Senior Cohousing ทางเลือก “ผู้สูงอายุ” ที่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี

หากเอ่ยคำว่าบ้านพักคนชรา ความรู้สึกแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในใจผู้สูงอายุ คงหนีไม่พ้นสถานที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีบรรยากาศหดหู่ ชวนเศร้าใจ เพราะมักจะมีภาพจำกันว่าเป็นศูนย์รวมคนชราที่ถูกลูกหลานทอดทิ้ง

แม้ว่าปัจจุบันภาพลักษณ์ของบ้านพักคนชราจะเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของผู้สูงวัยที่พักอาศัยอยู่ในที่แห่งนี้ ถูกลูกหลานนำมาปล่อยไว้โดยไม่เหลียวแลจริง ๆ

Senior Cohousing อีกทางเลือกของผู้สูงอายุ 

ทุกวันนี้ สังคมไทยแปรเปลี่ยนไปแล้ว ผู้สูงอายุหลายคนยังสามารถดูแลตัวเองได้เป็นอย่างดี และต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ๆ ในช่วงบั้นปลายชีวิตมากกว่านั่งจับเจ่าเหงาหงอยอยู่ในบ้านพักคนชรา รอลูกหลานมาเยี่ยมอย่างสิ้นหวัง

Senior Cohousing จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจในบ้านเรา นอกเหนือจากที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่มีกำลังจ่าย ที่รองรับผู้สูงวัยที่มีทุนทรัพย์มากพอสำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้ตลอดชีวิต

จากที่หลายคนมักพูดเล่นกับเพื่อนฝูงว่า “พอแก่ตัวไปให้มาหาบ้านพักอยู่ในชุมชนเดียวกัน หรือมาปลูกบ้านอยู่ในละแวกเดียวกันดีกว่า จะได้ช่วยกันดูแล ไม่ต้องอยู่เพียงลำพัง” ได้กลายเป็นแนวคิดที่เป็นจริงในชื่อ Senior Cohousing

นิยามของ Senior Cohousing

Senior Cohousing คือ รูปแบบชุมชนที่ผู้สูงอายุพักอยู่อาศัยด้วยกัน โดยที่ยังมีพื้นที่ส่วนตัวที่จำเป็นอย่างห้องนอนและห้องน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถใช้ร่วมกันได้ อาทิ ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องรับแขก สวนหย่อม หรือห้องอ่านหนังสือ

แม้ว่าในประเทศไทยอาจยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้ว Senior Cohousing มีมาตั้งแต่ยุคทศวรรษที่ 1960 แล้ว โดยถือกำหนดขึ้นครั้งแรกในประเทศเดินมาร์ก ก่อนที่ในปี 1988 จะเริ่มแผ่ขยายความนิยมไปทางทวีปอเมริกาเหนือ เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา

Senior Cohousing ดีอย่างไร?

เมื่อผู้สูงอายุเลือกมาอยู่ในชุมชนเดียวกันด้วยความสมัครใจ จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้พักอาศัยตามมาด้วย เพราะได้มีการเข้าสังคม ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันในพื้นที่ส่วนกลาง ทำให้ไม่เหงา ไม่ซึมเศร้า หรือรู้สึกโดดเดี่ยว

ขณะเดียวกัน การอยู่ร่วมในคอมมิวนิตี้เดียวกัน ยังช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้พักอาศัยด้วย เพราะพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้ร่วมกันนั้นทุกคนที่อยู่ในชุมชนจะแชร์ค่าใช้จ่ายร่วมกันนั่นเอง

ที่มา : amintro.com