ทุกวันนี้ เราเคยเจอคนประเภทที่ “โตแต่ตัว” กันบ้างหรือไม่? ประเภทที่เป็นผู้ใหญ่เสียเปล่าแต่กลับทำตัว “ไร้วุฒิภาวะ” ไม่มีความน่าเคารพนับถือ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำอะไรตามใจตนเองไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อนหรือไม่ พูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ “สูงวัย” แต่ “ไม่น่านับถือ” ทำให้สังคมมักจะเรียกคนประเภทนี้แรง ๆ ว่า “แก่กะโหลกกะลา” หรือ “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน” เลยก็มี หรือจริง ๆ แล้วก็คือ “มนุษย์ป้า มนุษย์ลุง” ในสังคม ที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย ไม่ได้จำกัดเฉพาะคนที่มีอายุมากแล้วเท่านั้นเสมอไป
ปรากฏการณ์นี้ทำให้เห็นว่าวุฒิภาวะของคนนั้นใช่ว่าจะสัมพันธ์กับอายุเสมอไป เพราะคนที่เป็นผู้ใหญ่แต่ทำตัวไม่มีวุฒิภาวะก็มีให้เห็นอยู่ถมเถ ส่วนเด็กที่วางตัวดี มีความคิดความอ่าน และควบคุมตัวเองได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ก็มีให้เห็นอยู่มากเช่นกัน ซึ่งวุฒิภาวะ หรือก็คือความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตนเองนั้น จะทำให้บุคคลมีคุณภาพในการอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคม มีความเป็นผู้ใหญ่ในทางบุคลิกภาพ อารมณ์ และพฤติกรรม
ส่วนใหญ่ ผู้ใหญ่ที่ไม่มีวุฒิภาวะก็ไม่มีวุฒิภาวะมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง แต่โตมาก็ยังคิดไม่ได้ ดังนั้น คนเป็นพ่อเป็นแม่จึงควรปลูกฝังวุฒิภาวะให้บุตรหลานตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็ก ไม่ต้องถึงขั้นว่าต้องเป็นเด็กที่น่าชื่นชมนับถืออะไรแบบนั้น เพียงแต่ให้พวกเขารู้จักการวางตัวให้เหมาะสมกับวัย หากทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป พวกเขาจะมีความคิดที่เติบโตเองได้เรื่อย ๆ จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพ
การควบคุมอารมณ์
เด็กเริ่มมีพัฒนาการทางด้านอารมณ์ตั้งแต่อายุเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น แม้ว่าจะยังพูดสื่อสารไม่ได้ แต่เด็กจะแสดงออกด้วยพฤติกรรมอื่น ๆ อย่างการร้องไห้ ดิ้น ทำตัวอ่อน ฝืนตัว ทุบตีคนใกล้ตัว แน่นอนว่าในเด็กเล็กอาจจะพูดไม่รู้ฟัง แต่พ่อแม่ควรติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด เมื่อเด็กโตพอจนเริ่มสื่อสารได้รู้เรื่อง พ่อแม่ก็ค่อย ๆ ปลูกฝัง อบรมสั่งสอนกันไป เริ่มจากการเป็นแบบอย่างที่ดีในการให้เกียรติผู้อื่น การแสดงออกเมื่อไม่พอใจ วิธีระบายอารมณ์ในเชิงบวก อดทนอย่างไรแบบที่ไม่ปรี๊ดแตกโวยวาย การรู้จักปล่อยวางเรื่องที่ควรจะช่างมัน มีความยืดหยุ่น รวมถึงการมอบความรักความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ การชื่นชม การตักเตือนชี้แนะ สิ่งเหล่านี้จะเป็นเบ้าหล่อหลอมที่ดีให้กับเด็ก
แสดงออกกับผู้อื่นอย่างมีมารยาท
จริง ๆ แล้วทุกวันนี้เราไม่ได้ถามหามารยาทจากเด็กหรือวัยรุ่นเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่บางคนก็ยังค้นหามารยาทไม่เจอ คนไม่มีมารยาทคือคนที่ไม่ให้เกียรติคนอื่น ไม่เคารพในความแตกต่าง ไม่เคารพกฎ ระเบียบต่าง ๆ ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ชอบแสดงพฤติกรรมในแบบที่ไม่แคร์ว่าใครจะเดือดร้อน ไม่รักษาบรรยากาศในการอยู่ร่วมกัน บางรายต่อต้านสังคม ไร้ตรรกะ หลงผิดว่าตนเองสำคัญเกินกว่าจะลดตัวไปทำดีกับใคร ตรงนี้พ่อแม่อาจไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องความเกรงใจผู้อื่น พ่อแม่เข้มงวดเกินไป หรืออาจเป็นอาการผิดปกติทางพัฒนาการ ความบกพร่องในการเข้าสังคม พ่อแม่ต้องหมั่นสังเกตบุตรหลานตนเองว่ามีพฤติกรรมแบบสอนแล้วแต่ไม่ฟังหรือไม่ เพราะเรื่องมารยาทเป็นเรื่องที่ปลูกฝังสั่งสอนได้
การตัดสินใจและยอมรับผลที่จะตามมา
พ่อแม่หลาย ๆ คนเลี้ยงลูกแบบที่ให้เคารพในความคิดเห็นของลูก ปล่อยให้เด็กมีอิสระที่จะคิดหรือทำอะไรได้เองแต่อยู่ในสายตาพ่อแม่ ลูกสามารถตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ยังเด็ก ๆ แต่เรื่องไหนที่เป็นเรื่องใหญ่หรือเรื่องสำคัญก็อาจจะต้องปรึกษาพ่อแม่ก่อน ทว่าในท้ายที่สุดก็ให้สิทธิ์ลูกตัดสินใจเองเต็มที่ นอกเหนือจากการตัดสินใจ พ่อแม่ต้องสอนให้เด็ก ๆ รู้จักยอมรับในผลลัพธ์ที่จะตามมากับการตัดสินใจเลือกหรือไม่เลือกอะไรด้วย เด็กที่ถูกปลูกฝังมาแบบนี้จะมีความคิดความอ่าน ใช้เหตุผลเป็นหลัก และมีความรับผิดชอบสูง เพราะพวกเขาคิดไว้แล้วว่าถ้าเลือกหรือไม่เลือกอะไร มันจะมีอะไรตามมาอย่างไรบ้าง พวกเขาจะเตรียมใจยอมรับหากผลไม่เป็นอย่างที่คาด พร้อมวิธีแก้ปัญหา
รู้เท่าทันตัวเอง
การรู้เท่าทันตัวเอง คือการที่มีสตินึกรู้อยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองกำลังทำอะไร ทำแบบนี้แล้วผลจะเป็นอย่างไร คนที่มีวุฒิภาวะจึงจะไม่ทำอะไรแบบขาดสติ นอกจากนี้พวกเขายังค่อนข้างที่จะรู้จักตนเองดีด้วย รู้ว่าตนเองมีข้อดี ข้อด้อยอะไร กล้าที่จะเผชิญและยอมรับตัวตนของตนเอง เรื่องแบบนี้พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ สอนให้พวกเขาเคารพตนเองให้มาก ไม่หวั่นไหวต่อคำวิจารณ์ ไม่ตื่นเต้นกับคำชมเชย และไม่หุนหันพกับคำติเตียน ต้องรู้ว่าคำวิจารณ์ที่ดีนั้นมีประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเอง จริง ๆ แล้วการรู้เท่าทันตัวเองเหมือนเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิต มีอิสระแต่ควบคุมได้ การเข้าใจในตนเอง จะเป็นรากฐานของการเข้าใจปัญหาทุกปัญหาและแก้ไขมันได้
มีไมตรีจิตต่อคนอื่น
แม้ว่าคนที่มีวุฒิภาวะจะเคารพตนเองมาก แต่ไม่ได้แปลว่าพวกเขาไม่สนใจหรือเอาเปรียบคนอื่น เพราะพวกเขามีวิธีที่จะแสดงออกต่อผู้อื่นอย่างมีมารยาท ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ให้เกียรติคนอื่น เคารพในความแตกต่าง ทำอะไรก็นึกถึงคนอื่นด้วยเสมอว่าจะมีใครเดือดร้อนกับกับสิ่งที่ตนเองทำหรือไม่ เรื่องนี้พ่อแม่ก็ต้องสอนเด็ก ๆ ตั้งแต่ยังเล็กเช่นกัน พาไปทำกิจกรรมเพื่อสังคม สอนให้มองคนให้เท่ากัน ทำอะไรต้องเห็นหัวคนอื่นและไม่เอาเปรียบกัน ไม่ข่ม เหยียบย่ำใคร รู้จักหยิบยื่นน้ำใจและมิตรภาพให้คนอื่น ทำอะไรให้คนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ช่วยเหลือเท่าที่ช่วยได้ การมีน้ำจิตน้ำใจกับผู้อื่นแม้เพียงน้อยนิด จะทำให้พวกเขาเป็นที่รักของคนอื่นได้ไม่ยาก