สังเกตบ้างหรือไม่ว่าการอยู่ร่วมกันในสังคมทุกวันนี้ไม่ค่อยจะสงบสุข ด้วยปัจจัยหนึ่งที่เอาเรื่องของคนอื่นมาเป็นปัญหาของตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องของรูปร่างหน้าตา หลายต่อหลายครั้ง มีคนถูกทำร้ายจิตใจด้วยคำว่า “ไม่สวย ขี้เหร่ น่าเกลียด ทุเรศ” เพราะรูปร่างหน้าตาของเขาไม่เป็นไปตาม “มาตรฐานหรือนิยาม” ที่สังคมสมมติขึ้นมาเอง
เรื่องของความสวยความงาม เป็นนามธรรมที่ไม่สามารถตัดสินออกมาเป็นค่าได้ คนทุกคนไม่ได้ชอบอะไรเหมือนกัน ถูกใจเราอาจไม่ถูกใจคนอื่น ถูกใจคนอื่นแต่ไม่ถูกใจเราก็มีอยู่ทั่วไป แต่ในเมื่อไม่ถูกใจ ก็ไม่เห็นจะต้องไปแสดงความคิดเห็นในแง่ลบเพื่อทำร้ายใคร เรามีสิทธิ์ที่จะคิด มีสิทธิ์ที่จะไม่ชอบ แต่ไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใคร
มาตรฐานความงาม มาตรฐานที่สังคมมโนขึ้นมาเอง
นั่นเป็นเพราะไม่มีอะไรที่มาเป็นเกณฑ์วัดระดับหรือตัดสินความสวยความงามของอื่น แต่ความสวยความหล่อที่เราใช้มองคนอื่น เป็น “ปัจเจก” ของแต่ละคน ซึ่งความชอบของคนเรานั้นไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ หากเรากับเพื่อนเจอผู้ชายคนหนึ่งพร้อมกัน เราอาจจะบอกว่าหล่อ ก็เพราะเราชอบผู้ชายหน้าตาแบบนี้ แต่เพื่อนอาจเฉย ๆ เพราะเพื่อนชอบผู้ชายอีกแบบ เพราะฉะนั้น “ความชอบส่วนตัว” นำมาเป็นมาตรฐานตัดสินคนไม่ได้
และอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการสร้าง Beauty Standard ขึ้นในสังคม คือภาพมายาที่ถูกผลิตซ้ำ ๆ ของอุตสาหกรรมความงาม ที่มักจะโฆษณาตอกย้ำในจุดด้อยของตัวเราเสมอ คนที่สวยจะต้องผอม ต้องขาว เพื่อให้เกิดการตัดสินใจซื้อในผลิตภัณฑ์หรือบริการ หรือการทำศัลยกรรมให้สวยอย่างที่เขาว่ากัน ทั้งหมดนี้เหมือนการล้างสมองด้วยความงามในอุดมคติที่ไม่มีอยู่จริง ภาพที่ใช้ในการโฆษณาไม่มีภาพใดที่ไม่ผ่านการแต่งภาพ
ด้วยอำนาจของสื่อต่าง ๆ ที่นิยามความงามด้วยมาตรฐานที่แคบลงเรื่อย ๆ ใครที่หลุดจากมาตรฐานดังกล่าวแปลว่าไม่สวย ไม่หล่อ ทำให้หลายคนขาดความมั่นใจในตัวเอง พลังอื่น ๆ ลดลง จนต้องหาวิธีทำให้ตัวเองมั่นใจขึ้นมา ทั้งที่การที่คนเราอยากจะสวย อยากจะหล่อ ควรเป็นไปในแบบที่เขาชอบ เขาพอใจ เขาอยากจะเป็น ไม่ใช่สังคมมาตีกรอบให้เขาต้องเป็น
สวยหล่อไม่ถูกใจก็ไม่ต้องมอง บูลลี่ทำไม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า Beauty Standard เป็นสาเหตุหนึ่งของการบูลลี่ เริ่มมาจากการที่เห็นคนที่สวยหล่อ “ไม่ถูกใจตนเอง” ในความเป็นจริงจะปล่อยผ่านไปก็ได้ ไม่ชอบแบบนี้ก็ไม่ต้องมองก็ได้ แต่หลายคนไม่ทำเช่นนั้น เลือกที่จะไปมีปัญหาหรือไปเดือดร้อนกับรูปร่างหน้าตาของคนอื่นเขา และมองว่าเป็นเรื่องตลกขบขัน
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีหลายต่อหลายข่าวที่น่าสะเทือนใจในสังคม เมื่อรูปร่างหน้าตาของคนอื่นดันไปเป็นปัญหาสำหรับใครหลาย ๆ คน เริ่มจากข่าวภรรยาหลวงบุกงานแต่งสามีตัวเองที่แต่งงานซ้อน กรณีนี้คนส่วนใหญ่เห็นใจฝ่ายภรรยาหลวงที่โดนนอกใจไม่พอ ยังถูกเยาะเย้ยด้วยการแต่งงานใหม่ซ้อน แต่ก็ไม่วาย มีคนเข้ามาคอมเมนต์สนุกปากว่า เพราะตัวภรรยาหลวงนั้นปล่อยตัวเองให้อยู่ในสภาพ “ดูไม่ได้” สามีถึงได้ไปมีหญิงอื่น เพิ่งจะมาคิดทำสวย ก็สายเกินไปแล้ว
ข่าวหม่อมลูกปลา ที่มียูทูบเบอร์รายหนึ่งจ้างให้เธอเป็นหนึ่งในหน้าม้า โดยมีคอนเทนต์ที่อ้างว่าเป็นการทดสอบสังคมร่วมกับนักแสดงสาวคนหนึ่ง จั่วหัวด้วยคำว่า “ผอม vs อ้วน” และ “สวย vs ไม่สวย” ไม่เพียงเท่านั้น ระหว่างการทดสอบที่ว่า เธอยังถูกเหยียดด้วยถ้อยคำน่ารังเกียจด้วย นั่นทำให้กลายเป็นประเด็นดราม่าร้อนแรงทันทีว่าสมควรหรือไม่ที่ทำคอนเทนต์ประเภทนี้ออกมา แม้จะอ้างว่าเป็นการทดสอบสังคม แต่จำเป็นแค่ไหนที่ต้องทดสอบ เหมือนกับการเหยียดคนที่มีลักษณะ “อ้วนและไม่สวย” ทางอ้อม และตอกย้ำจุดด้อยของคนอื่นให้มันชัดเจนขึ้นไปอีก
และข่าวอีกข่าวเกิดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช หญิงรายหนึ่งไปดูดไขมัน แล้วเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตคาเตียง นี่ไม่ใช่ครั้งแรก หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน ก็เคยมีคนดูดไขมันจนเสียชีวิตมาแล้ว คำถามคือ ทำไมหญิงรายนี้ถึงต้องไปดูดไขมัน เธอไปดูดเพราะเธออยากผอมของเธอเอง หรือเธอถูกมายาของสังคมตีกรอบและกดดันว่าคนอ้วน=ไม่สวย และต้องผอม=สวย
ข่าวทั้งหมดนี้ ๆ ทำให้เราเห็นตรรกะประหลาดและความคิดที่บิดเบี้ยว ทั้งที่ความจริงแล้วไม่มีเกณฑ์อะไรมานิยามค่าความงามของคน แต่ละวัฒนธรรม แต่ละคนมีค่านิยมความงามที่ไม่เหมือนกัน แต่การยึดเอา Beauty Standard ที่สังคมมโนขึ้นมาเองเป็นตัวตั้งว่าผู้หญิงที่สวยจะต้องขาว หุ่นดี มีเอว มีสะโพก มีหน้าอก รักแร้ต้องขาวเนียน ไม่มีขนขา ขนแขน ขนรักแร้ ขาต้องเรียว แขนต้องเล็ก หน้าต้องเนียน หน้าเรียวเล็ก ไม่มีสิว จมูกต้องโด่ง ตาต้องโต ส่วนผู้ชายที่หล่อจะต้องขาว หุ่นดี สูง ไหล่กว้าง จมูกโด่ง มีกล้ามเนื้อดูแข็งแรง
นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่มีลักษณะผิดไปจากมาตรฐานที่ว่า จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ขี้เหร่ ไม่สวย ไม่หล่อทันที โดยที่ไม่สนใจว่านิยามที่ว่านั้นไม่ได้ใช้ได้กับทุกคน และที่สำคัญมาก ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครเตือนตัวเองก็คือ จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีปัญหา หรือไปเดือดร้อนกับรูปร่างหน้าตาคนอื่น? คนเราจะคิดเห็นอย่างไรก็ได้ไม่ใช่เรื่องผิด ก็แค่คิดคนเดียวในใจ ไม่ต้องแสดงวุฒิภาวะและทัศนคติที่ดูถูกความเป็นมนุษย์ของคนอื่นเพื่อทำร้ายผู้อื่นและประจานว่าตัวเองเป็นคนประเภทไหนก็ได้
ปัญหาบูลลี่ ที่รณรงค์เท่าไรก็ไม่จบสิ้น
การบูลลี่ มักเกิดจากการกระทำของผู้ที่ “คิดว่า” ตนมีอำนาจมากกว่าอยู่เหนือคนอื่น จึงสามารถรังแกผู้ที่ด้อยกว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ร่างกาย อยากการกลั่นแกล้งทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายเพราะเห็นว่าเขาตัวเล็กกว่า หรือแค่รู้สึกไม่ถูกชะตา บูลลี่ทางวาจา อย่างการพูดจาส่อเสียด ล้อเลียน เหยียดประจาน ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอับอาย เสียหน้า หรือบูลลี่ทางสังคม อย่างการสร้างกระแสให้คนอื่นเกลียดชัง เหยียบย่ำเหยื่อ เช่น การปล่อยคลิปของเหยื่อ การสร้างข่าวลือใส่ร้าย จนเหยื่อไม่มีที่ยืนในสังคม
ไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ทางใดก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความบอบช้ำและบาดแผลลึกที่แสนเจ็บปวดในใจของเหยื่อ ไม่เพียงแต่สร้างความอับอาย เครียด หวาดกลัวเท่านั้น อาจส่งผลถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้า หรืออาจกลายเป็นความเคียดแค้น หากพฤติกรรมนี้เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนทำให้เหยื่อทำอะไรขาดสติเพราะต้องการให้ผู้กระทำรับรู้ความเจ็บปวดบ้าง
ถึงกระนั้น หลายคนก็ไม่ได้สนใจปัญหาการบูลลี่เท่าที่ควร กลับมองว่าเป็นการหยอกล้อเล่น ๆ ขำ ๆ แค่นี้รับก็รับไม่ได้ทำไมอ่อนแอจัง ทั้งที่การบูลลี่ไม่ใช่เรื่องตลก คนทำอาจสนุก แต่คนโดนไม่สนุกด้วย มันทำให้จิตใจบอบช้ำ กลายเป็นแผลที่รักษาไม่หาย ที่สำคัญ การบูลลี่ไม่ได้เป็นปัญหาแค่ในสังคม เพราะแม้แต่ในครอบครัวเองก็มีให้เห็นอยู่ไม่น้อย ผู้ใหญ่บูลลี่เด็ก อ้างว่าหยอกล้อด้วยความเอ็นดู แต่ไม่เคยถามเด็กเลยว่าชอบไหม รู้สึกเหมือนผู้ใหญ่เอ็นดูหรือเปล่า
ไม่ว่าจะสูง ต่ำ ดำ ขาว ทุกคนเป็นคน มีชีวิต มีจิตใจ มีความรู้สึก ทั้งที่คุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่สีผิว ไม่ได้อยู่ที่ส่วนสูง ไม่ได้อยู่ที่น้ำหนัก และไม่ได้อยู่บนใบหน้าที่เกลี้ยงเกลาไร้สิว แต่อยู่ที่จิตใจและการทำตัว หาใช่เปลือกที่เห็นภายนอกไม่ การติเตียนหรือล้อเลียนเรื่องหน้าตารูปร่างไม่ใช่การติเพื่อก่ออย่างที่ใครพยายามกล่าวอ้าง แต่เป็นเรื่องไร้มารยาทที่คนมีอารยธรรมเขาไม่ทำกัน เป็นสิ่งที่ไม่สมควรเกิดขึ้น ไม่ควรมีใครในโลกชินกับการถูกบูลลี่ และไม่ควรมีใครต้องจบชีวิตด้วยความไร้มารยาทของคนอื่นอีกแล้ว
Tonkit360 ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่เคยตกเป็นเหยื่อการถูกบูลลี่ โดยเฉพาะกับเรื่องรูปร่างหน้าตา โดยต้องเริ่มเห็นความงามของตัวเองก่อน ให้ความมั่นใจเกิดจากความรู้สึกศรัทธา รัก และพอใจในตัวเอง มั่นใจว่าเราก็มีดีพอ รักตัวเองให้มาก ๆ ไม่ต้องสนใจคนที่เหยียบคนอื่นด้วยความคิดแคบ ๆ ว่าใครจะพูดอะไร เปลือกนอกอย่างร่างกาย ความสวยความงาม เป็นทางเลือกของเราเอง ถ้าอยากจมูกโด่ง อยากขาว ก็ขอให้เป็นความต้องการของตนเอง ไม่ใช่ให้ใครมาตัดสินว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ รักตัวเองในแบบที่เราเป็น ไม่ใช่แบบที่คนอื่นอยากให้เป็น
ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะเราชอบคนสวยคนหล่อตาม “สเปก” ของตัวเอง แต่จะผิดก็ต่อเมื่อเอามาตรฐานตนเองไปตีค่าและเหยียดหยามผู้อื่น ไม่ควรที่จะไปยุ่งในร่างกายของเขา ฉะนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เขา แต่อาจจะอยู่ที่เราที่ไปมองในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ แถมยังมารยาททางสังคมบกพร่องจนต้องไปทำร้ายจิตใจผู้อื่น ใจเขาใจเราดีที่สุด เพราะหากตัวเองโดนบ้างก็คงไม่ชอบใจเหมือนกัน!