จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลไปทั่วโลก ทำให้มหกรรมกีฬาสุดยิ่งใหญ่อย่าง “โอลิมปิกเกมส์” ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ได้รับผลกระทบไปเต็ม ๆ เนื่องจากเป็นทัวร์นาเมนต์ที่แข่งขันกันยาวนานถึง 2 สัปดาห์ และมีนักกีฬาจากทั่วโลกเข้าร่วมชิงชัยกว่า 200 ประเทศ
หากเกิดเหตุไม่คาดฝันมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมา ก็อาจเกิดการแพร่กระจายของเชื้อในวงกว้างได้ และถ้าเกิดขึ้นกับนักกีฬาที่มีสภาพร่างกายแข็งแรง และไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา ก็จะยิ่งหาต้นตอของการแพร่เชื้อได้ยากลำบากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันจึงต้องจำใจเลื่อนการแข่งขันจากกลางปีที่แล้ว มาจัดในช่วงกลางปีนี้แทน ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 5 เดือนกว่า ๆ เท่านั้น ก่อนที่จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 ก.ค.2564
มาตรการ “บับเบิล” กักตัวนักกีฬา ไร้คนดู
เมื่อมีนักกีฬาจากทั่วโลกมากกว่า 11,000 คน ทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และเจ้าภาพอย่างโตเกียว จึงต้องวางแผนกันอย่างรัดกุมและเข้มข้น เพื่อให้การแข่งขันดำเนินไปได้อย่างราบรื่น และไม่มีการแพร่กระจายของเชื้อโควิด
แม้ว่าญี่ปุ่นหวังจะสร้างความมั่นใจให้กับทั่วโลก ด้วยความพยายามในการจัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้กับประชากรของตนเองได้ครบทั้ง 126 ล้านคน แต่ถึงกระนั้น การจัดการแข่งขันโดยมีผู้ชมก็ยังถือเป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไป
เวลานี้ มาตรการ “บับเบิล” จึงเป็นตัวเลือกที่ลงตัวที่สุด แม้ว่าจะไม่มีคนดูการแข่งขัน แต่ก็ยังดีกว่าการยกเลิกหรือเลื่อนการแข่งขันออกไปอีก เหมือนที่ทำกันมาแล้วหลายรายการ เช่น การแข่งขันบาสเกตบอล NBA รอบเพลย์ออฟ ที่นักกีฬาและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดต้องอยู่ร่วมกันใน World Disney World Resort โดยไม่มีผู้ชม รวมถึงประเทศไทย ที่เพิ่งจัดการแข่งขันแบดมินตันทัวร์นาเมนท์ระดับเวิลด์ทัวร์ 3 รายการใหญ่ โดยใช้มาตรการบับเบิลกักตัวนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ตลอด 1 เดือนที่ร่วมการแข่งขัน
ล่าสุด ทาง IOC และคณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นได้ออกคู่มือสำหรับนักกีฬามาแล้วว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรก่อนจะเข้าสู่มาตรการกักตัวแบบ “บับเบิล” โดยนักกีฬาต้องกักตัวที่ประเทศของตนเองก่อนจะเดินทางมาถึงญี่ปุ่น, ก่อนออกเดินทางจะต้องได้รับการตรวจ Swab Test เพื่อตรวจหาเชื้อที่สนามบิน, เมื่อเดินทางมาถึงญี่ปุ่น ต้องรับการตรวจ Swab Test ซ้ำอีกครั้ง และระหว่างพักอยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา ก็จะมีการตรวจ Swab Test บ่อยครั้งด้วยเช่นกัน
ไทยพิสูจน์แล้ว “ทำได้ เห็นผลจริง”
ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พิสูจน์ให้ทั่วโลกได้เห็นแล้วว่ามาตรการดังกล่าวใช้ได้ผลจริง เมื่อการแข่งขันแบดมินตันทัวร์นาเมนท์ระดับเวิลด์ทัวร์ 3 รายการใหญ่ที่ไทยเป็นเจ้าภาพประสบความสำเร็จด้วยดี และได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก แม้ว่ามีนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันมากถึง 22 ชาติก็ตาม
โดยนักกีฬาทุกคนต้องมีเอกสาร Fit To Fly ซึ่งออกโดยแพทย์ที่ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ล่วงหน้า 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางมาเมืองไทย และเมื่อเดินทางมาถึงแล้วจะต้องเข้ารับการกักตัวในห้องพักทันทีเป็นเวลา 14 วัน ก่อนจะออกมาฝึกซ้อมและแข่งขันได้ พร้อมทั้งมีการ Swab Test อย่างต่อเนื่อง ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยนักกีฬาแต่ละประเทศ จะซ้อมคนละเวลา พักคนละโรงแรม และจะได้พบกันเฉพาะเวลาแข่งขันเท่านั้น ตลอดระยะเวลา 1 เดือนของการแข่งขัน 3 รายการ

นอกจากนี้ ยังห้ามสัมผัสมือกันตามธรรมเนียม รวมถึงให้นักกีฬาหยิบลูกแบดจากเครื่องแทนการรับจากมือกรรมการด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน ทำให้ไม่มีใครเสี่ยงต่อการติดเชื้อ แม้กระทั่ง โธมัส บาค ประธาน IOC ก็ยังต้องขอแนวทางการจัดการแข่งขันของไทย เพื่อไปเป็นต้นแบบในการแข่งขันอย่างไรให้ปลอดจากโควิด-19
ได้แข่งหรือไม่ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ?
แม้ว่าเจ้าภาพ “โตเกียวเกมส์” มุ่งมั่นให้การแข่งขันดำเนินต่อไปตามกำหนดการใหม่ที่วางไว้ แต่ ฮารุยูกิ ทาคาฮาชิ คณะกรรมการโอลิมปิกญี่ปุ่นกลับมองว่า สหรัฐอเมริกาคือตัวแปรสำคัญที่จะบอกได้ว่าการแข่งขันจะยังมีต่อไปหรือไม่
สหรัฐฯ ถือเป็นชาติมหาอำนาจที่มีอิทธิพลต่อทัวร์นาเมนต์สุดยิ่งใหญ่นี้ เพราะเป็นประเทศที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์มากกว่าชาติใดในโลก และถือเป็นประเทศที่ทำให้ IOC ได้รายได้มากที่สุดจากสัญญาการถ่ายทอดการแข่งขันด้วย
โดยฮารุยูกิมองว่า หาก โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีแถลงการณ์ที่ออกมาในเชิงบวกเกี่ยวกับโอลิมปิกเกมส์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็เชื่อว่าญี่ปุ่นจะได้รับแรงสนับสนุนมากตามไปด้วยในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ แต่จนถึงเวลานี้ ผู้นำสหรัฐฯ ยังไม่ได้มีท่าทีใด ๆ ต่อการแข่งขันโอลิมปิก นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม IOC ออกแถลงการณ์แย้งว่าผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจว่าจะส่งนักกีฬาโอลิมปิกเข้าร่วมการแข่งขัน คือคณะกรรมการโอลิมปิกและพาราลิมปิกสหรัฐ (USOPC) และที่ผ่านมา USOPC ให้ความเชื่อมั่นมาตลอดว่าจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้
นั่นหมายความว่า ตราบใดที่เจ้าภาพจัดการแข่งขันมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด เราก็จะได้เห็น “โตเกียวเกมส์” เกิดขึ้นอย่างแน่นอน และหากไม่พบว่ามีผู้ใดติดเชื้อจากการแข่งขัน ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น และเป็นบรรทัดฐานให้ฝ่ายจัดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ต่าง ๆ ได้ยึดถือปฏิบัติตามในอนาคตด้วย
อ้างอิงข้อมูล : japantimes.co.jp/ nationalpost.com / voanews.com