ปัญหาหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในการทำงานร่วมกันระหว่างเพื่อนร่วมงานในออฟฟิศ คือการที่ต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าเข้าไม่ถึงตัวตนของกันและกัน อยู่ในสภาพแวดล้อมที่กดดัน ทั้งที่ทั้งคู่ไม่ได้มีปัญหาส่วนตัวอะไรอื่น แต่รู้สึกได้ว่ามีกำแพงที่มองไม่เห็นเป็นอุปสรรคในการทำงานร่วมกัน มักเกิดขึ้นกับพนักงานที่เพิ่งเข้ามาใหม่กับพนักงานเก่า พนักงานที่อายุน้อยกว่ากับพนักงานที่อาวุโสกว่า พนักงานที่ทำงานอยู่คนละแผนก แม้กระทั่งพนักงานที่มีตำแหน่งต่าง ๆ กันไป
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความไม่คุ้นเคย ไม่สนิทใจกัน แม้ว่าจะต้องทำงานร่วมกันแต่ก็ยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจ นี่ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ โดยเฉพาะกับองค์กรใหญ่ ซึ่งส่วนใหญฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงมักจะแก้ปัญหาด้วยการจัดให้มีกิจกรรมที่พนักงานต้องมาทำร่วมกัน ที่เราอาจคุ้นหูกันว่า Ice breaking ทว่าหลาย ๆ คนก็ไม่ชอบที่ต้องเข้าร่วมกิจกรรมพวกนี้ โดยมองว่าเสียเวลาบ้าง ไร้สาระบ้าง หรือรู้สึกไม่ได้อยากที่จะสานสัมพันธ์อะไรจริงจังกับเพื่อนร่วมงาน แต่แท้จริงแล้วกิจกรรมนี้มีประโยชน์มากกว่าที่คิด และสำคัญมากกับหน่วยงานหรือองค์กร มันมีเหตุผลที่ต้องจัดกิจกรรมนี้ขึ้น
Ice breaking คือ การละลายพฤติกรรม เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำความรู้จักกับคนอื่น ๆ ที่รู้สึกว่าเป็นคนแปลกหน้า ให้กล้าที่จะแสดงตัวตนของตัวเองออกมากขึ้น เพิ่มความผ่อนคลาย เพิ่มความสบายใจ ลดอคติที่เกิดจากการไม่รู้จักกันลง ลดการยึดติดในภาพลักษณ์ภายนอกที่อาจสร้างความไม่ประทับใจต่อกัน ลดการแบ่งแยกและปิดกั้น จนสามารถเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้
ถึงอย่างนั้น พนักงานส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยชอบที่ต้องมาทำอะไรแบบนี้ และมักหาโอกาสที่จะหลีกเลี่ยเท่าที่เลี่ยงได้ แต่การอยู่ในสังคมที่ไม่ได้มีแค่ตัวเราคนเดียว บ่อยครั้งก็จำเป็นที่ต้องฝืนใจทำในสิ่งที่ไม่ชอบ โดยเฉพาะกิจกรรม Ice breaking ที่มักจะเป็นกิจกรรมที่หน่วยงานหรือองค์กรบังคับให้ทำ เพราะการเข้ากันได้ดีของบุคลากรจะส่งผลต่อการทำงานให้กับหน่วยงานหรือองค์กร และการบรรลุเป้าหมายสูงสุดไปด้วยกัน ฉะนั้น เมื่อเข้าไปเป็นสมาชิกในสังคมนี้แล้ว ก็จำเป็นที่ต้องทำ ไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็ตาม
ทลายกำแพงของ “คนแปลกหน้า”
ปกติเราจะมีกำแพงในการป้องกันตัวเองอยู่แล้ว เป็นการกีดกันตัวเองออกจากคนอื่น ๆ โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้า เมื่อต้องมาทำงานด้วยกัน ความที่ยังไม่ได้สนิทชิดเชื้อหรือยังไม่ได้รู้จักกันดี กำแพงที่มองไม่เห็นจะเป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารงานและการทำงานร่วมกัน เหมือนมีอคติบางอย่างที่ทำให้เราเข้าไม่ถึงฝ่ายตรงข้าม กิจกรรม Ice breaking จะค่อย ๆ ให้เราได้ทำความรู้จักอีกฝ่าย ตั้งแต่พูดคุยกันปกติ ไปจนถึงการเล่นเกมที่อาจต้องระดมสมองหรือแสดงความกล้าออกมาเพื่อให้ชนะเกม เมื่อต้องทำอะไรร่วมกันหลาย ๆ เกมหรือได้พูดคุยกันไปสักพักจนเริ่มรู้จักกัน อีกฝ่ายก็จะไม่ใช่คนแปลกหน้าอีกต่อไป
ยอมรับและเข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น
กิจกรรมที่ต้องทำร่วมกัน แน่นอนว่าบทบาทหน้าที่ในกลุ่มของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามความถนัดหรือความสามารถที่ทำได้ เราจะรู้ตัวเองว่าเราไม่ถนัดที่จะทำงานประเภทไหน และต้องให้อีกคนที่เขาถนัดเข้ามาเติมเต็มส่วนนี้ ส่วนเราก็เข้าไปเติมเต็มส่วนที่เขาทำไม่ได้ เพื่อที่งานจะได้เดินหน้า เราจะได้รู้ว่าคนอื่น ๆ เก่งหรือถนัดอะไร เพื่อขอความช่วยเหลือเขาในวาระต่อ ๆ ไป การทำงานจริงก็แบบนี้ ในเมื่อเราไม่อาจเป็นคนที่เก่งทุกอย่าง ทำได้ทุกอย่าง การให้คนที่เขาถนัดเข้ามาทำ ช่วยให้งานออกมาได้มีประสิทธิภาพมากกว่าและไม่เสียเวลา นอกจากนี้การที่ได้ทำความรู้จักตัวตนอีกฝ่ายมากขึ้น เราก็จะได้เริ่มมองอะไรที่เป็นมุมของเขาให้เข้าใจยิ่งขึ้น
การได้ออกจาก comfort zone
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนมักจะติดอยู่ใน comfort zone เพราะมันทำให้เรารู้สึกดี อบอุ่น ปลอดภัย และสบายใจ แต่การอยู่ใน comfort zone ไปนาน ๆ อาจทำให้เราติดการใช้ชีวิตไปเรื่อย ๆ เรียบง่าย เฉื่อยแฉะ ไม่มีไฟ ไม่มีแรงผลักดันอะไรที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้า เป็นคนโลกแคบที่เห็นเฉพาะโลกที่ตัวเองมอง ที่สำคัญ คือไม่ได้พัฒนาตัวเองเลย ตรงนี้คืออุปสรรคของคนทำงาน เพราะส่วนใหญ่แล้วหน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ต้องการคนทำงานที่พัฒนาได้ ไม่ใช่ย่ำอยู่กับที่ แค่กิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการ Ice breaking เราก็ได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ หลายอย่างแล้ว อย่างน้อยก็การได้ทำความรู้จักผู้อื่นบ้าง จะช่วยให้เราได้เห็นโลกแบบที่คนอื่นมอง ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ
ปรับปรุงการทำงานเป็นทีม
ทั้งหมดทั้งมวลของการทำกิจกรรม Ice breaking ก็เพื่อให้เราได้ทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ มากขึ้น ได้เปิดใจให้กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน เพื่อที่จะได้รู้สึกสบายใจต่อกัน เปิดเผยตัวตนของตัวเองได้มากขึ้น รู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจกันและกันมากกว่าที่เคย เพราะเรากำลังจะต้องทำงานร่วมกันกับพวกเขา กิจกรรม Ice breaking จะค่อย ๆ ช่วยสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งขึ้นมา แน่นอนว่ามันไม่สามารถสร้างความสนิทสนมหรือเชื่อใจกันได้ในชั่วข้ามคืน แต่มันจะค่อย ๆ ทลายกำแพงน้ำแข็งที่แต่ละคนมีลงไปทีละน้อย วางรากฐานการมีส่วนร่วมของทุกคนในหน่วยงานหรือองค์กร สานสัมพันธ์ไปทีละนิด เกิดเป็นความผูกพันและความรู้สึกปลอดภัยทางใจที่จะทำงานร่วมกัน
เพราะการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นสิ่งที่หน่วยงานหรือองค์กรต่างคาดหวังจากบุคลากรทุกคน เป็นความพร้อมที่จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไปด้วยกัน การทำงานร่วมกันเป็นทีมจึงจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล เพราะบุคลากรต่างรู้สึกผ่อนคลายเมื่อต้องทำงานร่วมกัน เกิดความสบายใจที่จะเรียนรู้ร่วมกัน ลดช่องว่าง ไม่เกิดความกดดัน และอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดความตึงเครียด มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อการสื่อสารภายในหน่วยงานหรือองค์กรให้ดำเนินไปได้ด้วยดี