รู้จัก “กำไลอีเอ็ม” อิสรภาพของผู้ต้องขังนอกเรือนจำ

การได้รับอิสรภาพจากเรือนจำหรือทัณฑสถานของผู้ต้องขังนั้น นอกจากกรณีพ้นโทษแล้ว ก็ยังมีกรณี “พักการลงโทษ” เหมือนเช่นที่ สรยุทธ  สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวคนดังที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาศาล โดยได้รับการพักโทษกรณีมีเหตุพิเศษ

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำแล้ว แต่เมื่อยังเหลือโทษจำคุกอีก 2 ปี 4 เดือน 14 วัน จึงต้องใส่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronics Monitoring) หรือที่เราเรียกกันว่า “กำไลอีเอ็ม” เพื่อให้กรมควบคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรมสามารถตรวจสอบการเดินทางและติดตามตัวได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะไม่อนุญาตให้ถอดออกโดยพลการ

“กำไลอีเอ็ม” คืออะไร?

กำไลอีเอ็มเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยตัวชัวคราว มีลักษณะคล้ายนาฬิกาหรือสายรัดข้อเท้า โดยจะมีตัวอุปกรณ์ส่งและรับสัญญาณ เพื่อให้ศูนย์ควบคุมการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EMCC)ของกรมประพฤติ สามารถตรวจสอบการเดินทางของผู้สวมใส่อุปกรณ์ได้แบบเรียลไทม์

ประเทศไทยเพิ่งมีการนำกำไลอีเอ็มมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว ขณะเดียวกันก็เป็นการลดปัญหาความแออัดในเรือนจำด้วย ซึ่งปัจจุบัน (สถิติมี.ค.2564) มีนักโทษและผู้ต้องขังมากกว่า 2.73 แสนราย เมื่อเทียบกับเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขังที่มีเพียง 143 แห่งทั่วประเทศ

มั่นใจได้แค่ไหนว่าปลอดภัย?

เมื่อยังไม่พ้นโทษ แต่ออกมาอยู่นอกห้องขังได้ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าบุคคลเหล่านี้จะเป็นอันตรายต่อสังคมหรือไม่ เพราะอาจจะทำลายกำไลอีเอ็ม และหลบหนีการติดตามจากกรมควบคุมประพฤติไปแบบลอยนวล

แม้ที่ผ่านมามีความพยายามจากผู้กระทำผิดบางส่วน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะทันทีที่อุปกรณ์ถูกตัดหรือทำลาย จะส่งสัญญาณเตือนไปที่ศูนย์ควบคุมการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ทันที รวมถึงความพยายามหลบหนีออกนอกพื้นที่ควบคุมด้วย ซึ่งคนที่ฝ่าฝืนจะถูกเพิกถอนคุมประพฤติและถูกส่งตัวกลับเข้าเรือนจำทันที

กำไลอีเอ็มให้ใครใช้?

นอกจากใช้สำหรับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ เพื่อป้องกันผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีแล้ว กำไลอีเอ็มจะใช้สำหรับติดตามตัวกับผู้ถูกคุมประพฤติใน 3 กลุ่มหลักด้วยกัน

  • ผู้ถูกคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56
  • ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545
  • กลุ่มนักโทษเด็ดขาดที่ได้รับการพักการลงโทษตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ

“กำไลอีเอ็ม” เปิดโอกาสให้ใช้ชีวิตปกติ

แม้ว่าต้องใส่กำไลอีเอ็มไว้ตลอดเวลาไม่สามารถถอดออกได้ และห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ที่กำหนดไว้ แต่เมื่อเทียบกับอิสรภาพที่ได้รับนอกเรือนจำแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่นักโทษทุกคนยินดีแลก เพราะทำให้พวกเขาได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติ และเป็นการเปิดโอาสให้กลับคืนสู่สังคมได้เร็วขึ้น

อีกทั้ง การถูกจับตามองตลอด 24 ชั่วโมง ยังเป็นการปรับพฤติกรรมของผู้ที่ใส่กำไลอีเอ็มให้ดีขึ้นด้วย เพราะมีกำไลอีเอ็มเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้กระทำผิดอีก ซึ่งกระทรวงยุติธรรมพบว่านักโทษมีการเคารพกฎระเบียบสังคมที่มากขึ้น กลับบ้านตรงเวลา และขับขี่ดีขึ้น ทำให้ครอบครัวก็มีความสุขมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นการให้โอกาสสำหรับผู้ต้องขังที่ยากจนไม่มีเงินประกันตัวด้วย จากเดิมที่ต้องรับชะตากรรมติดคุกโดยไม่มีทางเลือก จึงเท่ากับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย