เข้าใจใหม่! ขอสินเชื่อไม่ผ่าน ไม่เกี่ยวกับ “เครดิตบูโร”

“สินเชื่อส่วนบุคคล” ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคนเป็นหนี้ หรือมีภาระที่จำเป็นต้องใช้เงินอย่างฉุกเฉินได้ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์หรือบุคคลในการค้ำประกัน เพียงไปขอกู้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินที่มีนโยบายในการปล่อยกู้ให้กับบุคคลทั่วไป ก็มีสิทธิ์ได้วงเงินกู้สูงสุดถึง 5 เท่าของรายได้ ซึ่งดีกว่าการเป็นหนี้นอกระบบที่เรียกเก็บดอกเบี้ยสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการขอสินเชื่อส่วนใหญ่มักจะได้รับการอนุมัติอย่างรวดเร็ว แต่ใช่ว่าจะอนุมัติผ่านกันทุกคน และหลายคนมักพุ่งเป้าไปที่เครดิตบูโรเป็นอย่างแรก และมองว่าเป็นเพราะตนเอง “ติดเครดิตบูโร”

เครดิตบูโรคืออะไร?

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเครดิตบูโรคือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บข้อมูลบัญชีสินเชื่อและประวัติการชำระสินเชื่อทุกประเภทของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งส่งมาจากสถาบันการเงินและบริษัทที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโร

นอกจากนี้ เครดิตบูโรยังเก็บรักษาข้อมูล รวบรวม และประมวลผลข้อมูลสินเชื่อของลูกค้าสถาบันการเงินตามที่สถาบันการเงินหรือบริษัทที่เป็นสมาชิกจัดส่งให้

เครดิตบูโรมีหน้าที่ในการ “รายงานข้อมูลเครดิต” ซึ่งข้อมูลเครดิตคือข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการชำระหนี้ของลูกค้า ซึ่งถูกจัดเก็บไว้ในระบบฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิต และจะปรากฏบนรายงานข้อมูลเครดิตเมื่อมีผู้ขอเรียกดู โดยประกอบไปด้วย 2 ส่วน ได้แก่

1.ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงตัวตนของลูกค้า ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนบุคคล อาทิ ชื่อ-นามสกุล เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน วันเดือนปีเกิด (ไม่มีการจัดเก็บหมายเลขโทรศัพท์) และในกรณีที่เป็นนิติบุคคล จะเป็นชื่อ สถานที่ตั้ง เลขทะเบียนนิติบุคคล

2.ข้อมูลเกี่ยวกับสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติและประวัติการชำระหนี้ จำแนกเป็นรายบัญชีที่มีอยู่ในแต่ละสถาบันการเงินและบริษัทสมาชิก ประวัติการชำระราคาสินค้าหรือบริการโดยบัตรเครดิต และสถานะบัญชีว่ามีรายละเอียดการชำระหนี้ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

“ติดเครดิตบูโร” มีจริงหรือ?

ปกติแล้ว เวลาที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือกู้สินเชื่อไม่ผ่าน ทางธนาคารหรือสถาบันการเงินจะให้เหตุผลว่าเป็นเพราะข้อมูลในเครดิตบูโรหรือเกี่ยวข้องกับเครดิตบูโร ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินจะออกหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่ให้กู้หรือปฏิเสธให้สินเชื่อโดยชัดเจนว่า ไม่ให้กู้เพราะข้อมูลในเครดิตบูโรเป็นอย่างไร เช่น มีข้อมูลแสดงว่ามีหนี้ค้าง มีหนี้หรือวงเงินสินเชื่อมากเกินไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถูกอนุมานไปโดยปริยายว่าเหตุผลที่ทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน เป็นเพราะติดเครดิตบูโร และเข้าใจกันไปว่าเครดิตบูโรมีอำนาจในการขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครดิตบูโรไม่ได้มีการเก็บข้อมูลของเครดิตบูโร ไม่ได้มีการทำเป็น Blacklist ในฐานข้อมูลแต่อย่างใด

สิ่งที่เครดิตบูโรจัดเก็บ จึงเป็นข้อมูลการชำระหนี้ตามความเป็นจริง โดยมีสถานะกำกับไว้ ว่ามีการชำระปกติ หรือค้างชำระมาแล้วกี่วัน หากลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ไม่ค้างชำระ รายงานจะแสดงสถานะว่าเป็น “ปกติ” แต่หากผิดนัดชำระ รายงานจะแสดงสถานะ “ค้างชำระ” ในระบบข้อมูลของเครดิตบูโร

ดังนั้น การรายงานข้อมูลเครดิตจึงเป็นการรายงานประวัติการชำระสินเชื่อตามข้อเท็จจริง ไม่มีการรายงานว่าลูกหนี้คนใดติดแบล็กลิสต์ และเครดิตบูโรไม่มีสิทธิที่จะอนุมัติ หรือร่วมตัดสินใจให้สินเชื่อกับใครได้

ส่วนที่บอกว่าสามารถล้างเครดิตบูโรได้นั้น ก็เป็นเพราะว่า เครดิตบูโรจะเก็บข้อมูลย้อนหลังไม่เกิน 3 ปีตามที่กฎหมายกำหนด หากชำระหนี้เก่าที่ค้างครบแล้ว หรือปิดหนี้แล้ว และไม่ได้มีการค้างชำระอีก เมื่อผ่านไป 3 ปี (36 เดือน) ประวัติค้างชำระก็จะหายไปนั่นเอง

เหตุผลที่ทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน

การพิจารณาสินเชื่อว่าผ่านหรือไม่ผ่านนั้น จะเป็นดุลยพินิจของสถาบันการเงิน ซึ่งขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อ หรือนโยบายสินเชื่อของแต่ละสถาบันการเงินในขณะนั้น ซึ่งข้อมูลเครดิตจะเป็นเพียงส่วนประกอบส่วนหนึ่งในการนำไปประกอบการพิจารณาสินเชื่อเท่านั้น นอกเหนือจากข้อมูลจากแหล่งอื่นที่สถาบันการเงินนำมาใช้ประกอบการพิจารณา

เหตุผลที่ทำให้ขอสินเชื่อไม่ผ่าน จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ดังนี้

  • นโยบายการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบการแต่ละแห่งแตกต่างกัน
  • ประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาของลูกหนี้เป็นอย่างไร
  • โอกาสในการผิดนัดชำระหนี้มากหรือน้อยเพียงใด
  • ภาระหนี้ที่มีอยู่และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ขอสินเชื่อเป็นอย่างไร
  • หลักประกันความเสี่ยงของผู้ขอสินเชื่อ เช่น หลักทรัพย์คำประกัน ผู้ค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้สถาบันการเงินต้องชี้แจงเหตุผลที่ไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ขอสินเชื่อทราบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องทำหนังสือตอบชี้แจงเหตุผลที่ไม่ให้สินเชื่อ และลงทะเบียนจัดส่งไปให้ผู้ขอสินเชื่อทราบด้วย เพื่อจะได้ทราบถึงเหตุผลที่แท้จริง

NPL ส่งผลต่อการขอสินเชื่อแค่ไหน?

ในกรณีที่เป็นหนี้ NPL (Non-Performing Loan) หรือเงินให้สินเชื่อที่ค้างชำระเงินต้นเกิน 90 วัน ซึ่งลูกหนี้ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการชำระเงินได้ตามกำหนดจนทำให้เกิดเป็นหนี้เสีย ย่อมส่งผลให้สถาบันการเงินหรือธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และทำให้โอกาสในการขอสินเชื่อใหม่มีโอกาสถูกปฏิเสธมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งสถาบันการเงินหรือธนาคารจะต้องประเมินความเสี่ยงกลุ่มลูกค้าที่ไม่ยอมจ่ายหนี้ด้วยเช่นกัน

โดยธนาคารจะพิจารณาทั้งรายได้ต่อเดือน พฤติกรรมการชำระหนี้ และการใช้จ่าย ซึ่งมักจะดูจากเครดิตบูโร, คะแนนเครดิต (ความสามารถในการชำระหนี้บัตรเครดิต) หรือ หลักประกันต่าง ๆ แต่ด้วยสถานการณ์จากวิกฤต COVID-19 ทำให้การปล่อยสินเชื่อยากยิ่งขึ้น และสถาบันการเงินมักจะเลือกปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูง และกลุ่มที่มีพฤติกรรมจ่ายหนี้ตรงเวลา หรือมีหลักประกันมากกว่า

นอกจากหนี้ NPL จะเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อแล้ว ยังจะถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยเงินกู้สูงกว่ากลุ่มคนที่จ่ายหนี้ดีหรือกลุ่มคนทั่วไปด้วย เพราะสถาบันการเงินต้องตั้งสำรองเงินตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เพื่อให้ลูกค้าที่มีเงินฝากกับธนาคารมั่นใจได้ว่าเงินของตนเองจะไม่หดหาย แม้ว่าจะมีลูกค้าบางส่วนเบี้ยวหนี้ก็ตาม

ข้อมูล : บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด