ละครน้ำเน่า “สะท้อนสังคม” ได้จริงหรือ?

ยุค “สังคมอุดมดราม่า” ทำให้เราท่านในฐานะสมาชิกของสังคมค่อนข้างที่จะอยู่ยากและหดหู่กันพอสมควร โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ที่มีประเด็นดราม่าเกิดขึ้นได้ทุกวัน หากมองในแง่บวก การที่มีคนกล้าทำให้เรื่องบางเรื่องกลายเป็นดราม่าขึ้นมา มันคือการทำให้สังคมหันไปสนใจ ทำให้เห็นว่าสมาชิกของสังคมหลายคนตระหนักถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ตระหนักแล้วไม่ได้เก็บไว้คนเดียว แต่ยังเสนอให้สังคมได้รับรู้และเปิดใจรับสารในมุมนี้อีกมุมหนึ่ง

ทุกครั้งที่ “ละคร” มีเรื่องดราม่าขึ้นมา ต้นเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่คนดูรับไม่ได้กับเนื้อหาที่ละครนำเสนอ ล่าสุดถึงขนาดมีแฮชแท็กแบนละครเรื่องดังติดเทรนด์ทวิตเตอร์อยู่นานหลายวัน หายไปได้ประมาณวันหรือสองวันก็กลับมาอีกครั้ง เพราะเนื้อหาที่นำเสนอก่อให้เกิดประเด็นดราม่าขึ้นมาอีก โดยมองว่าคอนเทนต์ในละครนั้นไม่สร้างสรรค์ แต่ก็ยังถูกผลิตซ้ำ ๆ และน่ากังวลว่ามันจะพาสังคมไปในทิศทางไหน

ปกติแล้ว เวลาที่ละครมีดราม่า มักจะมีความเคลื่อนไหวจากทีมงาน อาจจะเป็นผู้จัด ผู้กำกับ คนเขียนบทโทรทัศน์ หรือบางครั้งผู้ประพันธ์ก็มาเอง (ในกรณีที่เป็นนวนิยายมาก่อน) ออกมาชี้แจง ออกมาอธิบาย ออกมาขอโทษ และบางกรณีหยิบยกเหตุผลสุดคลาสสิกว่า ที่เนื้อเรื่องเป็นแบบนี้ เพราะ “ละครสะท้อนสังคม” คำถามคือ สะท้อนอย่างไร สะท้อนแล้วยังไงต่อ คนดูอาจไม่รู้ด้วยซ้ำ

ละครสะท้อนสังคม

จริง ๆ แล้ว ที่ว่ากันว่าละครสะท้อนสังคมนั้น ยุคแรก ๆ มันมาจาก “วรรณกรรมสะท้อนสังคม” คำนี้ปรากฏขึ้นในยุคสมัยหนึ่งของวรรณกรรม จุดเริ่มต้นของวรรณกรรมแนวก้าวหน้า เป็นวรรณกรรมที่เน้นความยากลำบากของคนในสังคม เน้นปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม แล้วให้ความสนใจกับชนชั้นล่างมากขึ้น โดยที่มาของวรรณกรรมสะท้อนสังคมนั้น อิงมาจากเรื่องของ “การเมือง”

เพราะการเขียนหนังสือในสมัยนั้นจะถูกผูกโยงเข้ากับการเมืองแทบทั้งสิ้น ในยุควรรณกรรมเพื่อประชาชน หรือยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (พ.ศ.2516-ปัจจุบัน) นักเขียนส่วนใหญ่ใช้งานเขียนของตัวเองเสนอปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจากการบริหารประเทศในรัฐบาลในสมัยนั้นผ่านตัวหนังสือ โดยมีตัวละครดำเนินเรื่อง พูดง่าย ๆ ก็คือ หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงตรง ๆ ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ทำให้กลายเป็นเรื่องแต่ง ที่มีทั้งเรื่องจริงและสีสันเพิ่มเติมปนเปกันไป

เมื่อมาพิจารณาถึงละคร “เมียจำเป็น” ที่กำลังอยู่ในกระแส ละครดังกล่าวถูกเขียนเป็นบทภาพยนตร์ชุดโทรทัศน์ครั้งแรกให้กับรัชฟิล์ม ผู้แต่งใช้นามปากกาว่า “เข็มขาว” เวอร์ชันนั้นถือเป็นเวอร์ชันแรก ออกอากาศในปีพ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบันเมียจำเป็นถูกนำมาสร้างเป็นละครและภาพยนตร์แล้วถึง 4 เวอร์ชัน แม้ว่าจะผ่านมานานถึง 43 ปีแล้ว

แน่นอนว่ากาลเวลาผ่านมาถึง 43 ปี สภาพสังคมในบทภาพยนตร์เวอร์ชันแรก กับสภาพสังคมในบทละครเวอร์ชันล่าสุดปี พ.ศ.2564 ย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับ 43 ปีก่อน คนทั่วไปไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต 43 ปีก่อน โทรทัศน์ที่บ้านยังเป็นจอขาวดำ และคงไม่มีใครคาดคิดว่าอีก 43 ปีต่อมา โซเชียลมีเดียจะมีอิทธิพลต่อสังคมมากมายเพียงใด

บทละครในสมัยนั้น ส่วนมากเป็นแนวที่เรียกว่า “น้ำเน่า” ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นที่นิยมของคนดูส่วนมาก (ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในสังคมเมือง) และทุกวันนี้สังคมที่ไม่ใช่สังคมเมืองก็ยังคงเสพบทละครน้ำเน่ากันอยู่ ทำให้ละครน้ำเน่าถูกผลิตขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะมันขายคนส่วนใหญ่ได้ แต่เมื่อไม่มีพัฒนาการไปในทางที่ดีกว่านี้ คนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษาจึงรู้สึกเบื่อพล็อตเรื่องแบบนี้ พวกเขามองว่าพล็อตละครน้ำเน่ามันไม่ได้สร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้น และบทบางเรื่องกลับฉุดให้สังคมลงต่ำกว่าจุดเดิมอีกต่างหาก

กล่าวคือ บทละครเก่าที่เป็นน้ำเน่า พอหยิบมาทำใหม่ก็ยังคงเป็นน้ำเน่า เพียงแต่เป็นน้ำเน่าสมัยใหม่ คงโครงเรื่องและตัวละครไว้ ที่เหลือคือรื้อใหม่ ใส่ความเฟียสความแรงลงไป ทำให้กลายเป็นเรื่องขำขัน และนำเสนอแต่ภาพที่คิดว่าคนดูจะรู้สึกสนุก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกแบบนั้น

ตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป บทโทรทัศน์ที่ถูกดัดแปลงให้ตามทันยุคทันสมัย ไม่ได้มีแค่ฉากในละครที่เปลี่ยน แต่คนดู และสภาพแวดล้อมในชีวิตจริงก็เปลี่ยนไปด้วย คนดูหลายคนไม่ตลกกับมุกล้อเลียนตัวละครที่เป็นคนต่างจังหวัด ไม่ตลกกับการเหยียดสีผิว ที่ละครมักนำเสนอให้ตัวละครเหล่านี้คือตัวตลก แสดงให้เห็นว่าคนตระหนักถึงปัญหาสังคมกันมากขึ้น ดังนั้น อะไรที่ทำแล้วไม่สร้างสรรค์สังคม ก็จะเกิดดราม่าขึ้นได้อย่างง่ายดาย

แล้วละครสะท้อนสังคมได้ไหม

ละคร จัดเป็นวรรณกรรมประเภทบันเทิงคดี เพราะละครต้องมีบทประพันธ์ออก แม้แต่ในราชกิจจานุเบกษาเองก็ให้ความหมายว่าการแสดงก็จัดเป็นวรรณกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วตามหลักการศึกษาวรรณกรรม “ละครใช้สะท้อนสังคมไม่ได้” เพราะกระจกจะส่องสะท้อนสภาพความเที่ยงตรงตามความเป็นจริง แบบที่ไม่มีการปรุงแต่งสีสันเพิ่มเติมให้สวยงามเพื่อกระตุ้นอารมณ์เพ้อฝัน

แต่ละครไม่ได้เป็นกระจกสะท้อนเหตุการณ์จริง ละครถูกถ่ายทอดจากประสบการณ์และความเจริญเติบโตทางปัญญาของผู้เขียน ที่สำคัญ ละครเป็น “เรื่องที่แต่งขึ้น” ดังนั้น การนำเสนอในรูปแบบของละคร จะเน้นให้คนดูมีอารมณ์ มุ่งให้ความบันเทิง มีการนำส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมจริง ๆ มาใส่ในบทละคร แต่มีการปรุงแต่งเพิ่มเติม มันจึงเล่าเรื่องได้สนุกกว่าการทำเป็นสารคดี

ลองคิดเล่น ๆ หากมีคนพยายามนำเสนอปัญหาการข่มขืน หรือการกล่าวโทษเหยื่อในคดีข่มขืนในรูปของสารคดี จะมีสักกี่คนที่เปิดดู เพราะสารคดีมันอัดแน่นไปด้วยสาระ บางครั้งถึงขั้นเครียด ถ้าเรื่องหนัก ๆ ก็ทำให้รู้สึกหดหู่ได้เลยด้วย แต่พอนำมาทำเป็นละคร มีคนดูเพราะมันถูกนำเสนอในแง่มุมของความบันเทิง พอบันเทิงกับเรื่องที่ไม่ควรบันเทิง ถึงได้กลายเป็นประเด็นดราม่าใหญ่โตถึงเพียงนี้

ในขณะเดียวกัน พอละครจบ ละครไทยส่วนใหญ่จบแบบสุขนาฏกรรม (จบแบบโศกนาฏกรรมขัดใจคนดู โดนดราม่าอีก) เมื่อละครจบอย่างมีความสุข ตัวละครในเรื่องได้เรียนรู้ก็จริง แต่พอตัดกลับมาที่คนดู ดูจบก็คือจบ คนดูส่วนใหญ่มาก ๆ ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากที่ละครเสนอเลยด้วยซ้ำ เพราะเขาเสพละครเพื่อความบันเทิง สุดท้ายแล้ว ที่เขาดราม่ากัน เพราะละครไม่ได้นำปัญหาไปหาหนทางแก้ปัญหา แต่เป็นการฉุดรั้งสังคมให้ย่ำอยู่กับที่ จากการผลิตพล็อตเรื่องซ้ำ ๆ

ต้องยอมรับว่าดราม่าจากละครดัง ทำให้เห็นว่าคนเริ่มเห็นความสำคัญของปัญหาที่ละครนำเสนอ ด้วยการแสดงออกจากการติดแฮชแท็ก #ข่มขืนผ่านจอพอกันที และการประกาศแบนละคร แม้ในทางปฏิบัติจะอาจจะยังช่วยอะไรไม่ได้มาก ละครก็ยังฉายอยู่ และดูเหมือนว่าเรตติ้งจะขึ้น แต่นี่ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่เห็นว่าคนออกมาขับเคลื่อนการนำเสนอเรื่องราวในละครที่เป็นภาพจำที่เป็นพิษต่อสังคม แต่ไม่ได้เสนอทางแก้ปัญหา บอกว่าพวกเขาไม่พอใจที่ปัญหาสังคมมีหน้าที่แค่สร้างความบันเทิง

ละคร จะส่งผลที่ดีต่อสังคมได้ก็ต่อเมื่อคนในสังคมรู้จักนำเอาความคิดดี ๆ ที่แฝงอยู่ในละครมาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับสังคมให้ได้มากที่สุด ละครจะสะท้อนสังคมได้ก็ต่อเมื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ให้เห็นปัญหาอย่างเดียวแต่ไม่ทำอะไร ซ้ำยังส่งเสริมภาพที่บิดเบี้ยวให้สังคมอีก อย่างการจบเรื่องแบบที่นางเอกรักพระเอกที่ทำร้ายร่างกาย ทำร้ายจิตใจตัวเอง ในชีวิตจริง เรารักคนแบบนั้นได้จริงเหรอ? นั่นมันเป็นอาชญากรรมเลยนะ!

ก็เหมือนกับเวลาที่เราส่องกระจกแล้วเห็นว่าหน้าตัวเองมัน เราก็จะหยิบแป้งขึ้นมาทา หรือการที่ให้คนใกล้ตัวเป็นกระจกสะท้อนพฤติกรรม ก็เพื่อให้นำไปสู่การปรับปรุงตัวนั่นเอง