ข้อดีของความแก่คือ “การปล่อยวาง”

เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น ความรู้สึก “กลัวความแก่” อาจจะแวบเข้ามาในสมองบ้าง หลายคนจึงหันไปพึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ เพื่อหวังชะลอความแก่ ขณะที่บางคนเริ่มปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว

จะว่าไปแล้ว ความแก่ หรือ ความชรา เป็น “สัจธรรม” อย่างหนึ่งที่ไม่มีใครหลีกหนีพ้น แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังรับไม่ได้ถ้าวันหนึ่งสังขารของตัวเองต้องต่างไปจากเดิม และแม้มีคำพูดที่ว่า “Life begins at 40” แต่พออายุเข้าสู่หลักสี่ขึ้นมาจริง ๆ กลับอดไม่ได้ที่จะรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของร่างกายที่เริ่มเสื่อมถอยลง

แต่รู้หรือไม่ว่าความวิตกกังวลเรื่องความแก่ จะค่อย ๆ ลดน้อยลงเมื่อเข้าสู่วัยที่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากการสำรวจความเห็นของศูนย์วิจัยความเห็นแห่งชาติ (NORC) มหาวิทยาลัยชิคาโก ในสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเรื่องนี้จากคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป มากกว่า 3,000 คน พบว่า คนที่อยู่ในช่วงวัย 30 ปี จะมองโลกในแง่ดีน้อยกว่าผู้ที่สูงวัยกว่า

โดยมีถึง 54 เปอร์เซ็นต์ที่กังวลเรื่องความแก่ และมีถึง 4 ใน 10 ที่มองว่า “อายุเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกความแก่” ต่างจากคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์ ที่มองว่า “อายุเพิ่มขึ้นก็เป็นเพียงแค่ตัวเลขเท่านั้น”

และเมื่อถามเกี่ยวกับเรื่อง “คุณภาพชีวิต” ยังพบด้วยว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีชีวิตที่ดีถึงดีมาก รวมถึงไม่ค่อยกังวลว่าความแก่จะทำให้สุขภาพของตัวเองแย่ลง มีความจำเสื่อม หรือช่วยตัวเองไม่ได้ จนต้องไปพักอยู่สถานดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่คนหนุ่มสาวในวัย 30 มีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่บอกว่าตัวเองมีชีวิตที่ดี

จากผลสำรวจนี้ จึงพอสรุปได้ว่า คนเราเมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น จะมีมุมมองที่บวกขึ้นในเรื่องความแก่ชรา หรืออาจเรียกได้ว่า “ปล่อยวาง” และเข้าใจสัจธรรมได้มากขึ้นนั่นเอง เหมือนเช่นคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า

“เราทุกคนล้วนมีความแก่เป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นจากความแก่ไปได้
เราทุกคนล้วนมีความเจ็บเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นจากความเจ็บไปได้
เราทุกคนล้วนมีความตายเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นจากความตายไปได้
เราทุกคนล้วนมีความพลัดพรากจากคนรัก และของรักเป็นธรรมดา ไม่มีใครล่วงพ้นจากความพลัดพรากไปได้
เราทุกคนล้วนมีกรรมเป็นสมบัติของตัวเองเป็นธรรมดา ไม่มีใครหลบลี้หนีกฎแห่งกรรมไปได้”