มีความสุขกับ “การขับเหงื่อ”

สวัสดีวันจันทร์สุดท้ายของเดือนตุลาคมค่ะ สัปดาห์นี้ขอเขียนเรื่องเบา ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแวดวงสื่อนะคะ เป็นเรื่องราวของผู้คนที่ได้พบเจอมา และรู้สึกว่าน่าจะพอสร้างแรงบันดาลใจหรือทำให้คุณผู้อ่านได้ไอเดียในการสร้างความสุขให้กับตนเองได้บ้างค่ะ

เรื่องนี้เริ่มขึ้นที่ ร้านเกตุวดี แกนดินี่ และจบลงที่ แร็กเก็ต คลับ สุขุมวิท 49…ที่เกตุวดีผู้เขียนเป็นลูกค้าประจำประเภท 6 เดือนตัดกันสักครั้งกับอาจารย์ราตรี จนอาจารย์เองก็แซวว่า “ปีหนึ่งเจอกันสองครั้งนะคะคุณ” แต่ในช่วงโควิดที่ผ่านมากลายเป็นว่าปี 2021 เพิ่งได้เจอกับ อาจารย์ราตรี เมื่อสองสัปดาห์ก่อน

เป็นการเจอกันที่อาจารย์ยังคงจำกันได้ และถามว่ารอบนี้เอาสั้นแค่ไหน หรืออยากได้ทรงใหม่ไหม อาจารย์ยังบอกต่อว่า “อยากทำทรงไหนบอกเลยค่ะคุณ ชีวิตเราผ่านอะไรกันมามากแล้ว ตอนนี้หาความสุขให้กับชีวิตกันดีกว่า” แล้วอาจารย์ก็หัวเราะอย่าง อารมณ์ดี หากแต่คำพูดอาจารย์ยังคงติดอยู่ในใจ

คำว่าความสุขของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ความสุขทางกายก็เรื่องหนึ่ง ความสุขทางใจก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ในยุคนี้ที่มีสังคมทั้งโลกเสมือนจริง และโลกจริงที่ใหญ่พอกัน ดูเหมือนว่าความสุขจะหาได้ยากเต็มที เปิดเข้าโซเชียลมีเดีย ก็อุดมไปด้วยดราม่า พอหันกลับมาในโลกจริง สถานการณ์จะหนักหนากว่า และดูเหมือนว่าความสุขของคนในยุคนี้ต้องขับเคลื่อนด้วยเงินเท่านั้น ถึงจะเจอกับสิ่งที่ทำให้รู้สึกสุขได้…แล้วมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือ

เอาเข้าจริงวิธีหาความสุขอย่างที่อาจารย์ราตรีบอกก็ไม่ได้มีอะไรยากนะคะ แค่กลับไปหาในสิ่งที่เราอยากทำและไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ซึ่งก็ทำให้ผู้เขียนคิดถึงการเล่นเทนนิสของตนเองในอดีต เป็นกีฬาที่ชอบมากที่สุด ชอบถึงขนาดที่ช่วงเวลาหนึ่งเคยได้ใช้ความรู้จากการเล่นเทนนิส เอามาใช้ในการทำงานได้

พอคิดได้แบบนั้น เรื่องราวก็เดินทางมาที่ “แร็กเก็ตคลับ” ไม้เทนนิสที่ไม่ได้จับมาเกือบจะสามสิบปี ถูกนำไปบูรณะใหม่ทั้งกริ๊บและเอ็น ก่อนจะเอากลับมาลงคอร์ตอีกครั้ง เป็นการลงสนามที่ให้ความรู้สึกแตกต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วชนิดที่ตัวเองก็รู้สึกได้ ในช่วงเวลาที่เป็นวัยรุ่นยังมีแรง มีกำลัง และมีความมุ่งมั่น แต่การลงสนามเทนนิสไม่ได้ทำให้รู้สึกสนุกเท่ากับเวลาในปัจจุบัน

เวลาในปัจจุบัน ที่กำลังไม่เท่าเดิม ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออาจเหลือแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่พอได้ลงสนามกลับรู้สึกสนุกมาก เล่นแบบไม่ต้องมีฟอร์มอะไร เหนื่อยก็นั่งพัก เป็นช่วงเวลาที่ไม่ต้องสนใจว่าโลกเสมือนจริง หรือโลกจริงกำลังมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะในทุกครั้งที่ต้องตีลูกนั้นเสียงภายในใจเราต้องย้ำเตือนกับร่างกายอยู่ตลอดเวลา

มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า “เวลาที่คิดอะไรไม่ออก และดูเหมือนจะหมดหนทาง ให้เราออกแรงเอาเหงื่อออก แม้จะไม่การันตีว่าจะหาทางออกเจอ แต่ก็ทำให้เราผ่อนคลายมากกว่าเดิม”

เป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงค่ะ เวลาที่เราเล่นเทนนิส หรือกีฬาอะไรก็แล้วแต่ จังหวะสำคัญมาก ถ้าคุณเข้าตีเร็วเกินไปคุณก็ต้องใช้แรงเหวี่ยงมากกว่าเดิม ถ้าคุณเข้าตีช้าเกินไปลูกเทนนิสจะไม่โดนสปอตตรงหน้าไม้

บอกเลยว่าผู้เขียนนั้นเหงื่อโทรมกาย และเหงื่อที่ขับออกมาไม่ได้ขับแค่ความเครียด แต่ได้ขับเอาความใจร้อนไม่รู้จักรอ และอัตตาของผู้เขียนออกมาด้วย การกลับมาลงสนามในเวลา 60 นาทีกับกีฬาที่ตนเองชื่นชอบและถนัดมากที่สุดในวัยเยาว์นั้นไม่ใช่การเล่นกีฬาอย่างเดียว แต่เป็นการขัดเกลาใจของตนเอง พอเล่นเสร็จก็ตัวเบาใจเบา และให้ความรู้สึกว่า ความสุขไม่ใช่เรื่องที่หายาก หรือต้องมีราคาแพง ลองหาความสุขในมุมของคุณผู้อ่านกันดูนะคะ เลือกกิจกรรมที่ทำให้คุณยิ้มได้เต็มยิ้มในอดีต แล้วลองออกแรงกับมันดูบางทีความสุขของคุณอาจอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิดก็ได้ค่ะ

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า