกันมากขึ้น สาเหตุก็เกิดจากพ่อแม่นั่นเอง ที่เลี้ยงลูกโดยปล่อยเด็กไว้กับหน้าจอ เพื่อให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ ควบคุมง่าย ดูแลง่าย ทว่าที่แย่ไปกว่านั้นคือ พ่อแม่เองก็เป็นคนที่คุ้นชินกับสังคมก้มหน้าเช่นกัน ซึ่งการปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอนาน ๆ ไม่ใช่แค่ทำให้พัฒนาการของเด็กช้าลงเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงด้านจิตใจและอารมณ์ด้วย เพราะธรรมชาติของเด็ก ๆ ควรต้องเติบโตบนพื้นฐานความรักและการดูแลเอาใจใส่ เด็กที่ถูกทิ้งไว้อยู่แต่กับหน้าจอ พ่อแม่ไม่ค่อยจะมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ก็เท่ากับว่าละเลยการดูแลพวกเขา เด็กเองก็รู้สึกอยู่ลึก ๆ ว่าตนเองกำลังถูกทอดทิ้ง มันอาจนำไปสู่ “ภาวะซึมเศร้า” ได้
เมื่อเด็กกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมา ก็จะกลายเป็นเด็กที่แปลกแยก เข้ากับสังคมได้ยาก และก็รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่าไม่เป็นที่รักของใคร และผลที่ตามมาก็คือจะรักคนอื่นไม่เป็นด้วย สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาทางจิตใจและโรคทางอารมณ์ทั้งหลาย อาจจะกลายเป็นเด็กที่ดูก้าวร้าว ควบคุมตนเองได้น้อย มีพฤติกรรมติดอยู่กับสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ได้ง่าย เพราะไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนและดูแลตั้งแต่ช่วงอายุน้อย ๆ
เด็กเล็ก ๆ เป็นวัยที่มีพัฒนาการการเติบโตสูง พวกเขาควรใช้ชีวิตด้วยการออกไปวิ่งเล่น เข้าสังคมกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน ซึ่งการที่เด็กติดโซเชียลมีเดีย นั่งเล่นนั่งดูทั้งวันก็ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย อาจทำให้เด็กป่วยบ่อย ร่างกายไม่แข็งแรง นอนหลับยาก สมาธิสั้น ผลต่อพัฒนาการทางจิตใจ เด็กสับสนกับสังคมโลกเสมือนจนแยกไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ลุ่มหลงในโลกจอมปลอม ผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ อารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด รอคอยไม่เป็น ผลต่อพัฒนาการทางสังคม เข้ากับใครไม่ได้ แอนตี้สังคม ขาดมนุษยสัมพันธ์ และผลกระทบต่อการเรียน