มนุษย์เราทุกคนล้วนมีความแตกต่าง คนแต่ละคนมีบุคลิกภาพ ไลฟ์สไตล์ วิธีคิดที่แตกต่างกันไป สังคมนี้จึงมีคนอยู่มากมายหลายประเภท เมื่อเราต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมทั่วไป หรือแม้แต่ในโลกของการทำงาน เราจำเป็นที่ต้องเจอและผูกความสัมพันธ์บางอย่างกับคนที่ไม่เหมือนกับเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเมื่อคนร้อยพ่อพันแม่ต้องมาอยู่ด้วยกันและมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ความแตกต่าง ความไม่เข้ากัน อาจทำให้เกิดความรู้สึกต่าง ๆ ขึ้นมา อาจจะชอบ นับถือ ไม่ถูกชะตา เหม็นขี้หน้า หรือเกลียดและเป็นศัตรูกันไปเลยก็ได้
อย่างไรก็ดี ในสังคมการทำงาน หลาย ๆ คนน่าจะเคยได้ทำ “แบบทดสอบทางบุคลิกภาพ” กันมาบ้าง ก่อนที่จะได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กรที่กำลังทำงานอยู่ในเวลานี้ ประโยชน์ของแบบทดสอบนี้ไม่ได้ใช้วัด IQ (ความฉลาดในการเรียนรู้) หรือ EQ (ความฉลาดในการจัดการอารมณ์) แต่ใช้จัดกลุ่มประเภทของคนตามบุคลิกภาพแบบต่าง ๆ เพื่อดูว่าใครมีลักษณะหรือมีบุคลิกภาพแบบไหน แบบทดสอบทางบุคลิกภาพส่วนใหญ่ที่เคยทำกัน คือ แบบประเมิน MBTI
จัดกลุ่มบุคลิกด้วยแบบประเมิน MBTI
การใช้แบบประเมิน MBTI (Myers-Briggs Type Indicator) เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในการใช้ชี้วัดลักษณะนิสัยของคน เพื่อจัดกลุ่มว่ามีลักษณะนิสัยไปในทิศทางไหน แม้เราจะเรียกติดปากว่า “แบบทดสอบ MBTI” แต่จริง ๆ แล้ว เครื่องมือนี้ไม่ใช่แบบทดสอบ (Test) เป็นเพียงตัวชี้วัด (Indicator) เท่านั้น ซึ่งชื่อเต็มภาษาอังกฤษของเครื่องมือนี้ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นตัวชี้วัด (Indicator)
ดังนั้น แบบประเมินบุคลิกภาพนี้จึงเป็นเพียงสิ่งที่ใช้วัดหาแนวโน้มเท่านั้นว่าใครเป็นใคร เป็นอย่างไร ไม่ได้ตัดสินความผิด-ถูก เพราะความแตกต่างหลากหลายของคนเราไม่ได้มีถูก-ผิด เป็นเพียงสิ่งที่ใช้วัดทัศนคติ มุมมอง และการปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกต่างหาก
สำหรับ MBTI เป็นจุดแข็ง-จุดอ่อนของบุคลิกภาพ 16 แบบ จะประกอบด้วย 4 กลุ่ม 8 ตัวอักษร ดังนี้
- เข้าสังคม (E) หรือเก็บตัว (I)
- อยู่กับความเป็นจริง (S) หรือมีวิสัยทัศน์ (N)
- ใช้ความคิด (T) หรือใช้ความรู้สึก (F)
- ระเบียบแบบแผน (J) หรือยืดหยุ่น (P)
เมื่อนำมาจัดกลุ่ม จะได้เป็นบุคลิกภาพ 16 แบบ ดังนี้
- กลุ่มนักวิเคราะห์ ประกอบด้วย นักออกแบบ (INTJ) นักตรรกะ (INTP) ผู้บัญชาการ (ENTJ) นักโต้วาที (ENTP)
- กลุ่มนักการทูต ประกอบด้วย ผู้แนะนำ (INFJ) ผู้ไกล่เกลี่ย (INFP) ตัวเอก (ENFJ) นักรณรงค์ (ENFP)
- กลุ่มผู้เฝ้ายาม ประกอบด้วย นักคำนวณ (ISTJ) ผู้ตั้งรับ (ISFJ) ผู้บริหาร (ESTJ) ผู้ให้คำปรึกษา (ESFJ)
- กลุ่มนักสำรวจ ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ (ISTP) นักผจญภัย (ISFP) ผู้ประกอบการ (ESTP) ผู้มอบความบันเทิง (ESFP)
ช่วยให้เข้าใจความเป็นเขาได้มากขึ้น
การทำแบบประเมิน MBTI จุดประสงค์เพื่อจัดกลุ่มบุคลิกภาพของคนว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน เพื่อให้เรารู้จัก “ทำความเข้าใจบุคลิกภาพของคนที่ต้องร่วมงานกัน” ในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า เจ้านาย หรือแม้กระทั่งพาร์ทเนอร์ ว่าพวกเขานั้นมีลักษณะนิสัยอย่างไร จะได้เข้าใจพวกเขามากขึ้นเมื่อต้องทำงานด้วยกัน ซึ่งการเข้าใจคนอื่น คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา เปิดรับความต่าง ไม่ตัดสินถูก-ผิด และรู้จักที่จะมองในมุมของคนอื่น
ช่วยให้รู้ว่าเขาเป็นคนประเภทไหนในทีม
ในเมื่อเรารู้ “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” ของคนที่เราต้องทำงานด้วย ก็จัดได้ว่าเขาเป็นคนประเภทไหน ถนัดที่จะทำงานอะไรมากกว่า จุดนี้มีประโยชน์ต่อการมอบหมายงานที่พวกเขาถนัดและสามารถทำได้ดี การเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน หรือเลือกคนที่ใช่ที่สุดที่จะรับผิดชอบในแต่ละหน้าที่ หัวใจสำคัญคือการทำงานอย่างมีศักยภาพและได้ประสิทธิผลสูงสุด ลดข้อผิดพลาด ลดระยะเวลาในการทำงาน และเพื่อให้บุคคลได้ใช้ความสามารถตัวเองอย่างเต็มที่
ช่วยให้รู้ว่าจะปรับตัวเข้าหาเขาอย่างไร
เมื่อเราเข้าใจคนอื่น รู้ว่าคนเราแตกต่างกัน รวมถึงรู้เขารู้เราว่าเป็นคนอย่างไร ก็จะมีประโยชน์ต่อการปรับตัว เพราะในการทำงานร่วมกัน ความสำคัญอยู่ที่การยอมรับตัวตนของกันและกันและการปรับตัวเข้าหากัน เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เข้ากันได้ดี มีความรู้สึกว่าเป็นทีมเดียวกัน ก็เพื่อร่วมมือกันทำงาน รวมถึงจะสร้างปฏิสัมพันธ์กับเขาอย่างไร การรู้บุคลิกภาพของอีกฝ่ายจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการปฏิสัมพันธ์ และผลต่อการทำงาน
ช่วยให้รู้ว่าเราเข้ากันได้ดีแค่ไหน
แม้ว่าการใช้ MBTI จะยังไม่มีผลสรุปที่แน่ชัดว่าคนประเภทไหนที่ทำงานในทีมเดียวกันแล้วจะดีที่สุด เพราะมันยังมีปัจจัยด้านอื่น ๆ อีกที่เกี่ยวข้อง ทั้งความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพราะไม่ว่าจะเป็นคนประเภทไหน หากมีความสามารถมากพอ ก็สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล ดังนั้น จึงสามารถใช้ประเมินในเบื้องต้นถึงลักษณะนิสัยและความเข้ากันได้ของทีมว่าจะเป็นทีมที่แข็งแกร่งแค่ไหน