“รถไฟฟ้าความเร็วสูง” อีกครั้งที่ “ม. 44” คือบทสรุปของการแก้ปัญหา

ภาพจาก www.chinadaily.com

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่มีเส้นทางเชื่อม 4 ภูมิภาคหลักของประเทศ กลับมาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีคำสั่งให้ใช้มาตรา 44 ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้การดำเนินเส้นทางสายแรก กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร งบประมาณ 1.79 แสนล้านบาท เดินหน้าต่อไปได้

โดยมีคำสั่งให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทําสัญญาจ้าง National Development and Reform Commission รัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวแทนของจีน  ในการดําเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งเรื่องงานออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา,  งานที่ปรึกษาควบคุมงานการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา และงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร

เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังมีคำสั่ง ม.44

จากคำสั่ง ม.44 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา โดยเฉพาะประเด็นยกเว้นข้อกฎหมายของไทยที่ระบุว่า วิศวกรและสถาปนิกจะต้องมีใบอนุญาตประกอบอาชีพวิศวกรรมหรือสถาปัตยกรรมจากไทย เพื่อให้บุคลากรจากจีนสามารถเข้ามาทำงานได้ โดยไม่ต้องอยู่ในข้อบังคับมาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และ มาตรา 45 มาตรา 47 และมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพ ให้กระทรวงคมนาคมประสานให้สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจัดให้

กรณีดังกล่าว ส่งผลให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย และสภาวิศวกรออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วย ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก “องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น” ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ม.44 ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฮั้วประมูล  นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ change.org ยังมีการเรียกร้องให้คนไทยทุกคนลงชื่อสนับสนุนให้ “หยุดโครงการรถไฟไทย-จีน ต้องเปิดประมูลอย่างโปร่งใสเท่านั้น” ด้วย เพราะมองว่า การที่โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน มีขึ้นด้วยวิธีเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลจีนเป็นรูปแบบที่ไม่โปร่งใส  และควรเปิดให้ผู้สนใจเข้าแข่งขันการประมูลเพื่อให้ไทยได้ระบบเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของโลกมาใช้

คมนาคมยืนยันบุคลากรไทยมีส่วนร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แม้คำสั่ง ม. 44 ดังกล่าว จะเป็นการยกเว้นข้อกฎหมายต่างๆ ที่เป็นอุปสรรค และทำให้งานดำเนินล่าช้า  แต่ยืนยันว่าในสัญญากำหนดให้บุคลากรของไทยมีส่วนร่วมทั้งงานก่อสร้าง และการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง จึงไม่ต้องมีความกังวลใดๆ

ล่าสุด นายกวิศวกรรมสถานฯ และนายกสภาวิศวกร ได้เข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เพื่อหาทางออกแล้ว ซึ่งทั้งสององค์กรไม่มีปัญหากับการออกคำสั่ง ม.44 ยกเว้นให้วิศวกรจีนไม่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ  แต่ต้องการให้ทางจีนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศวกรรมสถาน มหาวิทยาลัยของรัฐ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และให้วิศวกรไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อสร้างร้อยละ 30 รวมถึงใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไทยด้วย พร้อมทั้งยืนยันว่าที่คัดค้านในตอนแรก ไม่ใช่เรื่องของผลประโยชน์ แต่มองว่า วิศวกรไทยควรรับรู้ในเรื่องดังกล่าวด้วย  เพราะหากมีปัญหาขึ้นมาภายหลังจะได้แก้ไขได้

และถึงแม้บุคลากรของจีนจะไม่ต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ แต่จะต้องผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่คณะกรรมการ 5 ฝ่าย ที่กระทรวงคมนาคมจะจัดขึ้นด้วย ทั้งหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคนิค และหลักสูตรเกี่ยวกับกฎหมาย ความปลอดภัยและจริยธรรมของไทย รวมถึงต้องเคารพกฎหมายวิศวกรไทย และให้ความสำคัญกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีอย่างจริงจัง

ชาวเน็ตมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ด้านชาวเน็ตก็มีการตั้งกระทู้ถามในพันทิปเช่นกันในหัวข้อที่ว่า “คุณคิดอย่างไรกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงกับประเทศไทย” ซึ่งมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่า ควรทำถนนและระบบขนส่งที่มีอยู่ให้ดีเสียก่อน รวมถึงมองว่าฐานะคนไทยส่วนใหญ่ ยังไม่มีเงินมากพอที่จะสู้ราคาค่าตั๋วได้

ขณะที่คนเห็นด้วย  มองว่าจะช้าจะเร็วก็ต้องมีระบบขนส่งแบบนี้อยู่ดี  เพราะรวดเร็ว สะดวก ปลอดภัย อีกทั้งยังส่งผลให้มีความเจริญและการว่าจ้างงานตามมาด้วย แต่ถึงกระนั้นราคาโดยสารก็ไม่ควรสูงเกินราคาตั๋วเครื่องบิน

โครงการเดินหน้า แต่ยังถูกจับตามอง

เมื่อข้อกังขาถูกปัดตกไป  ทำให้การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 19 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน น่าจะมีขึ้นตามกำหนดการเดิมในระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค. นี้ เพื่อหารือสรุปรายละเอียดร่างสัญญาฉบับที่ 2.1 ว่าด้วยการว่าจ้างรัฐวิสาหกิจจีนออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาในเดือน ก.ค.  ก่อนที่ฝ่ายจีนจะส่งมอบให้ไทยเปิดประมูลก่อสร้างระยะ 3.5 กิโลเมตรแรก (ช่วงกลางดง-ปางอโศก)  และเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ก.ย. นี้

อย่างไรก็ตาม การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหาเกือบจะทุกเรื่อง ทำให้หลายฝ่ายยังคงจับจ้องว่า หลังจากนี้จะมีเรื่องใดอีกหรือไม่ที่เปิดช่องให้ใช้ ม.44 ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

…เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีประกาศคำสั่งออกมา ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ คำสั่งม.44 ของหัวหน้าคสช.ถือเป็นอันสิ้นสุดของบทสรุปในทุกปัญหา