เราอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ก็สถาปนาตนเองได้ 

สัปดาห์ที่แล้วได้มีโอกาสตั้งใจดูละคร “เล่ห์ลวง” ทางช่องวัน 31 เป็นการรับชมแบบตั้งใจดูไม่หยิบรีโมทกดสลับไปช่องอื่นแบบที่ผ่านมา ดูไปสักพักถึงกับร้อง “โอ้โห” เพราะนี่เป็นละครที่มีการเขียนบทได้ทันสมัยมาก และทำให้ผู้เขียนซึ่งเป็นแฟนละครไทย ขอใช้พื้นที่คอลัมน์ของตนเองในการให้คอลัมน์วันนี้เพื่อให้กำลังใจทีมเขียนบท ที่พอจะทราบมาว่าเป็นทีมเขียนบทรุ่นใหม่ไฟแรงของทางช่องวัน จะได้ให้ผลิตงานคุณภาพแบบนี้ออกมาอีกเรื่อย ๆ ค่ะ

เนื้อหาของบทละคร “เล่ห์ลวง” นั้นไม่ใช่แค่เรื่องราวความรักระหว่างนางเอกสุดอาภัพ ที่เทพีแห่งโชคไม่เคยยืนเคียงข้าง แล้วโชคดีมาเจอพระเอกหล่อรวยขี่ม้าขาวมาช่วยอย่างเดียว แต่กลับมีมิติให้ดูได้หลายแง่มุมมาก เลเยอร์ในตัวบทละคร สะท้อนชีวิตคนในปัจจุบันที่ขาดที่พึ่งทางใจต้องพึ่งพาไลฟ์โค้ช การแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดีย ที่เห็นความทุกข์ของคนอื่นเป็นการสำเร็จความใคร่ทางอารมณ์ หรือแม้กระทั่งความรักของครอบครัว ที่สุดท้ายแล้วพ่อแม่ก็ยังเป็นเบาะรองรับทุกครั้งที่ลูกผิดพลาดกลับมา

ถ้าใครยังไม่เคยดูละครเรื่อง “เล่ห์ลวง” อยากจะแนะนำให้ลองรับชมกันค่ะ โดยเฉพาะในพาร์ทของไลฟ์โค้ชสาว “วีนัส” ที่แสดงโดย “เชียร์” ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ สิ่งที่เราได้เห็นในละคร แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดของวงการไลฟ์โค้ช แต่ก็ทำให้คนดูอย่างเราท่านน่าจะพอสะดุดใจคิดได้ว่า “ชีวิตเราต้องการไลฟ์โค้ช” จริง ๆ หรือ หรืออาจต้องตั้งคำถามกับตนเอง เหมือนกับหัวคอลัมน์ในวันนี้ว่า “เราอยู่ในยุคที่ใคร ๆ ก็สถาปนาตนเองได้” จริง ๆ หรือ

สังคมทุกวันนี้ ผู้คนเข้าถึงกันได้ง่ายขึ้น มีเครื่องมือสื่อสารติดต่อกันได้อย่างง่ายดาย สมาร์ทโฟนเครื่องเดียวเป็นได้แทบทุกสิ่ง ทั้งโทรศัพท์ โทรทัศน์ ฟังเพลง ธนาคาร ติดต่อแบบข้อความ ห้องแชตที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ชอบแสดงความคิดเห็น… เป็นโลกที่ดูเหมือนจะไม่มีคนเหงานะคะ แต่ความเป็นจริงแล้ว ยิ่งโลกเชื่อมต่อกันได้ง่ายดายเท่าไร คนเหงายิ่งเพิ่มขึ้นเท่าทวีคูณ และความเหงา ก็ทำให้ใจคนเราเปราะบางได้ง่ายขึ้น และนั่นคือจุดอ่อนที่น่ากลัวที่สุด

เนื้อหาในละคร “เล่ห์ลวง” ได้สะท้อนให้เห็นภาพของสังคมปัจจุบันได้อย่างชัดเจน ในวันที่นางเอกของเรื่องนั่งร้องไห้เพราะทะเลาะกับแฟน ถูกพ่อแม่ดุด่า ยอดขายของออนไลน์ไม่เดิน หนำซ้ำยังโดนทวงค่าเช่าบ้านอีก ชีวิตที่เหมือนเดินมากลางทะเลทราย ร่างกายขาดน้ำมาหลายวัน พอเห็นภาพลวงตาข้างหน้า ก็นึกว่าเป็นของจริง พยายามเดินเข้าไปตักน้ำมาดื่ม แท้จริงแล้วก็เป็นเม็ดทรายที่ทำให้ร่างกายพังเข้าไปอีก

ชีวิตแบบ “ไอ” ที่แสดงโดย ปุ๊กลุก ฝนทิพย์ มีให้เห็นเยอะนะคะในสังคมปัจจุบัน เช่นเดียวกับไลฟ์โค้ชอย่าง “พี่วีนัส” ที่มีคนสถาปนาตนเองขึ้นมาไม่น้อย เอาเข้าจริงก็เห็นกันแทบทุกวันผ่านหน้าฟีดในโซเชียลมีเดีย ไม่เพียงแค่การสถาปนาตนเองมาเป็นไลฟ์โค้ชเท่านั้น เราจะได้เห็นใครก็ไม่รู้ ไม่ปรากฏประวัติการศึกษา การทำงาน หรือความสำเร็จที่พวกเขาเคยทำ สถาปนาเป็นกูรู ชนิดที่ผู้เขียนยังต้องรู้สึก “เอ๊ะ”

ที่ต้อง “เอ๊ะ” เพราะมีคำถามว่าทำไม่เขาถึงกล้าเปิดคอร์ส ทำไมเขาถึงกล้าที่จะบอกว่าตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยที่ไม่ปรากฏว่ามีปูมหลังเคยมีความเชี่ยวชาญเรื่องนั้น ๆ เชื่อเถอะค่ะว่าเราอยู่ในยุคที่ต้องรู้สึก “เอ๊ะ” ให้เร็วนะคะ ไม่อย่างนั้นสิ่งที่จะได้เจออาจเป็นภาพลวงตากลางทะเลทรายที่เรียกว่าปรากฏการณ์ มิราจ (Mirage) ก็ได้

บรรทัดสุดท้ายก่อนจากกันในสัปดาห์นี้ยังคงชวนให้ดูละครเรื่อง “เล่ห์ลวง” ค่ะ จะได้สร้างความรู้สึก “เอ๊ะ” กันและจะได้สะท้อนให้เห็นว่าสังคมเรานั้น รู้เท่าทันเหมือนดังที่เคยมีนักสื่อสารคนหนึ่งกล่าวไว้ว่า “อยากรู้ว่าบ้านเมืองไหนเป็นอย่างไรให้ดูสื่อที่พวกเขาเสพ”

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ