Critical Thinking กับอนาคตของเด็กไทยในโลกของการทำงาน

ในช่วงที่ผ่านมา หลาย ๆ คนคงน่าจะเคยได้ยินคำพูดในทำนองที่ว่า “เด็กไทยน่าเป็นห่วง” หรือ “การศึกษาไทยน่าเป็นห่วง” กันมาบ้าง ฟังดูเผิน ๆ แล้ว ผู้ใหญ่บางคนอาจดูว่ามันไม่ใช่ปัญหาที่น่ากังวลอะไร แต่ถ้าคุณกำลังคิดเช่นนั้น คุณกำลังเข้าใจผิด! เพราะนี่คือปัญหาระดับชาติ! ที่สำคัญ มันมีผลต่ออนาคตของประเทศชาติมากด้วย เพราะต้องไม่ลืมว่าเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า และเด็กเป็นอนาคตของชาติ หากพวกเขายังคิดวิเคราะห์ไม่เป็น หรือใช้วิจารณญาณประกอบการตัดสินใจไม่ได้ ปัญหาย่อมตามมาแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพวกเขาต้องเข้าไปอยู่ในโลกของการทำงาน

เด็กไทยยังขาด Critical Thinking

จากข้อมูลของการประชุม World Economic Forum (WEF) 2012-2013 พบว่าการจัดอันดับการศึกษาของไทยรั้งท้ายอาเซียน ผลการจัดอันดับที่ว่ายังชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเด็กไทยส่วนมากยังคิดไม่เป็น และขาดทักษะสำคัญในการดำรงชีวิต คือ ขาดการคิดวิเคราะห์

ในขณะที่อีกหลายปีต่อมา World Economic Forum (WEF) 2019 ก็มีการจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก จากเด็กและเยาวชนของ 141 ประเทศ ผลการจัดอันดับ พบว่าความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยนั้นลดลง จากอันดับที่ 38 ลงไปสู่อันดับที่ 40 โดยปัจจัยหนึ่งที่ฉุดอันดับของประเทศไทยตกลงมา มาจากคะแนนด้านการเรียนการสอนของไทยที่มีการฝึก Critical Thinking พบว่าต่ำที่สุด ได้คะแนนเพียง 37 คะแนนเท่านั้น จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน

จริงอยู่ที่ว่าคะแนนต่าง ๆ ที่เด็กไทยจำเป็นต้องเข้าสอบเพื่อวัดระดับนั้น ไม่สามารถวัดความสามารถที่แท้จริงของเด็กไทยได้ แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยเป็นอย่างไร ถึงทำให้ผลคะแนนและระดับของเด็กไทยต่ำขนาดนี้ และอีกคำถามที่ดูเหมือนจะยาวไกล แต่จริง ๆ แล้วไม่เลย คือ เด็กไทยจะมีทักษะและความพร้อมในการก้าวเข้าสู่วัยทำงานในอนาคตได้ดีเพียงใด

ที่สำคัญจาก การศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยเป็นข้อมูลที่เผยความสามารถในการรับมือกับเฟกนิวส์และข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จ ของเด็กอายุ 15 ปี จาก 77 ประเทศทั่วโลก พบว่าเด็กไทยมีศักยภาพในการกรองข่าวปลอมต่ำมาก รั้งท้ายอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 77 ประเทศ

หรือเอาที่ใกล้ตัวที่สุด คือการที่เราจะเห็นเด็กไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่เริ่มตั้งคำถามกับบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่ ในขณะที่หลายคนยังติดอยู่กับการเชื่อตามผู้ใหญ่ หลายคนเชื่อตามกระแสของเขา ทั้งที่ไม่รู้ว่าเขาคือใคร การแสดงความคิดเห็นตามโซเชียลมีเดียของเด็กหลายคนก็ดูเหมือนไม่มีการคิดก่อนโพสต์ หรือไม่ไตร่ตรองอะไรมาก่อนเลย ทั้งที่ทุกวันนี้การเข้าถึงข้อมูลหลาย ๆ ด้านนั้นสามารถทำได้อย่างง่ายดาย

เด็กไทยที่คิดได้เองจริง ๆ ก็มี แต่ที่ตามน้ำตามกระแสสังคมและดูเหมือนจะคิดไม่ได้ก็มีอยู่มาก ง่าย ๆ หากอยากรู้ว่าเด็กคนนั้น ๆ คิดเองได้จริงหรือเหมือนจะคิดได้เพราะตามกระแสสังคมที่มีคนเริ่มออกมาแสดงจุดยืน ต้องพูดคุยกับเด็กคนนั้นตรง ๆ ให้เข้าถึงทัศนคติ วิธีคิด หลักการ และการใช้เหตุใช้ผลในการพิจารณาข้อมูลของเด็กคนนั้น ถ้าเด็กคิดได้จริง เขาจะมีข้อมูลที่ศึกษามาเป็นอย่างดี และมีหลักการในการพูดคุย แต่ถ้าแค่ตามกระแสสังคม เขาจะพูดหรืออ้างแต่อะไรที่ดูเลื่อนลอย ที่สำคัญ พวกเขาจะมีคำพูดที่แสดงให้เห็นว่าแค่เชื่อตามคนอื่น ๆ ที่เป็นเทรนด์ในขณะนี้

ข้อมูลเท่านี้ก็มากพอที่จะทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวล ตรงที่เด็กและเยาวชนไทยอาจกำลังตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมโดยสมบูรณ์ เพราะเด็กไทยรับมือกับข่าวปลอมได้ค่อนข้างแย่ มีจำนวนไม่น้อยที่เชื่อง่ายโดยไม่ไตร่ตรอง เชื่ออย่างไม่มีเหตุผล เชื่อเพราะมีคนเชื่อเยอะ และไม่ตรวจสอบข้อมูลอะไรเลย ทั้งยังขาดวิจารณญาณในการแยกแยะ ขาดความสามารถในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ขาดทักษะในการตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง ก็จะอยู่ลำบากในโลกที่มีแต่ข่าวปลอมเต็มไปหมดแบบนี้

เปิดโลกที่แคบให้กว้างขึ้น

Critical Thinking คือ ทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ มีความสามารถในการตั้งคำถามต่อสิ่งที่เราได้รับมาว่าถูกต้องหรือน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน และนอกจากนี้ Critical Thinking ยังเป็นหนึ่งใน 4 ทักษะ (4Cs) แห่งศตวรรษที่ 21 อีกด้วย ซึ่งประกอบด้วยอีก 3 ทักษะสำคัญ คือ Critical Thinking Communication (ทักษะสื่อสาร) Collaboration (ทักษะการทำงานร่วมกัน) และ Creativity (ทักษะความคิดสร้างสรรค์)

การรับข้อมูลด้านเดียวแล้วเชื่อเลยทันที เป็นเรื่องที่อันตรายมากในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากมันสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่สามารถพูดคุย ชี้แจง หรือตกลงได้ด้วยเหตุผล การอยู่ในโลกแคบ ๆ แบบนี้ไม่ได้เพียงแต่กระทบกับการทำงาน แต่ยังกระทบกับการใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน

ทักษะ Critical Thinking จะทำให้เรารู้สึก “เอ๊ะ” อยู่เสมอเมื่อได้รับข้อมูล การที่เราสงสัยและไม่เชื่อเลยในทันที ทำให้เราพยายามหาคำตอบในมุมอื่น โดยการตั้งคำถามว่าจะเป็นอื่นที่ต่างจากนี้ได้ไหม หรือจะมีข้อมูลอื่นมาค้านหรือไม่ มองให้กว้างกว่าสิ่งที่รู้มา เพื่อนำมาใช้ประกอบกับการตัดสินใจ อย่างไรก็ดี การตั้งคำถามนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะสร้างความขัดแย้งใด ๆ เพียงแต่เพื่อให้ได้ข้อมูลมากพอให้ประกอบการตัดสินใจ เมื่อตัดสินใจแล้ว จะพูดได้ว่าสิ่งที่เราเชื่อมาจากข้อมูล หลักการ หรือแนวคิดอะไร ไม่ยึดติดอยู่กับความเชื่อเดิม ๆ ที่เราเชื่อเพราะเราอยากจะเชื่อ

คนที่มีทักษะ Critical Thinking จะเข้าใจดีว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นมีได้ทั้งข้อเท็จ ข้อจริง ข้อคิดเห็นปะปนกันเสมอ แต่ความคิดในเชิงวิพากษ์จะช่วยให้สามารถแยกแยะข้อมูลที่ไม่มีเหตุผลสนับสนุน ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือข้อมูลที่บิดเบือนได้ง่ายขึ้น เพราะเปิดใจรับและมีข้อมูลอื่นมาช่วยในการตัดสินใจ และยังขึ้นอยู่กับพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเรื่องต่าง ๆ ของแต่ละคน  ประสบการณ์ ที่ขาดไม่ได้คือทักษะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาได้เอง แต่ต้องฝึกฝน

การจะเริ่มฝึก Critical Thinking ให้ได้นั้น ต้องเริ่มจากการรับสารอย่างตั้งใจ ฟังโดยไม่มีอคติ เป็นกลาง ไม่เอาอารมณ์ตัวเองไปตัดสิน ต่อให้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่เราไม่ปลื้ม หรือผู้ส่งสารเป็นคนที่เราไม่ชอบ หรือสภาวะทางอารมณ์เราจะไม่มั่นคงก็ตาม ประการต่อมาคือต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการใช้ชีวิต จากการอ่านมากฟังมาก พูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนอื่นมาก ส่วนนี้จะเป็นพื้นฐานความรู้ในการพิจารณา ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล ใช้พื้นฐานจากข้อมูลและหลักฐาน ถึงจะนำไปสู่การประเมิน การแก้ปัญหา และการตัดสินใจ

โลกของการทำงาน ที่จำเป็นต้องใช้ Critical Thinking

Critical Thinking ถือเป็นทักษะหนึ่งสำหรับคนทำงานยุคใหม่ไปแล้ว ในโลกที่มีการแข่งขันสูง และในขณะเดียวกัน โลกใบนี้ก็เต็มไปด้วยข้อมูลมากมายสารพัด ที่หลาย ๆ ครั้ง ก็ไม่สามารถแยกจริงเท็จได้จากการรับสารแบบผ่าน ๆ แต่ตรงกันข้าม หลายคนกลับพร้อมจะพากันเชื่อโดยไม่ไตร่ตรองใด ๆ ทั้งสิ้น เชื่อโดยไม่หาข้อมูลอีกด้านมาสนับสนุน หรือไม่แม้แต่จะหาต้นเหตุของเรื่องจริง ๆ แต่เลือกที่จะเชื่อเพราะตัวเองชอบใจมากกว่า

การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking จะคล้ายคลึงกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คือ จะไม่ปักใจเชื่อในข้อมูลที่ได้รับมาในทันที จนกว่าจะมีหลักฐาน มีการพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ แบบที่ไม่ข้อมูลอื่นใดมาหักล้างได้แล้ว จุดร่วมที่เหมือนกัน คือการตั้งข้อสังเกตและสงสัยอยู่เสมอ เมื่อสงสัยก็จะตั้งคำถาม คำถามจะนำไปสู่การหาคำตอบ ระหว่างทางที่จะได้คำตอบก็จะมีการวิเคราะห์ การเปรียบเทียบ การประเมิน การสรุปผล ก่อนตัดสินใจเชื่อ

หากเด็กไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานขาดทักษะนี้ไป การเป็นพนักงานขององค์กรต่าง ๆ อาจเผชิญกับปัญหาเรื่องการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนต่าง ๆ เนื่องจากไม่มีกระบวนการในการคิดวิเคราะห์หรือมีวิจารณญาณในการไตร่ตรอง ส่งผลต่อการตัดสินใจที่ไม่ถูกต้อง ผิดที่ผิดทาง มันอาจจะแก้ไขได้หลังจากเกิดปัญหา แต่ก็จะเป็นการทำงานที่ซับซ้อน เสียหายต่อองค์กร เสียเวลา ซึ่งจะดีกว่าไหมหากจะลดขั้นตอนที่ยุ่งยากลง เพียงแค่คิดไตร่ตรองให้รอบคอบตั้งแต่แรก

Critical Thinking หนึ่งใน Soft Skills ที่นายจ้างมองหา

ทุกวันนี้การจ้างงานมีการแข่งขันกันสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการแรงงานขององค์กรกับแรงงานที่ว่างงานในตลาดไม่สอดคล้องกัน ตำแหน่งงานบางตำแหน่งไม่จำเป็นต้องมีอีกต่อไปแล้วในยุคปัจจุบัน กิจการหรือธุรกิจบางส่วนปิดตัวลง หลาย ๆ ตำแหน่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้คนทำ เพราะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรและเทคโนโลยีโดยสมบูรณ์ ดังนั้นหากบริษัทหรือองค์กรต้องการจะรับพนักงานใหม่ นายจ้างจำเป็นต้องเข้มงวดและเลือกเยอะในการสรรหาบุคลกร เพื่อให้คุ้มกับค่าจ้างที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน

นั่นเท่ากับว่าการทำงานในปัจจุบันและอนาคตต่อจากนี้ ทักษะความรู้ที่ใช้ในการทำงาน (Hard Skills) อาจไม่เพียงพอสำหรับการทำงานอีกต่อไป แต่ทักษะที่จำเป็นต้องมีเพิ่มขึ้นมา คือทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft Skill) เพื่อโอกาสในการได้งาน รวมถึงการอยู่รอดของพนักงานเก่าในองค์กรที่ก็ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน อีกทั้งมันยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ชีวิตการทำงานประสบความสำเร็จ

ซึ่งทักษะ Critical Thinking หรือความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ การวิเคราะห์ และการใช้วิจารณญาณ ก็เป็นส่วนหนึ่งใน Soft Skills ด้วยเช่นกัน ดังนั้น คนที่มี Critical Thinking จึงเป็นที่ต้องการของนายจ้าง เพราะมันเป็นทักษะที่นายจ้างมักจะมองหาจากคนทำงานยุคใหม่ด้วย ซึ่งถ้าหากเด็กไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานไม่มีทักษะนี้ ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นเด็กจบใหม่ที่ไร้งานทำ เนื่องจากทักษะไม่ตรงตามที่ตลาดต้องการ

เพราะโลกที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัล มีข้อมูลข่าวสารมากมายมหาศาล สามารถเข้าถึงกันได้เพียงแค่คลิกนิ้ว การจะหยิบข้อมูลอะไรขึ้นมาใช้ คนทำงานต้องใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์ และคัดเลือกคัดกรองข้อมูลก่อน ด้วยข้อมูลบางอย่างก็ถูกส่งต่อมาอย่างผิด ๆ มีทั้งข่าวปลอม ข่าวบิดเบือน ดังนั้น คนทำงานต้องมีความสามารถที่จะแยกแยะข้อมูลให้ได้ ว่าอะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือข้อคิดเห็น อะไรมีประโยชน์ อะไรไม่มีประโยชน์ เพื่อที่จะนำมาใช้งานได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาข้อมูลรอบตัวมาวิเคราะห์แนวโน้ม และคาดการณ์ธุรกิจในอนาคตได้นั่นเอง

จริง ๆ แล้ว เราก็เห็นแล้วว่าเด็กไทยมีทักษะนี้กันน้อยลง ทั้งจากผลการทดสอบระดับชาติที่มีหลักฐานอ้างอิง มีการจัดทำเป็นรายงาน แล้วจัดอันดับโลกหรือภูมิภาค หรือที่เราเห็นกันในชีวิตประจำวัน จากการที่เด็กและเยาวชนส่วนหนึ่งมักแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียแบบปราศจากการคิดไตร่ตรอง ปราศจากการตั้งคำถาม และปราศจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง คำถามคือ ในขณะที่เด็กและเยาวชนไทยมีทักษะด้านนี้ต่ำ แล้วจะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนไทยมีทักษะด้านนี้เพิ่มขึ้น ในเมื่อมันสำคัญต่ออนาคตของพวกเขาและต่อตลาดแรงงานเช่นกัน