รวมวิธีเอาตัวรอดวันฝนตก ฉบับ “มนุษย์ออฟฟิศ”

ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงประมาณเดือนตุลาคม สภาพภูมิอากาศบ้านเราคือ “ช่วงฤดูฝน” แถมบางช่วงยังมีพายุ หรือลมมรสุมพัดเข้ามาสมทบอีกเป็นระลอก ๆ ทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกหนัก ก็ไม่แคล้วมีปัญหาต่าง ๆ ตามมา

โดยเฉพาะปัญหาโลกแตกของมนุษย์ออฟฟิศในเมืองหลวง ถึงแม้ว่าบางคนจะมีรถยนต์ส่วนตัว แต่สุดท้ายก็หนีน้ำขังรอการระบายไม่รอดอยู่ดี เมื่อต้องขับรถลุยน้ำที่ท่วมสูง บางคันไปไม่ไหวจอดตายกลางถนนก็มี ส่วนคนที่ไม่มีรถยิ่งหนักกว่า ไหนจะเปียกฝน ไหนจะรอรถนานเพราะรถขาดระยะ ไหนจะรถติด ไหนจะต้องหลบรถที่ขับน้ำกระเด็นใส่ ดังนั้น เมื่อเราควบคุมฝนไม่ได้ ก็มาดูวิธีเอาตัวรอดกันหน่อยดีกว่า เผื่อเป็นแนวทางให้มนุษย์ออฟฟิศทั้งหลายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ไม่มากก็น้อย

1. หารองเท้าแตะมาทิ้งไว้ที่ออฟฟิศ

ในช่วงที่ฝนตกทุกวัน เช้า กลางวัน เย็นแบบนี้ มนุษย์ออฟฟิศควรจะมี “รองเท้าแตะ” ทิ้งไว้ที่ออฟฟิศกันเหนียวบ้าง โดยเฉพาะคนที่ต้องใส่รองเท้าหนัง รองเท้าหุ้มส้น หรือรองเท้าผ้าใบเป็นประจำ วันไหนที่ฝนตกจะได้ไม่ต้องเอารองเท้าดี ๆ แพง ๆ ไปลุยน้ำให้เปรอะเปื้อน เพราะรองเท้าแตะทำความสะอาดได้ง่ายกว่า และถ้าสภาพเยินเกินเยียวยา จะได้โยนทิ้งได้โดยไม่เสียดายเท่าไร

2. อุปกรณ์จำเป็นที่ต้องมีติดกระเป๋า

ทั้งหมดนี้เป็นอุปกรณ์ที่ทุกคนควรจะมีติดกระเป๋าไว้ห้ามเอาออก ได้แก่ หมวก ร่ม เสื้อกันฝน ถุงพลาสติก และกระดาษชำระแบบเปียก ของเหล่านี้จะมีประโยชน์มากในยามที่เราต้องการ ถ้าเราต้องออกไปลุยฝน เลเวลเบา ๆ ปรอย ๆ แค่ใส่หมวกเอาก็จบ แรงกว่านั้นหน่อยก็กางร่ม และถ้าใช้จักรยานยนต์หรือเดินเท้าใส่เสื้อกันฝนจะปลอดภัยกว่า ของอะไรที่เปียก ๆ ก็จับยัดใส่ถุงพลาสติก ขาเลอะก็ใช้กระดาษชำระเช็ด รับรองว่าชีวิตดีกว่าตอนที่ไม่พกอะไรเลยแน่ ๆ

3. รองเท้ากันฝน มีหน่อยก็ดีนะ

ปัญหาสำหรับคนเดินเท้าที่ทำให้เกลียดวันฝนตกสุด ๆ ก็เพราะมัน “เฉอะแฉะ” ยิ่งบนฟุตบาทเสี่ยงทายกรุงเทพฯ ด้วยแล้ว อาจจะลื่นล้มหัวร้างข้างแตก หรือโดนน้ำเน่าจากร่องอิฐดีดใส่ แต่ปัจจุบันมีสิ่งประดิษฐ์ที่ออกแบบมาแก้ปัญหานี้ นั่นก็คือ “รองเท้ากันฝน” ลักษณะของมันจะคล้ายกับรองเท้ากันทากสำหรับเดินป่า แต่สั้นกว่า นอกจากจะช่วยลดปัญหาเฉอะแฉะได้มากแล้ว ยังเดินลุยน้ำท่วมได้สบาย ๆ ล้างทำความสะอาดง่ายด้วย

4 . หมั่นเช็กสภาพอากาศผ่านแอปพลิเคชัน

เมื่อก่อน เวลาจะดูสภาพฝนฟ้าอากาศแต่ละทีอาจจะต้องรอพึ่งข่าวโทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ ว่าสภาพอากาศต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร แต่ทุกวันนี้อินเทอร์เน็ตทำให้เรารู้ได้แบบเรียลไทม์ และพยากรณ์ก็ค่อนข้างแม่นยำ ใช้งานก็ง่าย แค่กดเข้าแอปพลิเคชันก็รู้แล้ว เมื่อโหลดมาแล้วก็ลองเอามาหมั่นใช้ดูสภาพอากาศบ้าง เช่น เช็กทิศทางลม ทิศทางฝน เพื่อจะได้วางแผนว่าเช้านี้เย็นนี้จะเอาตัวรอดจากฝนอย่างไรดี

5. ขออนุญาตกลับก่อนถ้าเป็นไปได้

วิธีนี้ไม่สามารถทำได้กับทุกออฟฟิศ แต่ส่วนมากเป็นออฟฟิศเล็ก ๆ คนไม่เยอะ และเจ้านายใจดี ไม่ได้เคร่งมากเท่าไร เขาก็อาจจะอะลุ่มอล่วยให้ หรือไล่ให้เรากลับก่อนที่ฝนจะตก ส่วนงานที่ค้างค่อยเอาไปทำเมื่อถึงบ้าน เพราะอย่างน้อยที่สุดพนักงานที่ไม่มีรถส่วนตัวก็อาจจะได้ขึ้นรถแล้ว ซึ่งก็จะไม่เปียกฝน แต่ถ้าเป็นออฟฟิศใหญ่ ๆ คนมาก ๆ ก็ลองเจรจาดูก่อน เผื่อมีโอกาสได้หนีฝนก่อน

6. รอให้ฝนหยุดแล้วค่อยกลับ

ถ้าฝนตกหนักยาวนานไปจนถึงช่วงเลิกงาน แต่ยังพอมีหวังว่าฝนใกล้จะหยุดแล้ว ก็ขอให้อดทนรออีกสักประเดี๋ยวคล่อยกลับก็ได้ เพราะถ้าเสี่ยงออกไป ณ ตอนนั้นก็เปียกอยู่ดี แถมยังไปเจอกับรถติดสาหัสอีกต่างหาก ท้ายที่สุดก็กลับไม่ได้ นั่งรออยู่ในออฟฟิศยังสบายกว่าเป็นไหน ๆ โดยอาจเช็กสภาพจราจรในเส้นทางที่ต้องกลับว่ามีสภาพอย่างไร ถ้าสภาพเลวร้ายน้อยลง ฝนหยุดแล้ว ก็เก็บกระเป๋ากลับบ้านกัน

7. ลา (ตามความเหมาะสม) คือตัวเลือกสุดท้าย

ถ้าช่วงที่ฝนตกหนักคือช่วงเช้า ขณะที่เราจะออกจากบ้าน แต่ฝนก็เทอย่างหนัก น้ำก็ท่วมขัง รถก็ติด ถ้าดูแล้วสถานการณ์ไม่สู้ดี อย่าเพิ่งออกจากบ้านให้เจอปัญหา “กลับตัวก็ไม่ได้ ให้ไปต่อก็ไม่ถึง” เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราอาจจะออกไปติดแหงกอยู่บนถนนแทน ซึ่งเสียสุขภาพจิตเป็นที่สุด “การลางาน” จึงน่าสนใจไม่น้อย ทั้งนี้ต้องพิจารณาดี ๆ ด้วยว่าจะลาทั้งวันหรือครึ่งวัน จะได้ไม่เสียวันหยุดลากิจหรือลาพักร้อนไปทั้งวัน