การตกงานในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอย และมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในเวลานี้ ทำให้หลายคนต้องเผชิญกับความยากลำบากในการใช้ชีวิต เพราะรายได้ก็ไม่มี รายจ่ายก็ไม่ลด
หากใครที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ นี่คือ 7 วิธีในการหาเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ที่น่าจะเป็นประโยชน์ในขณะที่ยังตกงานอยู่ได้
ใช้ทักษะที่มีอยู่หารายได้
หากคุณมีทักษะเฉพาะทางจากงานที่เคยทำอยู่ ลองนำทักษะเหล่านั้นมาใช้สร้างรายได้ให้กับตัวเอง ด้วยการหางานฟรีแลนซ์ทำ ซึ่งหากความสามารถที่มีตรงกับที่บริษัทต้องการ ก็จะทำให้ความรู้ที่เรามีอยู่ไม่สูญเปล่า
โดย Upwork และ Freelancer ถือเป็นเว็บไซต์ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับหางานฟรีแลนซ์ หากใครมีทักษะภาษาอังกฤษดีอยู่แล้ว โอกาสได้ร่วมงานกับบริษัทใหญ่ ๆ ก็อยู่แค่เอื้อม ส่วนเว็บไซต์หางานฟรีแลนซ์ในบ้านเราก็มีเช่นกัน ทั้ง Fastwork ที่มีงานหลากหลายสาขาอาชีพ และ Freelance Bay ที่สามารถสร้างโปรไฟล์ รวมถึงฝากผลงานของตนเองไว้ได้ หากตรงกับความสนใจของผู้ว่าจ้างก็จะได้รับการติดต่อกลับมา
อะไรที่ไม่จำเป็นก็ขายทิ้ง
วิธีหาเงินได้ที่เร็วที่สุดในยามที่เงินขาดมือ คือการขายของใช้ที่ไม่จำเป็นของตัวเองไปเสีย เพื่อแปรสภาพจากสิ่งของให้เป็นเงินสด ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ของใช้ในบ้าน กระเป๋า เสื้อผ้า รองเท้า ที่ยังสภาพดีอยู่ ซึ่งหากไม่อยากไปเข้ากลุ่มขายของมือสองตามเพจต่าง ๆ ก็สามารถไลฟ์ผ่านแพลทฟอร์มในโซเชียลมีเดียของตนเอง เพื่อขายของให้กับเพื่อนฝูง คนรู้จักในเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมก็ได้เช่นกัน
หรือหากต้องการซื้อของชิ้นใหม่โดยไม่อยากเสียงเงิน เว็บไซต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon ก็มีบริการ Amazon Trade-In ที่สามารถนำสินค้าเก่ามาแลกเป็นคูปองเงินสดได้ ซึ่งทางเว็บไซต์จะตีราคาตามสภาพของสิ่งของ และมอบคูปองเงินสดให้เพื่อนำมาใช้ซื้อสินค้าใน Amazon ได้
ไม่ละเลยเงินชดเชยจากการว่างงาน
เมื่ออยู่สถานะว่างงานแล้ว ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินประกันสังคมตามมาตรา 33 อย่าลืมไปขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่เว็บไซต์กรมการจัดหารงาน >> คลิกที่นี่ เพื่อรับเงินชดเชยกันด้วย ซึ่งหากจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมาไม่น้อยกว่า 6 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน จะได้รับสิทธิประโยชน์ดังต่อไปนี้
- กรณีถูกเลิกจ้าง – รับ 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 200 วัน / ปีปฏิทิน
- กรณีลาออก / สิ้นสุดสัญญาจ้าง – รับ 45 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน / ปีปฏิทิน
ไม่เลือกงาน ไม่ยากจน
การหางานใหม่ในภาวะที่ตนเองกำลังตกงาน อาจจะต้องมองข้ามเรื่องการหางานในฝันไว้ก่อน เพราะนั่นอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการหางานของคุณได้ เพราะบางบริษัทอาจกำลังต้องการจ้างพนักงานอย่างเร่งด่วน หรือในบางกรณีก็อาจจะมีบริษัทที่สามารถสมัครงานได้อย่างง่ายดาย โดยไม่จำเป็นต้องยื่นเรซูเม่ในการสมัคงานเสียด้วยซ้ำ ขอแค่ไม่เลือกงานก็จะมีเงินเข้ากระเป๋าในยามที่ยากลำบากอย่างแน่นอน
สำหรับวิธีหางานให้ได้รวดเร็วที่สุด คือการเข้าเว็บไซต์หางานที่รับสมัครงานในตำแหน่งที่ต้องการจ้างงานทันที ซึ่งจะเพิ่มโอกาสในการได้งานมากขึ้น โดยอาจจะใช้คำค้นเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น รับสมัครด่วน, Hiring Now เพื่อค้นหาชื่อบริษัทที่กำลังต้องการได้พนักงานอย่างเร่งด่วน
พร้อมเริ่มงานได้ทันที
เมื่อสมัคงานที่ใดก็ตาม อย่าลืมแจ้งด้วยว่าคุณพร้อมเริ่มงานได้ทันที ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสได้งานมากขึ้น ซึ่งในเว็บไซต์สมัคงานบางแห่งจะมีช่องให้เลือกด้วยว่าสามารถทำงานได้ทันทีหรือไม่
ขณะที่เว็บไซต์หางานชื่อดังอย่าง LinkedIn ก็มีฟีเจอร์ Open to Work ที่ให้ผู้สมัครงานสามารถอัพเดทสถานะว่าพร้อมรับงาน ในรูปโปรไฟล์ของตนเองที่ติดแฮชแท็ก #OpentoWork ซึ่งจะช่วยให้บริษัที่กำลังหาพนักงานรับทราบว่าคุณพร้อมเริ่มงานได้ทันที โดย LinkedIn ระบุว่าวิธีการนี้ช่วยเพิ่มโอกาสในการรับข้อเสนอจากบริษัทต่าง ๆ เพิ่มขึ้นถึง 40 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
หางานพาร์ทไทม์ หรืองานชั่วคราว
การหางานพาร์ทไทม์ หรืองานรับจ้างที่ทำงานในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่งทำไปก่อน ถือเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้คุณในระหว่างที่กำลังหางานประจำไปพลาง ๆ
โดยเว็บไซต์หางานต่าง ๆ มักจะมีประกาศรับสมัครพนักงานพาร์ทไทม์อยู่เสมอ อาทิ เว็บไซต์ JobThai, JobBKK, JobTH รวมถึง LinkeIn ด้วย หรือจะเข้าเว็บ Search Engine อย่าง Google และใส่คำค้นว่า “งานพาร์ทไทม์” ก็ได้เช่นกัน
หางานที่สามารถทำที่บ้านได้
ปัจจุบันการทำงานแบบ Remote Work หรือการทำงานทางไกล โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หลายคนสามารถหารายได้จากการทำงานอยู่ที่บ้านหรือ Work from Home ได้ง่ายขึ้น
โดยมีเว็บไซต์หางานหลายแห่งที่ สามารถใส่คำค้นว่า “Work from Home” หรือ “Remote” แต่มักจะเป็นเว็บไซต์ต่างประเทศ อาทิ Indeed และ Monster สำหรับเว็บไซต์หางานในบ้านเรานั้น บางบริษัทจะระบุเงื่อนไขไว้ว่าสามารถทำงานที่บ้านได้ หรือไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน
อ้างอิงข้อมูล : thebalancecareers.com / สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน