เมื่อ “ระดับบาร์” สูงแค่ก้าวข้ามยอดหญ้า

รู้จักกีฬากระโดดสูงไหมคะ เป็นกรีฑาประเภทลานที่จะเริ่มต้นด้วยการตั้งค่าความสูงในระดับมาตรฐาน หรือที่เรียกว่า Low the Bar ค่ามาตรฐานที่นักกีฬาทุกคนสามารถกระโดดได้ (มีส่วนน้อยที่ไม่ผ่านจุดนี้) แล้วจะเพิ่มความสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้นักกีฬาได้วัดการก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองจนได้ผู้ชนะ โดยใช้คำว่า Raise the bar

จากการตั้งค่าดังกล่าว ก็ถูกนำมาใช้เป็นแสลงเปรียบเทียบมาตรฐานในการทำงานและความคาดหวัง ซึ่งจะเป็นเรื่องที่จะหยิบมาคุยกับคุณผู้อ่านในวันนี้ค่ะ เพราะยุคนี้ดูเหมือนว่ามันไม่ใช่แค่ตั้งค่าบาร์เอาไว้ต่ำ แต่ผู้คนเริ่มยอมรับกับมาตรฐานที่ต่ำลงไปเรื่อย ๆ พร้อมกับเหตุผลปลอบใจตัวเองว่า “เขาทำได้เท่านี้”

ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนเป็นคนที่ชื่นชอบ วิธีการ Raise the Bar หรือเพิ่มความสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อจะได้เพิ่มพัฒนาการให้ตนเอง ขณะเดียวกันก็ชื่นชอบความสมบูรณ์แบบด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะเชื่อว่ามนุษย์เราพัฒนาได้ถ้าตั้งใจจริง เพราะมีความเชื่อว่าโอกาสไม่วิ่งมาหาเรา เราต่างหากที่ต้องสร้างโอกาสเอง ถ้าอยากทำคือลงมือทำเลยไม่นั่งฝัน การก่นด่านั่งอิจฉาคนที่ได้ดีกว่าไม่ได้ช่วยอะไร เอาพลังงานชีวิตที่ต้องใช้ตรงนั้นมาพัฒนาฝีมือตนเองจะดีกว่า

เหมือนกับนักกีฬากระโดดสูง ที่ต้องเพิ่มความสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อข้ามจุดที่เรียกว่า “ข้อจำกัดของตนเอง” เพราะถ้าไม่ “Raise the bar” สถิติโลกก็ไม่เกิด

แต่ปัจจุบันนี้เมื่อต้องเจอประโยคที่ว่า “ลดมาตรฐานลงหน่อยก็ได้” หรือ “ตั้งมาตรฐานไว้สูงไปใครจะทำได้” (เอาจริง ๆ ฉันทำได้และทำมาแล้ว) หรือ “มีงบประมาณอยู่เท่านี้จะทำอะไรได้” หรือแม้แต่ “ทำงานตามเงินเดือนนั่นแหละไม่ทำมากกว่านี้หรอก” ประโยคเหล่านี้เวลาพูดก็สนุกปากดี แต่คุณเชื่อไหมว่ามันสะท้อนทัศนคติในตัวคุณออกมาหมดเลยนะ

ทัศนคติอะไรน่ะหรือ ลองดูกันค่ะ ถ้าเราลดมาตรฐานหรือตั้งค่าบาร์เราให้ต่ำลง ก็เท่ากับว่าเราตั้งค่าให้มันง่ายขึ้น คนทำตามได้ แต่ถ้ามีอีกหลายคนทำไม่ได้ คือต้องลดบาร์ลงไปอีกใช่ไหม และคงต้องลดลงไปเรื่อย ๆ เมื่อมีคนทำไม่ได้ จนไม่เหลือมาตรฐานอะไรให้กำหนดอีก ในทางกลับกัน ถ้าตั้งมาตรฐานไว้สูง แล้วมีคนทำได้ นั่นก็เท่ากับว่าเราได้คนที่มีความสามารถเพิ่มขึ้นไม่ใช่หรือ

ส่วนคำประเภทมี “งบประมาณเท่านี้จะทำอะไรได้” หรือ “ทำงานตามเงินเดือน” มันคือความท้าทายข้อจำกัดของตนเอง แต่ถ้าคุณเริ่มด้วยคำพูดที่สะท้อนทัศคติดังกล่าว เชื่อไหมว่าต่อให้งบประมาณคุณเยอะขึ้น เงินเดือนคุณมากขึ้น คุณก็ยังคิดว่ามันไม่พอ เพราะทัศนคติคุณก้าวข้ามข้อจำกัดไม่ได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว (อธิบายไว้นิดว่า “ของดีราคาถูกไม่มีบนโลกใบนี้ แต่การทำให้คุ้มค่าคุ้มราคาไม่ใช่สักแต่ทำยังมีอยู่”)

ทุกวันนี้ในแวดวงการทำงาน เอาแค่ในแวดวงโปรดักชั่นหรือแวดวงสื่อที่ผู้เขียนเวียนว่ายอยู่ในมหาสมุทรแห่งนี้มานานกว่าสองทศวรรษ เราได้เห็นการลดระดับบาร์ลงมาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติ และคนทั้งวงการก็เหมือนจะต้องพยายามรับความปกติที่แท้จริงแล้วผิดปกตินั้นให้ได้ด้วย

เราผลิตเนื้อหาออกมา เหมือนแค่ให้มันมี แต่เราไม่ได้ทำหน้าที่ของการเป็นสื่อที่แท้จริง ที่ต้องมีความรับผิดชอบ ตั้งแต่ตรวจสอบตัวอักษรแรกที่พิมพ์ คำที่พูดที่ใช้ ภาพที่เผยแพร่ ไปจนถึงการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนดู

เมื่อระดับบาร์ของการทำงานต่ำลงเรื่อย ๆ พร้อมกับคำพูดประเภท “อย่าตั้งมาตรฐานสูงเกินไป” ยังมาคอยบั่นทอนความรู้สึก ก็ไม่ต้องแปลกใจนะคะว่าทำไมทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ไม่เสพสื่อในประเทศสักเท่าไร และทำไมคุณภาพของ Content ไม่ได้พัฒนาขึ้นเลย เพราะเราไม่เคยเพิ่มระดับความสูงของบาร์กันมานานมากแล้ว มาตรฐานของเราจึงทำได้แค่เพียงก้าวข้ามยอดหญ้าเท่านั้น…สุดท้ายอย่าไปโทษใครเลยค่ะ กลับมามองทัศนคติของเราก่อนแล้วคุณจะได้คำตอบว่าใครล่ะที่ทำให้เป็นเช่นนี้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า