ทำไม “พจนานุกรม” จึงสำคัญกับการใช้ภาษาไทย

ภาพจาก Facebook : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา

ปกติแล้ว ถ้าเราไม่มั่นใจว่าคำคำนี้เขียนหรือสะกดอย่างไร เราเปิดเช็กวิธีการสะกดจากที่ไหน? หรือถ้าเราไม่รู้ว่าคำคำนี้แปลว่าอะไร เราจะรู้ความหมายคำได้อย่างไร? หรือถ้าเราไม่แน่ใจว่าการใช้คำในประโยค เรียงถูกต้องตามชนิดของคำหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคำไหนเป็นคำนาม คำไหนเป็นคำวิเศษณ์ คำไหนเป็นคำบุพบท คำแต่ละชนิดทำหน้าที่แตกต่างกัน? ถ้าเป็นทุกวันนี้ หลายคนคงเลือกที่จะเข้า Google แล้วพิมพ์หา เลือกเอาผลลัพธ์ที่ปรากฏบนสุด ซึ่ง Google จะพาเราไปที่หน้าเว็บไซต์ไหนก็ไม่รู้ แล้วแต่ Google จะพาไปเลย

แต่หากย้อนไปสมัยที่เรียนชั้นประถม หลายคนคงจำได้ว่าต้องพกหนังสือเล่มหนึ่ง ขนาดประมาณฝ่ามือผู้ใหญ่ ส่วนความหนาของหนังสือก็ประมาณครึ่งฝ่ามือผู้ใหญ่เช่นกัน หนังสือเล่มนั้นสีน้ำเงิน มีตราครุฑที่หน้าปก หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า “พจนานุกรมนักเรียน ฉบับเฉลิมพระเกียรติ” หนังสือเล่มนั้นจะกองอยู่ก้นกระเป๋ามุมใดมุมหนึ่ง แต่จำเป็นต้องพกไปทุกวัน (ทั้งที่ไม่ได้ใช้) เพราะครูตรวจ ในมาชั้นมัธยม เราไม่จำเป็นต้องพกหนังสือเล่มนั้นไปโรงเรียน อย่างไรก็ดี ในชั้นเรียนภาษาไทย เรายังต้องไปห้องสมุดเพื่อเปิดหนังสือที่ลักษณะคล้ายกันแต่เล่มใหญ่กว่ามากแทนอยู่ดี

หนังสือเล่มใหญ่นั้นคือ “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน” เมื่อว่ากันตามขนาดหนังสือ คงไม่มีใครคิดจะพกมันไปไหนมาไหนอยู่แล้ว และถ้าไม่ได้ทำงานสายวิชาการจริง ๆ ก็คงน้อยคนมาก ๆ หรือไม่มีใครหรอกที่จะมีมันไว้บนชั้นหนังสือที่บ้าน ยิ่งทุกวันนี้ยิ่งไม่จำเป็น เพราะมีพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแบบออนไลน์ และมีแบบเป็นแอปพลิเคชันด้วย สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้

ความสำคัญของพจนานุกรม

พจนานุกรม หรือที่ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า dictionary หน้าที่หลัก ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี คือ การใช้หาความหมายของคำศัพท์ (ส่วนใหญ่ใช้พจนานุกรมเพราะเหตุนี้) ซึ่งก็ช่วยได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะบางทีเปิดความหมายของคำมาแล้วงงกว่าเดิม เป็นการแปลไทยเป็นไทยที่ค่อยเข้าใจอยู่ดี ฉะนั้น คำศัพท์ที่เราใช้กันหลาย ๆ คำ เราใช้กันโดยอัตโนมัติโดยอาศัยความคุ้นเคยที่เป็นภาษาแม่ แต่ถ้าถามความหมายจริง ๆ ก็ตอบกันไม่ค่อยได้หรอก

คำว่า “พจนานุกรม” ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายไว้ว่า (น.) หนังสือว่าด้วยถ้อยคำในภาษาใดภาษาหนึ่ง เรียงตามลำดับตัวอักษร โดยทั่ว ๆ ไปจะบอกความหมายและที่มาของคำเป็นต้นด้วย ซึ่งหากพิจารณาตามความหมายข้างต้น จะพบว่าพจนานุกรมไม่ใช่แค่หนังสือเล่มหนาที่เราเคยพกไปโรงเรียนให้หนักกระเป๋าเปล่า ๆ แต่ประโยชน์ของมันครอบคลุมการใช้ภาษาเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน

ภาพจาก Shopee

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นพจนานุกรมที่อธิบายศัพท์ภาษาไทยที่ราชบัณฑิตยสภาจัดทำขึ้น เพื่อให้ใช้เป็นมาตรฐานในการเขียนหนังสือไทยให้เป็นระเบียบเดียวกัน ไม่ลักลั่น โดยจะมีการปรับปรุงแก้ไขตามยุคสมัยเรื่อยมา เมื่อราชบัณฑิตยสภาจัดพิมพ์พจนานุกรมรุ่นหนึ่ง ๆ แล้วเสร็จ จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ออก ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด และจากนั้นหนังสือราชการ รวมถึงการศึกษาเล่าเรียนจะใช้ตัวสะกดตามพจนานุกรมรุ่นนั้น ๆ เสมอ

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการจัดทำพจนานุกรม ซึ่งเป็นส่วนราชการอิสระในฝ่ายบริหารของประเทศ มีหน้าที่ค้นคว้า วิจัย และบำรุงวิชาการด้านต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยสำนักงานราชบัณฑิตยสภาเป็นส่วนราชการระดับกรม ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง แต่อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี

โดยประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ระเบียบการใช้ตัวสะกด นั้น จะกำหนดให้บรรดาหนังสือราชการ และหนังสือที่ใช้สำหรับศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนใช้ตัวสะกดตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานรุ่นนั้น ๆ เพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกัน ลงรูปรอยเดียวกัน เกิดเอกภาพในด้านภาษา อันเป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ส่วนหนึ่งของชาติ

พจนานุกรมจึงเป็นหนังสืออ้างอิงที่สําคัญที่เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทยในทางราชการและโรงเรียน เพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกัน ส่วนใหญ่เราจะเปิดใช้เมื่อเกิดความสงสัยในการอ่าน การเขียน หรือแปลความหมายของคำ ในพจนานุกรมจะรวบรวบคำศัพท์ในวงศัพท์ที่กำหนด และนิยามความหมายของคำเอาไว้ โดยมีการเรียงลำดับคำศัพท์ตามตัวอักษร ตามเสียง หรือตามลำดับอื่น ๆ

เราใช้ภาษาไทยกันทุกวัน แต่เราใช้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ใช้คำถูกความหมาย ถูกบริบทหรือไม่ พจนานุกรมจะให้คำตอบในส่วนนี้ ตอบโจทย์การใช้ภาษาที่เราไม่แน่ใจทุกอย่าง เขียนอย่างไร สะกดอย่างไร อ่านอย่างไร ความหมายคืออะไร ชนิดของคำคืออะไร ซึ่งสำคัญต่อการนำไปแต่งประโยคใช้ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าปัจจุบันเราจะสามารถใช้พจนานุกรมผ่านเว็บไซต์ ผ่านแอปพลิเคชันได้ ไม่ต้องพกหนังสือที่หนาเป็นพันหน้าไปไหนมาไหน ก็ไม่ได้หมายความพจนานุกรมจะหมดประโยชน์ พจนานุกรมยังคงสำคัญ เพียงแต่เราไม่ได้สนใจจะใช้ประโยชน์จากมันเท่านั้นเอง

ทำไมภาษาเขียนควรใช้ภาษามาตรฐานที่มีแบบแผนบัญญัติไว้

ภาษาที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน โดยภาษาพูดไม่ได้หมายถึงแค่การพูดเปล่งเสียงออกมาจากปาก แต่ยังรวมถึงการเขียนในลักษณะที่ไม่ได้เป็นทางการ เช่น คุยกับเพื่อน คุยกับพ่อแม่ คุยกับใครก็ตามที่ไม่ได้ต้องการความเป็นงานเป็นการ ในสถานการณ์และบริบทปกติทั่วไป (แต่มีระดับการใช้ภาษาให้เหมาะกับบุคคล) แต่เมื่อใดก็ตามที่เราจะต้องติดต่อกับใครในเรื่องที่เป็นงานเป็นการ สถานการณ์และบริบทที่เป็นทางการ เราต้องเปลี่ยนภาษาที่ใช้เป็นภาษาเขียน ไม่ว่าจะสื่อสารด้วยการพูดหรือการเขียน

ภาษาเขียน เป็นภาษาที่มีลักษณะการใช้ที่เคร่งครัดในหลักทางภาษา เข้มงวดเรื่องไวยากรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเราจะใช้ในการติดต่อสื่อสารที่มีลักษณะเป็นทางการ แต่ก็จะมีการแบ่งย่อยอีกว่าเป็นทางการมากน้อยแค่ไหน เมื่อรูปแบบการใช้ภาษาเขียนจะเคร่งครัดกว่าภาษา จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานกำหนดไว้ ว่าแบบแผนของการใช้ภาษาเขียนเป็นอย่างไร เป็นระเบียบในการใช้ภาษาที่ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้สามารถใช้ติดต่อกันได้โดยทุกคนเข้าใจตรงกัน

พจนานุกรม คือแบบแผนภาษามาตรฐานที่ว่า ที่เมื่อเราต้องใช้ภาษาเขียน ให้อ้างอิงความถูกต้องของการใช้ภาษาตามพจนานุกรมเสมอ ไม่ว่าจะรู้สึกแปลกตากับการสะกดคำแค่ไหนก็ตาม เพราะมีประกาศของทางราชการให้ใช้เป็นแบบฉบับของการเขียนหนังสือไทยในราชการและในโรงเรียน

การใช้ภาษาเขียนแบบผิด ๆ ไม่เว้นแม้แต่สื่อมวลชน

ในการสนทนาด้วยภาษาพูด เราไม่ได้เคร่งครัดการใช้ภาษาเท่าภาษาเขียน ไม่ว่าจะการออกเสียง การเขียน เราสามารถเขียนสะกดคำแบบง่าย ๆ แบบที่ไม่ถูกหลักไวยากรณ์ แต่อ่านแล้วเข้าใจว่าหมายถึงอะไร ซึ่งก็อยู่ที่เราจะตกลงกับคู่สนทนา แต่ถ้าใช้เป็นภาษาเขียนก็ต้องใช้ให้ถูก โดยเฉพาะการสื่อสารที่มีความเป็นทางการ มีคนรับรู้จำนวนมาก หากใช้ภาษาไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ทำให้เข้าใจผิด เนื่องจากเราจะไม่ได้ยินน้ำเสียงและภาษากายของผู้ส่งสารจากตัวอักษร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายมากหากไม่ใช้ตามมาตรฐาน

การใช้ภาษาตามโซเชียลมีเดีย เมื่อเราพูดคุยกันปกติ เราไม่จำเป็นที่จะต้องพิมพ์หรือต้องพูดให้ถูก หากผู้รับสารเข้าใจตรงกันกับผู้ส่งสาร เป็นอันว่าการสื่อสารสัมฤทธิ์ผล ถึงกระนั้นก็ต้องระวังเรื่องการใช้คำผิดความหมาย เพราะจะทำให้การสื่อสารกำกวม คนสองคนอาจมีความรู้ด้านคลังคำและประสบการณ์การใช้คำศัพท์ที่ไม่เท่ากัน อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในการสื่อสารได้

ฉะนั้น การใช้พจนานุกรมหาความหมายของคำ จะช่วยให้เราใช้คำได้ถูกต้องกับการสนทนา พจนานุกรมจะบอกเสียงอ่าน การสะกดคำ ความหมายของคำ พจนานุกรมจะบอกชนิดของคำ เช่น คำนาม สรรพนาม เพื่อให้รู้หน้าที่ของคำ สามารถค้นหาประวัติของคำว่าเป็นคำยืมมาจากภาษาใด หรือเป็นคำโบราณ ซึ่งถือเป็นแบบฉบับในการเขียนภาษาให้ถูกต้องตามหลักภาษา

ภาพจาก Thai PBS News

อย่างไรก็ดี การใช้ภาษาผิด ไม่ได้หมายถึงแค่การสะกดคำผิดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้คำผิดความหมาย ใช้คำผิดระดับ ใช้ลักษณนามไม่ถูกต้อง เมื่อไม่นานมานี้ มีสำนักข่าวช่องหนึ่งเรียกลักษณนามของขลุ่ยว่า “ลำ” ทั้งที่จริง ๆ แล้วลักษณนามของขลุ่ยที่ถูกหลักภาษาคือ “เลา” ซึ่งการใช้ภาษาให้ถูกต้องมีความสำคัญกับอาชีพนักข่าวหรือสื่อมวลชนมาก เราไม่ได้คาดหวังการใช้ภาษาที่ถูกต้องจากคนทั่วไป แต่ในฐานะสื่อที่มีเรื่องของความน่าเชื่อถือ ความเป็นทางการ นำเสนอข้อเท็จจริง ก็ย่อมถูกคาดหวังว่าจะต้องใช้ภาษาให้ถูก เพื่อเป็นตัวอย่างในการสื่อสารที่ดี

หากเป็นการสื่อสารที่เราพูดคุยกับเพื่อน เราจะเรียกลักษณนามของขลุ่ยว่า “อัน” กับเพื่อนก็ได้ไม่ใช่เรื่องแปลก หากเพื่อนเข้าใจตรงกันกับเรา แต่ในฐานะนักข่าวที่ผ่านการเรียนเรื่องการใช้ภาษามาอย่างเข้มข้น และต้องใช้สื่อสารกับมวลชน ถึงการใช้ลักษณนาม “อัน” จะเข้าใจได้ตรงกัน แต่ก็ไม่ใช่ภาษาที่ถูกต้องตามแบบแผน เมื่อต้องใช้ภาษาอย่างเป็นทางการ ไวยากรณ์และแบบแผนเป็นเรื่องสำคัญ

ดังนั้นแล้ว ในการทำงานของสื่อที่ดี ควรจะเช็กการใช้ภาษาให้ถูกต้อง เพื่อความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพในหน้าที่การงาน หากการใช้ภาษาของสื่อทำให้คนทั่วไปรู้สึก “เอ๊ะ!” ได้ นั่นก็หมายความว่าสื่อนั้น ๆ ถูกลดความน่าเชื่อถือลงไปมากพอสมควร แสดงให้เห็นถึงการไม่ทำการบ้านให้ดีทั้งที่เป็นอาชีพของตนเองที่ต้องระวัง เนื่องจากอาจทำให้การสื่อสารมีปัญหา ผิดพลาด และไม่สัมฤทธิ์ผล ที่สำคัญคือ ภาพลักษณ์ในฐานะที่เป็นสื่อ ที่ยังใช้ภาษาผิด ๆ ในขณะที่คนทั่วไปยังใช้ได้ถูกต้องกว่า

ก่อนวิจารณ์ว่าใครใช้ภาษาผิดหรือถูก ให้เช็กก่อนด้วย

ทุกวันนี้เรามักจะเจอผู้รู้มากมายในโซเชียลมีเดีย มีทั้งการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กันดี ๆ แต่แบบที่ใช้อารมณ์และความหยาบคายก็มีมาก บ่อยครั้งที่เราเห็นว่ามีการใช้ภาษาผิด บางคนรับบทเป็น “ผู้รู้” เข้าไปสอน ซึ่งจริง ๆ แล้วการแนะนำให้เขียนให้ถูกต้องเป็นเรื่องดี แต่ในบางกรณี เราสามารถอ่านน้ำเสียงได้ว่าไม่ใช่การชี้แนะ แต่เป็นการจงใจให้ขายหน้า หรืออวดรู้มากกว่า และที่จริง หากเป็นการใช้ภาษาในโซเชียลมีเดียที่คนทั่วไปใช่บ่นเรื่องราวของตนเอง ก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาให้ถูกต้องเป๊ะ ๆ ตราบที่ไม่ได้ใช้ภาษาเพื่อประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูล หรือให้ความรู้

ที่สำคัญ ก่อนจะทำตัวเป็นผู้รู้เข้าไปวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษาของใคร ที่เขาอาจจงใจเขียนไม่ถูก ควรทำการบ้านมาให้ดี เช็กก่อนว่าจริง ๆ แล้ว ที่ตั้งใจจะไปเตือนเขา ตนเองใช้ถูกต้องหรือเปล่า โดยให้อ้างอิงตามพจนานุกรมเล่มล่าสุดที่ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ หากต้องการความถูกต้องตามแบบแผนมากที่สุด ให้อ้างอิงจากเล่มปัจจุบัน ที่ปรับปรุงล่าสุดเท่านั้น ถ้าไม่เช็กก่อนก็ไม่ควรไปตักเตือนใคร เพราะอาจถูกย้อนกลับมาว่าไม่เช็กให้ดีก่อน “ฉอด”

ภาษาวัยรุ่น คำสแลง ไม่ได้ทำให้ภาษาวิบัติแต่ประการใด

ตามการศึกษาของนักภาษาศาสตร์ มองว่าภาษาวัยรุ่น คำสแลงต่าง ๆ ไม่ได้มีผลทำให้ภาษาไทยวิบัติ เพราะเราไม่ได้ใช้ภาษาลักษณะนี้ในภาษาเขียน ใช้กันในภาษาพูดเท่านั้น อีกทั้งพวกภาษาวัยรุ่น คำสแลง ก็เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นกับทุกภาษา ที่เรียกว่าการเปลี่ยนแปลงทางภาษา มีคำใหม่เกิดขึ้นมา ใช้กันอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็จะหายไป ภาษาเหล่านี้เป็นคำศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นมา โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มีภาษาเฉพาะ เมื่อมีการใช้คำรูปแบบใหม่ ๆ ทำให้มีคำศัพท์ใหม่นิยามขึ้นมา แต่เมื่อหมดยุคการใช้คำศัพท์นั้น ภาษานั้นก็จะตกรุ่นและหมดความนิยมไปเอง

การเปลี่ยนแปลงทางภาษา เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของภาษา ภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจะมีแนวโน้มการใช้งานที่ยืนยาวกว่าภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยหรือไม่เปลี่ยนแปลงเลย เพราะมีปัจจัยทางสังคมและด้านกายภาพเข้ามาเป็นตัวแปร เมื่อโลกเปลี่ยนไป เกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้าน คนเองก็เด็กรุ่นใหม่ ๆ ก็มักจะมีคำศัพท์ใหม่ขึ้นมาใช้ในช่วงเวลานั้น ๆ ภาษาวัยรุ่นหรือคำสแลงบางคำถูกบัญญัติในพจนานุกรมด้วยซ้ำ แต่หากคำเหล่านี้เลิกใช้กันในอนาคต พจนานุกรมฉบับปรับปรุงใหม่ก็จะถอดคำเหล่านี้ออกเช่นกัน

นักภาษาศาสตร์จึงมองว่าหากภาษาใด ๆ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ผู้ใช้ภาษาไม่นำภาษามาดัดแปลงใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไปเลย อาจทำให้ภาษานั้นหยุดนิ่งและไม่มีพัฒนาการ ในที่สุดภาษาอาจตายได้ และการเปลี่ยนแปลงทางภาษานี่เองที่ทำให้ภาษาวัยรุ่นหรือคำสแลงบางคำถูกบัญญัติลงพจนานุกรม เพื่อให้เข้ากับการใช้ภาษาตามกาลเวลาที่เปลี่ยนไป ภาษาไทยจึงเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มคนที่ใช้ภาษาไทย ตามเทคโนโลยีต่าง ๆ และเด็กรุ่นใหม่

ฉะนั้น เมื่อต้องการสื่อสารในลักษณะที่เป็นทางการ เราจำเป็นต้องใช้ภาษาเขียน และย่อมต้อง (พยายาม) ใช้ภาษาที่ถูกต้องตามพจนานุกรมอยู่แล้ว พวกภาษาวัยรุ่น คำสแลง ไม่ได้รับการยอมรับในภาษาเขียน เนื่องจากไม่ถูกต้องตามหลักภาษา จึงไม่ต้องกังวลว่าภาษาวัยรุ่นจะทำให้ภาษาไทยวิบัติ มันมีขึ้นมาใช้ช่วงหนึ่ง แล้วเดี๋ยวก็หายไปเอง

ฉะนั้น การใช้ภาษาโดยทั่วไป ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสะกดถูกต้องตามพจนานุกรมทุกคำ อยู่ที่วัตถุประสงค์ของการสื่อสาร หากเป็นการสื่อสารที่ไม่เป็นทางการ คู่สนทนาตกลงกันแล้วว่าเข้าใจตรงกัน ก็ไม่จำเป็นต้องสะกดถูก แต่ต้องระวังเรื่องความหมายของคำ ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีวรรณยุกต์ เสียงวรรณยุกต์ที่เปลี่ยนไปทำให้ความหมายคำเปลี่ยนด้วย หากใช้วรรณยุกต์ผิดความหมายเปลี่ยน การสื่อสารอาจคลาดเคลื่อนเพราะเข้าใจไม่ตรงกัน นี่จึงสำคัญมากว่าทำไมเราต้องใช้ “คะ ค่ะ” ให้ถูกตามแบบแผน เพราะวรรณยุกต์ตัวเดียว ทำให้ 2 คำนี้ความหมายไม่เหมือนกัน

ส่วนในการสื่อสารที่เป็นทางการด้วยภาษาเขียน ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องรณรงค์ให้ใช้กันให้ถูกต้อง เพื่อให้เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ป้องกันการเข้าใจผิดและการสื่อสารผิดพลาด โดยสิ่งที่ใช้อ้างอิงว่าถูกหรือไม่ถูกก็คือ “พจนานุกรม”