เสพสื่อให้หลากหลาย รู้ให้มากกว่าเฉพาะเรื่องที่ถูกใจ

ช่วงประมาณสองสัปดาห์ก่อน มีประเด็นหนึ่งที่เป็นข่าวลงในช่องทางออนไลน์ของหนังสือพิมพ์สำนักพิมพ์ดังตั้งแต่ช่วงเวลากลางวัน ตกค่ำประเด็นนี้ก็ถูกนำไปพูดถึงในสื่อกระแสหลักทางโทรทัศน์ การนำเสนอข่าวของประเด็นนั้นเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงทั่วไป ที่สำคัญ ข่าวกระแสหลักช่องนั้น มีการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ด้วยว่าเรื่องมันเป็นมาอย่างไร ผู้ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์นั้น พร้อมทั้งเตือนไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก และกล่าวว่าเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็กำลังจับตาดูสถานการณ์ที่ว่าอยู่ ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ให้สัมภาษณ์จบข่าวก็จบไป

ประเด็นที่ที่เป็นข่าวในวันนั้น นับว่าเป็นประเด็นที่ค่อนข้างสร้างความตื่นตระหนกให้ประชาชนคนไทยอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อเห็นว่าหนังสือพิมพ์สำนักดังรายงานข่าวแล้ว และมีข่าวออกในสื่อกระแสหลักในช่วงข่าวค่ำ ทุกอย่างก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แม้จะไม่แน่ใจว่ามีสื่อดัง สื่อหลัก สื่อใดบ้างที่นำประเด็นนี้ไปทำข่าว แต่ถ้าใครได้อ่าน ถ้าใครได้ดู ก็จะรู้ว่าสื่อสำนักนั้น ๆ รายงานอะไรไปบ้าง จะรู้ว่าเขานำเสนอข้อเท็จจริงตามหน้าที่สื่อไปแล้ว และจะรู้ด้วยว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่งควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ทว่าเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดก็เกิดขึ้น หนังจากนั้นประมาณสามวัน ประเด็นที่ว่ากลายเป็นแฮชแท็กติดเทรนด์อันดับต้น ๆ ในโลกทวิตเตอร์ หากเป็นการติดแท็กเพื่อย้ำเตือนสถานการณ์อีกครั้งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่…ถ้าคิดแบบนั้น อาจจะต้องพิจารณาตัวเองใหม่ว่าน่ารู้จักโลกทวิตเตอร์ไม่ดีพอ เพราะถ้าในทวิตเตอร์ไม่มีเรื่องดราม่า ก็เหมือนกับโลกไม่มีอากาศ

หากกดเข้าไปอ่านแฮชแท็กนั้น จะพบว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการดันแท็กจนติดเทรนด์อยู่สองถึงสามวัน ไม่ใช่เพราะต้องการจะย้ำเตือนถึงสถานการณ์ หากแต่เป็นการ “ด่า” ว่าสื่อหลักหรือสื่อดัง ๆ ไม่ทำหน้าที่นำเสนอข่าวนี้ ส่วนมากพูดไปในทำนองเดียวกันว่าไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ จากสื่อหลักเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรื่องที่ว่าร้ายแรงมากมีแจ้งเตือนมาตั้งแต่สามถึงสี่วันก่อน แต่สื่อหลัก สื่อดัง พากัน “กริบ” แล้วเริ่มมีการโยงไปยังการทำข่าวอื่น ๆ ของสื่อไทยด้วย ถึงจะตามอ่านไม่หมดว่าคนพูดถึงแท็กนั้นว่าอะไรอีก ก็รู้ว่ามันมีทิศทางเดียวกันคือการด่า ผสมโรงกันด่า และใครแย้งก็จะโดนด่า

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ได้อ่านข่าวนั้นแล้วจากช่องทางออนไลน์ของหนังสือพิมพ์สำนักดัง แถมยังได้ดูข่าวค่ำและการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องทางโทรทัศน์ด้วย (ตั้งแต่เมื่อสามวันก่อนแล้ว) คุณจะรู้สึกอย่างไร?

สื่อหลักเงียบกริบจริง ๆ หรือเพราะคุณไม่ได้สนใจจะสนใจ?

นี่คือความรู้สึกแรกหลังจากสุ่มอ่านทวีตที่มียอดรีทวีตสูง ๆ มียอดอ้างถึงสูง ๆ มีการกดหัวใจสูง ๆ ทุกทวีตพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าข่าวใหญ่แบบนี้แต่สื่อหลักไม่ทำข่าว ไม่นำเสนอข่าว ต้องให้ประชาชนมาเตือนกันเอง ดูแลชีวิตกันเอง ในขณะที่ความรู้สึกแย้งในใจบอกว่า “ข่าวทีวีก็ออกนะ ช่องทางออนไลน์ของหนังสือพิมพ์สำนักดังก็รายงานด้วย รายงานตั้งแต่เมื่อสามวันก่อน ทำไมจึงมีคนไม่รู้มากขนาดนี้ ไม่รู้ไม่พอ ด่าการทำงานของสื่อด้วย”

คำถามคือ วันหนึ่ง ๆ แต่ละคนเสพข่าวสารจากไหนบ้าง ถึงไม่รู้ว่ามีสื่อใหญ่นำข่าวนี้ไปเล่นแล้ว การที่สื่อใหญ่นำข่าวนี้ไปเล่น แต่ไม่เปรี้ยงพอที่จะทำให้ประชาชนผู้รักการดราม่ามากระพือต่อ (ทั้งที่สื่อมีชื่อเสียงในระดับหนึ่งเลย) เป็นเพราะประชาชนไม่ได้ดูไม่ได้อ่าน ก็เลยไม่มีการนำมาพูดต่อแชร์ต่อหรือเปล่า ย้อนกลับไปที่ต้นทาง ถ้าประชาชนไม่ตามข่าวจากสื่อหลัก แล้วนำมาเล่นในโซเชียลมีเดียหลักจากที่มีสื่อหลักเล่นไปแล้วถึงสามวัน มันเป็นเพราะคุณไม่สนใจจะตามข่าวจากสื่อหลักเองหรือเปล่า

นี่อาจเป็นกับดักที่ตลกร้ายที่สุด หากคุณไม่ดูสื่อหลักในโทรทัศน์เอง หรือไม่อ่านการนำเสนอข่าวออนไลน์ของสำนักหนังสือพิมพ์เอง โดยในแต่ละวันอาศัยเสพข่าวจากการส่องดราม่าในโซเชียลมีเดีย คุณกล้าพูดได้อย่างไรว่าสื่อหลักเงียบกริบ หรือไม่มีสื่อไหนนำข่าวนี้มาเสนอ?

การที่คุณเสพข่าวอยู่แต่โลกโซเชียลมีเดีย มันจะมีสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณหลงเข้าไปโดยไม่รู้ตัวและหาทางออกได้ยาก สิ่งนั้นคือ “ห้องเสียงสะท้อน (Echo Chamber)” คุณอาจจะคิดว่าโซเชียลมีเดียทำให้คุณหูตากว้างไกลขึ้น โลกทัศน์กว้างขึ้น เพราะคุณสามารถรับรู้สารพัดสิ่งได้จากทั่วทุกมุมโลก ลองย้อนกลับไปอ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นดู คุณจะรู้ว่านี่ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้องเท่าไรนัก เพราะความจริงคือ คุณถูกป้อนข้อมูลจากการทำงานของเอไอและอัลกอริทึม ที่จะป้อนเฉพาะสิ่งที่คุณชอบ เมื่อคุณฟังเฉพาะสิ่งที่คุณชอบ คุณก็จะไม่แม้แต่จะได้ยินเสียงแว่ว ๆ ของสิ่งที่คุณไม่ชอบ

แน่นอน มันทำให้คุณพลาดการได้ยินได้ฟังเรื่องราวอีกแง่มุมหนึ่งไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งมันอาจจะเป็น “ความจริงอีกด้าน” (ที่คุณจะไม่มีวันรู้) ก็เป็นได้ ไม่เพียงเท่านั้น มันยังคอยตอกย้ำเสียงที่คุณชอบให้กลายเป็นความคิดที่ฝังใจ เกิดอคติ เกิดการแบ่งแยกพวกฉันพวกเธอ รวมไปถึงแนวโน้มที่คุณจะตัดสินใจอะไรง่าย ๆ โดยอาศัยเฉพาะข้อมูลที่คุณมีและตราตรึงใจคุณมากเท่านั้น เพราะคุณไม่มีความคิดตรงข้ามมาถ่วงให้คุณรู้สึกเอ๊ะ! แล้วลังเลชั่งใจอะไรเลย

โซเชียลมีเดีย ห้องเสียงสะท้อนที่กู่ไม่กลับขนานแท้

เป็นความจริงที่ว่าพอเราโตขึ้น เราจำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ มีผู้คนร้อยพ่อพันแม่ หลากความเชื่อ หลายความคิด เราก็จะถูกบังคับให้เจอกับความคิดเห็นที่หลากหลายขึ้น ถึงเราจะไม่เห็นด้วย แต่อย่างน้อยเราก็ยังได้รับรู้เรื่องราวที่แตกต่างจากเดิมที่เคยรู้ ได้ถกเถียงกับใครสักคนเพื่อหาตรงกลางของความคิดความเชื่อนั้น ๆ จนทำให้เราออกจากห้องเสียงสะท้อนได้ในที่สุด

แต่…การมาของโซเชียลมีเดีย ทำให้ปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างลดลง ถึงจะยังติดต่อกันในโซเชียลมีเดียได้อยู่ ทว่าหากใครพูดจาไม่เข้าหู มีความคิดความเชื่อที่ไม่เหมือนกับเรา บวกกับเทคโนโลยีและอัลกอริทึมที่คัดกรองมาเฉพาะเนื้อหาที่เราสนใจและชื่นชอบ เราก็เริ่มกลับเข้ามาในห้องเสียงสะท้อนกันอีกครั้ง และเพราะโซเชียลมีเดียนั้นเล่นสนุก การได้รับการยอมรับทำให้เราไม่รู้สึกแปลกแยก รู้สึกมีพวก นี่จึงเป็นห้องเสียงสะท้อนที่อาจกู่ไม่กลับเลยก็เป็นได้

We Are Social และ Hootsuite แพลตฟอร์มบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ ได้ออกมาเปิดเผยถึงสถิติตัวเลขล่าสุดของผู้ใช้โซเชียล ได้เผยรายงานสถิติการใช้งาน “โซเชียลมีเดีย” ของคนทั่วโลก Global Digital Report 2021 พบข้อมูลที่น่าสนใจว่าในเวลานี้มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย 4.48 พันล้านคน โดยเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านคนในเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น

ส่วนข้อมูลการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทยยิ่งน่าสนใจ ตรงที่คนไทยใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดในโลก! ครองอันดับ 1 ของโลก คิดเป็น 78 เปอร์เซ็นต์ และคนไทยกว่า 91 เปอร์เซ็นต์ อ่านข่าวออนไลน์มากเป็นอันดับสองของโลก แสดงให้เห็นว่าโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางรับรู้ข่าวสารของคนไทยที่ทรงอิทธิพลมากในช่วงปีที่ผ่านมา

เมื่อคนหันมาติดหนึบโซเชียลมีเดียกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ตรงที่เราได้ติดต่อกับคนใหม่ ๆ กับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอหน้ากันมานานก็มาเจอกันในโซเชียลมีเดีย ดึงดูดคนที่มีความสนใจตรงกัน อัปเดตข่าวสารในยุคดิจิทัลได้สะดวกและรวดเร็วมาก คุยกับคนได้ทั่วทุกมุมโลก ผู้คนจึงเลือกที่จะใช้โซเชียลมีเดียเป็นสื่อหลักในการรับข้อมูลข่าวสาร แล้วก็หลงมัวเมาอยู่ในโลกเสมือนนั้นจนไม่สนความเป็นไปของโลกจริง ๆ รับข้อมูลด้านเดียวซ้ำ ๆ ข้อมูลที่ไม่มีการโต้แย้ง ไม่มีข้อเสนอแนะอื่น เมื่อคุณอยู่ในห้องของเสียงสะท้อนของตนเอง เสียงนั้นก็จะดังขึ้นเรื่อย ๆ ถี่ขึ้นกว่าเดิม

ทำไมถึงไม่มีใครโต้แย้ง ก็เพราะถ้าเราไม่ชอบใคร เราก็ลบเพื่อน เลิกติดตาม บล็อกเขาทิ้ง ต่างจากโลกจริงที่เรายังเผชิญหน้าโต้แย้งกันได้ แน่นอนว่ามันทำให้เรามีความสุขขึ้น ตรงที่ไม่ต้องเห็นอะไรที่มันรกหูรกตา รกความคิดความเชื่อของตัวเอง แต่กลับทำให้เราถูกอคติครอบงำไปเรื่อย ๆ การคิดแบบมีเหตุมีผลของเราจะค่อย ๆ หายไป ความคิดเราจะจำกัดมากขึ้นเพราะอคติ คล้อยตามกลุ่มคนจำนวนมากได้ง่าย ไปจนถึงรับไม่ได้เมื่อมีคนคิดเห็นต่างจากเรา นี่แหละ ที่ทำให้โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่แห่งการปลุกปั่นสร้างความเกลียดชัง ขนานแท้

อคติมีอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว ต่อให้เลือกข้างแล้ว ก็ไม่เห็นต้องปิดหูปิดตา

หากคุณพูดกับตัวเองเสมอว่าตัวเองเป็นกลางไม่ว่าจะกับเรื่องใดก็ตาม คุณก็เลือกข้างแล้วนี่ว่าจะอยู่ตรงกลาง แต่ตรงกลางของคุณกลางจริงไหม ไม่ค่อนไปทางไหนจริงไหม ลองสังเกตจากเรื่องที่คุณชอบฟังชอบดู มันมาจากฝั่งไหน ซ้ายหรือขวา แล้วคุณเคยด่าเรื่องที่ไม่ใช่เรืองที่คุณชอบบ้างหรือไม่ ถ้าเคย ดูเหมือนว่าคุณจะกลางไม่จริง!

จริง ๆ แล้ว ไม่ว่าคุณจะคิดเห็นอย่างไร เชื่อหรือไม่เชื่อ ชอบหรือไม่ชอบ หรือจะอยู่ฝั่งไหนก็ได้ นั่นเป็นสิทธิ์ในการเลือกของคุณ ขอแค่อย่าปิดหูปิดตาตัวเอง เพื่อรับรู้เฉพาะสิ่งที่ตัวเองอยากจะรู้! ไม่รับรู้เรื่องอีกด้านเพียงเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ถูกใจ ไม่ต้องจริตของตัวเองจนทำใจรับรู้ไม่ได้ การจะหลุดออกจากห้องแห่งเสียงสะท้อน คุณควรรับรู้ทั้งสิ่งที่ชอบและไม่ชอบ ไม่ว่าคุณต้องนั่งกัดฟันหรือกำมือแน่นแค่ไหน หลังจากรับรู้แล้วก็เก็บมาคิดอย่างมีตรรกะและใช้วิจารณญาณ สุดท้ายคุณจะชอบหรือไม่ชอบอะไรมันก็เรื่องของคุณ แต่ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในกะลาครอบ

ไม่ว่าคุณจะฝักใฝ่ฝ่ายไหน ก็ยังอยากให้คุณเปิดใจรับข้อมูลข่าวสารที่ต่างจากเดิมดูบ้างอยู่ดี การเสพข่าวจากสื่อหลักทางโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์ (จะอ่านแบบออนไลน์ก็ได้) มันยังทำให้คุณเห็นข่าวอื่น ๆ ผ่านตา แม้ว่าคุณจะไม่ได้สนใจมัน ในขณะที่ข่าวจากโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ มันถูกเทคโนโลยีกรองมาแล้วว่าเป็นสิ่งที่ถูกจริตคุณเท่านั้น ย้ำว่าสิ่งที่คุณคิดคุณเชื่อคือความถูกต้อง ต่อให้มันจะไม่สมเหตุสมผล แต่คุณเชื่อแบบนั้น และยังได้รับการยอมรับจากคนที่คิดที่เชื่อไปในทางเดียวกัน ไม่รู้สึกแปลกแยกกับพวกเดียวกัน แต่เกลียดคนที่เห็นต่างได้ง่าย ๆ

อีกนัยหนึ่งก็คือ อยากให้มนุษย์เราออกมาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงให้มากขึ้น เริ่มจากการเสพข่าวสารที่ไม่จำกัดค่ายจำกัดฝ่าย พาตัวเองเข้าไปรับรู้วิธีคิดของสังคมใหม่ อาจช่วยให้เราเริ่มคิดเป็นเหตุเป็นผล และตัดสินใจโดยปราศจากอคติได้ มันอาจจะรู้สึกฝืนในช่วงแรก แต่ก็น่าจะดีกว่าการติดอยู่ในกับดักข้อมูลด้านเดียว ที่อาจทำให้โลกทั้งใบคับแคบ จนถูกฝังกลบในหล่มความคิดที่เต็มไปด้วยอคติตลอดกาล

สงครามหน้าจอหลังคีย์บอร์ด สงครามที่ไม่รู้ว่าสู้กับใคร แล้วสู้ไปทำไม

เหตุผลจริง ๆ ที่คุณลงไปทำสงครามกับคนที่มีความคิดไม่ตรงกับคุณในโซเชียลมีเดียคืออะไร อยากแนะนำ อยากชี้แนะ อยากให้ความรู้ หรืออยากเอาชนะ!

การต้องทนเสพข่าวสารในมุมที่ไม่ถูกจริต รู้ดีว่ามันน่าหงุดหงิด ในหัวจะระดมความเห็นที่ตรงกันข้ามมาเถียงอยู่ตลอดเวลา บางคนแค่เถียงในหัวตัวเองแล้วจบ ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนลงไปทำสงครามจนเป็นดราม่าใหญ่โต โต้เถียงแบบมีตรรกะบ้าง ข้าง ๆ คู ๆ บ้าง สาดคำหยาบ คำรุนแรง ไล่กันไปตายก็มี ซึ่งถ้ามาคิด ๆ ดู แล้ว เราได้อะไรที่เป็นประโยชน์กับชีวิตบ้าง มีแต่เสียเวลาด่ากัน เสียอารมณ์เพราะโดนด่า สมองได้ระดมคิดหาคำด่า หรือแค่ความสะใจ

บางที การข้ามในสิ่งที่ไม่ถูกใจไปบ้าง ไม่ต้องไปอยากมีส่วนร่วม ไม่น่าจะเกินความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าให้ข้ามไปอย่างไม่แยแส แต่หมายความว่าให้ข้ามไปแบบไม่ต้องยึดติด ไม่ต้องเอามาเป็นอารมณ์ แค่รับรู้ เก็บมาคิดแล้วผ่านไป ไม่ต้องอยากจะเถียงกับทุกคน ดราม่าใหญ่โตกับทุกเรื่องก็ได้ ดราม่าบางเรื่อง ไปไกลจนหาต้นตอเก่าไม่เจอด้วยซ้ำ ดราม่าเก่งมากจริง ๆ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะพากันไปเชื่อข่าวสารข้อมูลที่มาจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียขนาดนี้ เพราะนอกจากจะสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองไปกับเนื้อหาได้ด้วย ยิ่งเสพก็ยิ่งอิน ยิ่งอินก็ยิ่งดราม่า ยิ่งมีคนเห็นต่าง ยิ่งบันเทิงกันไปใหญ่ บางเรื่องไม่ควรจะนำมาเป็นเรื่อง ก็กลายเป็นเรื่องไปแบบงง ๆ ถูกนำมายำต่อแบบไม่แคร์เลยว่าจริงเท็จแค่ไหน และจะเกิดผลกระทบใด ๆ ต่อต้นเรื่องบ้าง

รวมถึงเราอาจต้องยอมรับว่าอะไรก็ตามที่เราโพสต์สู่สาธารณะย่อมมีคนเห็นต่าง หากเขามาเตือนดี ๆ ถูกผิดก็รับฟังไว้บ้าง ส่วนคนที่เข้าไปแสดงความคิดเห็น เมื่อเห็นอะไรไม่ถูก ไม่เหมาะสม หรืออยากแสดงความคิดเห็นในอีกมุม ก็เตือนกันดี ๆ คุยกันด้วยเหตุผล ไม่จำเป็นต้องขวางโลก ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตข้ามได้ก็ข้าม ปล่อยวางไปบ้าง ช่างเขาบ้างก็ได้ ตราบใดที่เขาไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร

ข้อมูล คืออาวุธในสงครามสมัยใหม่ ที่ทำให้คนเกลียดกันเอาเป็นเอาตาย

“เฟกนิวส์” และ “ข้อมูลปลุกปั่น” คืออาวุธสำคัญที่วัดความได้เปรียบของคู่สงครามในสมัยนี้ มันใช้สร้างพลรบหน้าจอหลังคีย์บอร์ดได้ชนิดที่หลายคนก็คาดไม่ถึง รวมถึงยังมี “ความหยาบคาย” หรือ “คำพูดแสดงความเกลียดชัง” ที่พ่นใส่กันไม่เว้นวัน โซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มกลายเป็นสมรภูมิรบที่มีแต่คนเกลียดกัน หดหู่ เครียด ผิดไปจากวัตถุประสงค์การใช้งานเดิมอย่างสิ้นเชิง

เฟกนิวส์จะใช้จุดอ่อนทางจิตวิทยาที่มีในตัวทุกคน คือ การรับรู้อย่างมีอคติ มาเป็นตัวนำความคิด ตัวอย่างง่าย ๆ คือ เรามักจะให้น้ำหนักกับสิ่งที่คนในครอบครัว เพื่อน หรือคนที่เราชื่นชม ชื่นชอบ มากกว่าคนอื่น หากพวกเขาเชื่ออะไร เราก็มีโอกาสที่จะเชื่อตามพวกเขา เพราะเราจะมีความคิดว่าสิ่งที่คนใกล้ตัวเราเชื่อน่าจะเป็นเรื่องจริง เชื่อถือได้ เมื่อคนเหล่านี้แชร์โพสต์หรือเราเห็นเรื่องราวแบบที่คนเหล่านี้เชื่อ เราจึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อตาม เพราะมันดูน่าจะเป็นเรื่องจริง

ไม่เพียงเท่านั้น เฟกนิวส์ ยังเก่งเล่นกับอารมณ์ของคนด้วย ข่าวปลอมมักจะกระตุ้นอารมณ์อย่างรุนแรง ทำให้รู้สึกหัวร้อน อารมณ์ขึ้น ประหลาดใจ กลัว เกลียดชัง หรือง่าย ๆ ก็คือมันช่วงเร่งปฏิกิริยาตอบสนองของคนเรา จึงชวนให้เชื่อได้ง่ายขึ้นไปอีก พอเราเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง คนเราก็เลยตอบสนองด้วยการส่งต่อข้อมูลเหล่านั้นให้ผู้อื่นต่อไป คิดว่ามันเป็นการเตือนหรือบอกให้คนใกล้ตัวได้รู้ไว้ แชร์กันไปเรื่อยไม่หยุด จนเป็นวงจรอุบาทว์ไม่รู้จบรู้สิ้น

ทุกวันนี้ เราตกเป็นเหยื่อเฟกนิวส์กันได้ง่ายมาก ๆ และยิ่งเชื่อกันมาก ๆ เชื่อกันเป็นกลุ่มก้อน ชุดข้อมูลที่ตรงข้ามกับเฟกนิวส์ที่รู้มาจะกลายเป็นข้อมูลปลอมสำหรับคนกลุ่มนี้ทันที คิดว่าสิ่งที่ตัวเองรู้เป็นเรื่องถูกต้อง ใครแย้งไม่ได้ คิดว่าตัวเองฉลาดที่ได้ข้อมูลแบบนี้มา หลายครั้งที่มีเฟกนิวส์ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง ก็ยังจะเชื่อผิด ๆ ต่อไปอีกไม่เลิกอีกต่างหาก เพราะมันฝังหัวไปแล้ว แถมยังมีคนพวกเดียวกันคอยสนับสนุนความคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการใช้โซเชียลมีเดียของคนไทย จากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีรายงานสถิติย้อนหลังในช่วงเกือบ 1 ปี (1 ตุลาคม 2563-30 มิถุนายน 2564) พบว่า มีผู้โพสต์ข่าวปลอมจำนวน 587,039 คน มีผู้แชร์ข่าวปลอมจำนวน 20,294,635 คน โดยกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนที่อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี ข้อมูลนี้รวบรวมจากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม และมีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 145,515,605 ข้อความ

ข้อมูลข้างต้น มีทิศทางเดียวกันกับการศึกษาขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) โดยเป็นข้อมูลที่เผยความสามารถในการรับมือกับเฟกนิวส์และข้อมูลข่าวสารอันเป็จเท็จ ของเด็กอายุ 15 ปี จาก 77 ประเทศทั่วโลก พบว่าเด็กไทยมีศักยภาพในการกรองข่าวปลอมต่ำมาก รั้งท้ายอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 77 ประเทศ

ข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นปรากฏการณ์ที่น่ากังวล ตรงที่เด็กและเยาวชนไทยอาจกำลังตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมโดยสมบูรณ์ และจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ที่ไม่หวังดีหลอกใช้ได้โดยง่าย ใครรับมือได้ดีก็รอด แต่ถ้าใครมักจะเชื่อง่าย โดยไม่ไตร่ตรอง เชื่ออย่างไม่มีเหตุผล เชื่อเพราะมีคนเชื่อเยอะ และไม่พยายามตรวจสอบข้อมูลอะไรเลย ขาดวิจารณญาณในการแยกแยะ ขาดความสามารถในการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล ขาดทักษะในการตรวจสอบข้อมูลด้วยตนเอง ก็จะอยู่ลำบากในโลกที่มีแต่ข่าวปลอมเต็มไปหมด ที่ปลอมจนแยกแทบไม่ออกก็มี

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการที่รู้ตัวเองอยู่ลึก ๆ ว่าข้อมูลนี้อาจจะไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็ยังปกป้องตัวเอง หลอกตัวเองและยอมตามน้ำไป รวมถึงต่อต้านคนที่โต้แย้ง เพราะถ้าจะยอมรับความจริงว่าตัวเองเชื่อข่าวปลอมก็จะเสียหน้า นี่เป็นอันตรายอย่างยิ่งยวดของเฟกนิวส์

สื่อหลัก (บางสื่อ) อาจจะเป็นที่ที่พอจะหนีจากห้องเสียงสะท้อนได้

ในยุคที่คนเราติดหน้าจอโทรศัพท์มือถือกันแทบจะสิงหน้าจอ โทรศัพท์แทบจะละลายติดมือ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนคงแทบจะไม่ได้สัมผัสสื่อหลักหรือสื่อดั้งเดิมเท่าใดนัก บ้านของหลาย ๆ คนไม่ได้เปิดโทรทัศน์มานานมากแล้ว บ้างบ้านไม่มีเพราะไม่จำเป็น วิทยุก็ไม่เคยเปิด กระดาษหนังสือพิมพ์เป็นอย่างไรไม่ได้สัมผัสมานานแล้ว เป็นต้น เพราะการเสพสื่อผ่านทางโซเชียลมีเดียมันตอบโจทย์ชีวิตการรับรู้ข่าวสารอย่างครบครัน แต่…มันครบครันเกินไป

เราไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ข่าวคราวอะไรก่อนชาวบ้านเสมอไปก็ได้ ไม่เช่นนั้น อาจได้ป่วยเป็น “โรคกลัวตกระแส” แน่ ๆ ด้วยหวาดระแวงว่าตัวเองจะพลาดอะไรไป กลัวไม่ทันกระแสเหมือนคนอื่น ชอบอัปเดตทุกความเคลื่อนไหว โดยใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเชื่อมต่อเพื่อรับรู้ความเป็นไปทางสังคม ไม่จำเป็นเลยที่ต้องมาแข่งอะไรแบบนี้กับคนอื่น รู้ช้ากว่าคนอื่นก็ได้ พลาดบ้างก็ได้ รับรู้โดยไม่ต้องแสดงความคิดเห็นบ้างก็ได้ ใจเย็น ๆ ลองหันไปรอดูข่าวทางโทรทัศน์บ้างก็ดี

แม้ว่าในยุคนี้ จะมีบรรดาคนที่หลงใหลในการสถาปนาตัวเองเป็นสื่อ จนดูเหมือนเรากำลังอยู่บนโลกที่ใคร ๆ ก็ตั้งตัวเป็นสื่อได้ จนหลายสิ่งหลายอย่างมันมั่วซั่วเละเทะไปหมด ฉะนั้น ในฐานะผู้รับสารอย่างเรา เราสามารถก็เลือกรับสารจากสื่อได้เช่นกัน จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เน้นข้อเท็จจริง ส่วนความคิดเห็นค่อยมาบูรณาการเอง อีกทั้งควรเลือกรับข้อมูลให้ครบทุกด้าน พร้อมทั้งตรวจสอบกระบวนการนำเสนอตั้งแต่ต้นจนจบด้วย อย่ากลายเป็นเหยื่อของเฟกนิวส์

ถึงอย่างนั้น ก็ต้องยอมรับความจริงว่าการดูข่าวจากสื่อหลักหรือสำนักข่าวใหญ่ ๆ ทุกวันนี้ ก็ต้องมีสติและวิจารณญาณให้มากพอสมควร เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่คนเล่าข่าวพูดแต่ความคิดเห็นของตัวเอง จนหาข้อเท็จจริงได้น้อยมาก โลกเปลี่ยนไปแล้ว มีชีวิตอยู่อย่างทันโลก ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง