ตามมาอีกเจ้า วัคซีนจุฬาฯ เตรียมพร้อมทดสอบในมนุษย์

ข่าวดีอีกข่าวในวงการแพทย์เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ในประเทศไทย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ องค์การเภสัชกรรมมีแถลงข่าวความคืบหน้าเรื่องเตรียมทดสอบวัคซีน GPO ในคนระยะแรก ณ เวลานี้ ก็มีวัคซีนอีกตัวที่ประกาศความสำเร็จในการทดลองในสัตว์ตามมาอีกเจ้า และเตรียมจะทดสอบในคนเช่นเดียวกัน คือวัคซีน ChulaCov19 (วัคซีนจุฬาฯ)

ความก้าวหน้าของวัคซีน ChulaCov19 ผลงานโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดงานแถลงข่าวรายงานความคืบหน้าล่าสุดในการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ว่าขณะนี้ วัคซีนจุฬาฯ เตรียมที่จะทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครที่เป็นคนในระยะแรก ซึ่งอยู่ระหว่างส่งไปผลิตจากโรงงานในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา จากนั้นจะส่งกลับมาให้ทดสอบในคนระยะแรก ปลายปีนี้จะสามารถนำมาผลิตในประเทศไทยได้

จากรายงานการทดสอบวัคซีน ChulaCov19 ชนิด mRNA ในหนูและลิง มีผลการทดลองว่าสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน COVID-19 ได้ในระดับสูง ลดจำนวนเชื้อได้อย่างมากในหนูทดลอง หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ในระยะเวลาห่างกัน 3 สัปดาห์ ป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรค ยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและปอดลงได้อย่างน้อย 10,000,000 เท่า

ดังนั้น วัคซีนจุฬาฯ จึงเตรียมทดสอบวัคซีนระยะแรกในอาสาสมัคร โดยคาดว่าเป็นช่วงปลายเดือนเมษายนหรือต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อดูขนาดที่เหมาะสมใน 1 โดส ที่จะฉีดให้คนไทย รวมถึงดูผลข้างเคียงหลังการฉีดวัคซีน เช่น เป็นไข้ ปวดเมื่อย ขณะเดียวกันก็กำลังเตรียมการพัฒนารุ่น 2 เพื่อทดสอบในหนูทดลอง เพื่อรองรับกรณีเชื้อดื้อวัคซีนในอนาคต เนื่องจากมีเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในหลายประเทศ ซึ่งวัคซีน mRNA มีจุดเด่นคือสามารถออกแบบวัคซีนรุ่นที่ 2 เพื่อตอบโต้เชื้อดื้อวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับวัคซีน ChulaCov19 หรือวัคซีนจุฬาฯ นี้ เป็นวัคซีนชนิด mRNA วัคซีนกลุ่มที่มีสารพันธุกรรมของไวรัส เมื่อฉีดเข้าไปในเซลล์ร่างกายของมนุษย์ จะแปลงรหัสเป็นโปรตีนของไวรัส ทำให้ร่างกายเหมือนติดเชื้อไวรัส แล้วค่อยสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เทคโนโลยีนี้มีราคาถูกกว่าและสามารถผลิตได้เร็ว

วัคซีนจุฬาฯ ออกแบบและพัฒนาโดยคนไทย จากความร่วมมือสนับสนุนจากแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้คือ Prof. Drew Weissman แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ผลิตขึ้นโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดเล็กจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส (ไม่มีการใช้ตัวเชื้อ) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับวัคซีน ก็สร้างโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกัน ไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ หลังจากทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว mRNA จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายภายในเวลาไม่กี่วัน

และวัคซีนจุฬาฯ สามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นปกติคือ 2-8 องศาเซลเซียส และอยู่ได้อย่างน้อย 1 เดือน (กำลังรอผลวิจัยการเก็บรักษาที่ 3 เดือน) ดังนั้น การขนส่งและกระจายวัคซีนไปยังต่างจังหวัดทั่วประเทศจะสามารถทำได้อย่างสะดวก

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยี mRNA ก็เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินแล้วในหลายประเทศ ใช้ในประชาชนทั่วไปในบางประเทศแล้วเช่นกัน เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และนิวซีแลนด์ มีข้อมูลรายงาน ณ วันที่ 18 ก.พ. ว่าหลายประเทศทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนชนิด mRNA แล้วอย่างน้อย 100,000,000 คนจากทั้งหมด 180,000,000 คน วัคซีนต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีนี้คือ BioNTech/Pfizer และ Moderna

วัคซีนจุฬาฯ จึงเป็นอีกหนึ่งความหวังของคนไทยที่จะผลิตวัคซีนขึ้นใช้เองในประเทศ โดยที่จะได้ไม่ต้องหวังพึ่งจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ หากวัคซีนที่คนไทยผลิตเองสามารถใช้ได้ผล มีประสิทธิภาพไม่ต่างจากวัคซีนที่พัฒนาจากต่างประเทศ ก็จะเป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่จะทำให้คนไทยมั่นใจได้ว่า แพทย์ไทย นักวิทยาศาสตร์ไทย นักวิจัยไทยก็เก่งไม่แพ้คนชาติใดในโลก