อย่าโป๊ะแตกเพราะ “แอตติจูด”

เคยได้ยินประโยคนี้กันไหมคะ “People may hear your words, but they feel your attitude” (ผู้คนอาจได้ยินสิ่งที่คุณพูด แต่คำพูดของคุณทำให้คนฟังรู้สึกถึงทัศนคติคุณ) เป็นประโยคจากนักเขียนชื่อดัง John C Maxwell นักเขียนที่มีผลงานเป็นหนังสือขายดีอย่าง “ภาวะผู้นำ 5 ระดับ” หรือ “15 กฎทองแห่งการพัฒนาตนเอง”

“People may hear your words, but they feel your attitude” (ผู้คนอาจได้ยินสิ่งที่คุณพูด แต่คำพูดของคุณทำให้คนฟังรู้สึกถึงทัศนคติคุณ) นับเป็นวรรคทองที่น่าจะทำให้หลายคนที่ใช้สื่อ หรือเป็นเจ้าของสื่อได้ฉุกคิดอะไรได้บ้าง เพราะนับตั้งแต่โลกใบนี้รู้จักกับ โซเชียลมีเดีย เราเห็นผู้คนต่างแสดงความคิดเห็น แสดงความรู้สึกกันอย่างสนุกมือ ทั้งในรูปแบบโพสต์เป็นข้อเขียน โพสต์เป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ เป็นการโพสต์โดยที่มีพื้นฐานคิดว่านี่คือพื้นที่ส่วนตัว ใครจะว่าอะไรไม่ได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว “ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวบนโลกโซเชียล” ต่อให้คุณตั้งเป็น Privacy ก็ยังมีคนเห็นและแคปมาเผยแพร่ได้ 

ยิ่งไปกว่านั้น นี่คือยุคสมัย ที่ใครก็เป็น “somebody” ได้โดยมีวิธีคิดแบบไม่ซับซ้อนมากขอแค่ “แรง” เอาไว้ก่อนพร้อมกับหาข้อแก้ตัวให้ตนเองว่า “เป็นคนตรงไปตรงมาเลยแรง” เอาเข้าจริงแล้วการเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ได้หมายความว่าต้องแรง ยกตัวเอง หรือหยาบคายใส่คนอื่น การเป็นคนตรงไปตรงมาคือชัดเจนในประเด็นที่ต้องการสื่อสาร และเป็นการสื่อสารอย่างสุภาพ และมีเหตุผลเช่นที่วิญญูชนกระทำกัน

แต่ Somebody ยุคนี้เสพติดคาแรคเตอร์ “แรง” กันไปแล้ว เราก็ได้เห็นทัศนคติของพวกเขาผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย การใช้ชีวิตอยู่ในห้องของเสียงสะท้อน (Echo Chamber) บนโซเชียลมีเดียทำให้คนธรรมดาที่มีผู้ติดตามจากผลงานที่ทำ แปรเปลี่ยนสถานะตนเองกลายเป็น Infuencer ยิ่งผู้ติดตามมากเท่าไรอัตตาภายในยิ่งเพิ่มพูน เพิ่มพูนชนิดที่คิดว่าตนเองนั้นแตกต่างจากคนทั่วไปและจะขอฟังเฉพาะสิ่งที่ตนเองต้องการฟัง จะขออ่านแต่เฉพาะข้อความที่ตนเองต้องการอ่าน

Influencer ที่ดีก็มีอยู่มาก Influencer ที่ไม่น่ารักก็มีอยู่เยอะ ขึ้นอยู่กับว่ามีทัศนคติอย่างไร ถ้าหลงอยู่แต่ในห้องเสียงสะท้อนของตนเอง คงกู่ให้กลับมามีวิธีคิดที่ถูกต้องได้ยาก เพราะมันถูกบิดเบี้ยวไปเรียบร้อยจากอัตตาที่อยู่ภายในตัวของพวกเขา แต่ถ้ามีทัศนคติที่ดีไม่ได้มองว่าการเป็นผู้นำทางความคิดคือการขยับสถานะตนเองให้โดดเด่นกว่าคนอื่น แต่เป็นการทำหน้าที่เพื่อดึงวิธีคิดของลูกเพจบ้าง ฟอลโลเวอร์บ้าง หรือ subscriber บ้าง ให้มีวิธีคิดที่ถูกต้องไม่หลงทาง ด้วยข้อมูลอันเป็นข้อเท็จจริง มิใช่การใส่สีตีไข่จนเป็นเฟกนิวส์ แล้วขึ้นต้นประโยคว่า “เขาเล่าว่า” ก็น่าจะเป็นผู้นำทางความคิดที่มีงานมาให้ทำไม่ขาดมือ

เอาเข้าจริงผู้เขียนก็อยู่ในวงการสื่อมานานพอสมควรได้เห็นการขึ้นและลงของพิธีกร ผู้ประกาศ ผู้บรรยาย มาไม่น้อย บางคนทำงานมานานกว่าเราเสียอีก บางคนทำงานพร้อมกับเรา บางคนเพิ่งมาทำได้ไม่นาน และสิ่งสำคัญของวงการนี้ไม่ใช่แค่เก่งอย่างเดียว แต่ทัศนคติสำคัญมาก ผู้เขียนเคยเจอคนมีความสามารถ เข้าหาผู้ใหญ่เก่ง แต่ปฏิบัติกับคนรอบข้างประหนึ่งโลกหมุนรอบตนเอง เมื่อเสียประโยชน์เพราะความละโมบก็ไม่ได้คิดจะหันกลับไปพิจารณาข้อเสียดังกล่าว หากแต่กล่าวโทษผู้อื่นไปทั่ว และด้วยทัศนคติแบบนี้เมื่อมีปัญหาก็เป็นปัญหาเดิม ๆ จนทำให้คนในวงการแทบจะไม่มีใครเอา ซึ่งน่าเสียดายความสามารถเป็นอย่างยิ่ง

เป็นตัวอย่างที่ยกมาเพื่อจะได้เห็นว่าทัศนคตินั้นสำคัญแค่ไหนค่ะ และพึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าต้องการส่งสารอะไรออกสู่สาธารณะ คุณไม่มีทางรู้เลยว่า คนที่อ่านจะแปลความหมายไปในทางใด หรือคุณจะคิดแค่ขอ “ด่าเอามัน” มันก็จะไม่มันอย่างที่คิด เพราะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ยุคนี้ไม่ธรรมดา อย่าให้ต้องเป็นคนหนึ่งที่ถูกคนอื่นเขาใช้คำว่า “ไหว้สวยรวยกระเช้า” ต่อท้ายชื่อเลยค่ะ

ดังนั้นก่อนจะพิมพ์อะไรบนคีย์บอร์ด หรืออัดคลิปอะไร ก็ถามตนเองให้ดีว่าพิมพ์ไปแล้วคนที่เข้ามาอ่านได้อะไร ดูคลิปจบแล้ว คนที่เข้ามาดูจะได้รับสารอย่างที่เราต้องการสื่อไหม ถ้าไม่ทั้งสองข้อ ก็หันไปทำกิจกรรมอย่างอื่นก่อนดีกว่า เพื่อที่คุณจะได้ไม่ต้องหมกหมุ่นอยู่แต่กับตนเอง แบบนี้น่าจะช่วยให้คุณเป็น Influencer ที่มีงานได้นาน เหมือนกับพิธีกร ผู้ประกาศชื่อดังอีกหลายคน อย่าเป็นคนจำพวก “มากับกระแส และไปกับกระแส” ดังที่มีให้เห็นกันมากมายในปัจจุบันเลยค่ะ เพราะเราต้องใช้ชีวิตกันต่อไปอีกยาวนาน

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ