“ประกันสังคม” มาตรา 33 / 39 / 40 ต่างกันอย่างไร?

การทำประกันสังคมถือเป็นการสร้างหลักประกันและความอุ่นใจให้กับผู้ที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม เพราะมีสิทธิประโยชน์และความคุ้มครองให้ทั้งการรับการรักษาพยาบาลและทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง ในกรณีที่เจ็บไข้ได้ป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ว่างงาน ชราภาพ หรือเสียชีวิต

โดยผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม มีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ผู้ประกันตน มาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งจากการเปิดเผยข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมประจำปีนี้ พบว่ามีผู้ประกันตนมาตรา 33 กว่า 11.2 ล้านคน ขณะที่มาตรา 39 มีจำนวน 1.7 ล้านคน และมาตรา 40 มีจำนวน 3.4 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม หลายคนยังไม่ทราบว่าผู้ประกันตนแต่ละมาตรามีความแตกต่างกันอย่างไร และมีความคุ้มครองครอบคลุมเหมือนกันหรือไม่ วันนี้ Tonkit360 จึงรวบรวมข้อมูลมาฝากกัน

มาตรา 33

คุณสมบัติ

  • บุคคลที่เป็นลูกจ้างในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป 
  • อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์
  • ส่งเงินสมทบ  5 เปอร์เซ็นต์ นายจ้างจ่ายสมทบ 5 เปอร์เซ็นต์ และรัฐบาลจ่ายสมทบ 2.75 เปอร์เซ็นต์ ของฐานเงินค่าจ้าง ขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
  • สิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองมี 7 กรณี – ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ, ว่างงาน, เสียชีวิต

มาตรา 39

คุณสมบัติ

  • บุคคลที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือนและออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ลาออกจากงาน
  • ต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม
  • ส่งเงินสมทบเดือนละ 432 บาทต่อเดือน ซึ่งเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ คือ เดือนละ 4,800 บาทเท่ากันทุกคน โดยคิดจากอัตราเงินสมทบ 9% (4,800 x 9% = 432 บาทต่อเดือน)
  • สิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองมี 6 กรณี –  ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย, ทุพพลภาพ, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร, ชราภาพ, เสียชีวิต ต่อเนื่องจากการเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 

มาตรา 40

คุณสมบัติ

  • บุคคลทั่วไปที่ไม่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 
  • อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ 
  • เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ
  • สามารถเลือกส่งเงินสมทบได้ 3 ทางเลือก

ทางเลือกที่ 1 จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองมี 3  กรณี – ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย , ทุพพลภาพ, เสียชีวิต

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองมี 4 กรณี – ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย , ทุพพลภาพ, ชราภาพ, เสียชีวิต

ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน สิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครองมี 5 กรณี – ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย , ทุพพลภาพ, ชราภาพ, สงเคราะห์บุตร, เสียชีวิต

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี

  • ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาล ค่าทำฟัน (ปีละ 900 บาท) รักษาโรคทางจิต บำบัดไต ยาต้านไวรัสเอดส์ รับการรักษาโรคมะเร็ง 10 ชนิดตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด และขอรับเงินทดแทนเนื่องจากขาดรายได้กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างหยุดงานเพื่อรักษาพยาบาลได้ โดยจะได้รับร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือน
  • ทุพพลภาพ (ไม่ใช่จากการทำงาน) สามารถเบิกค่าบริการทางแพทย์ ค่ายานพาหนะรับส่งไปโรงพยาบาล เงินทดแทนขาดรายได้เนื่องจากทุพพลภาพ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายเดือนตลอดชีวิต
  • คลอดบุตร สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ในการคลอดบุตรได้ครั้งละ 13,000 บาท และได้รับเงินทดแทนจากการขาดรายได้กรณีคลอดบุตรอีกร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นเวลา 90 วัน
  • สงเคราะห์บุตร ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 400 บาท/ คน โดยจะจ่ายให้ตั้งแต่บุตรของผู้ประกันตนมีอายุตั้งแต่ 0-6 ปี
  • ชราภาพ เมื่อผู้ประกันตนมีอายุ 55 ปี จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม
  • ว่างงาน สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายเงินชดเชยให้กรณีที่ผู้ประกันตนว่างงาน หากถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 180 วัน หากลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 30 ของเงินเดือน เป็นระยะเวลา 90 วัน
  • เสียชีวิต (ไม่ใช่จากการทำงาน) ผู้เป็นธุระจัดการศพสามารถเบิกค่าทำศพได้ 40,000 บาท ทายาทหรือบุคคลในครอบครัวจะได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่มจำนวนหนึ่ง (คิดจากเงินเดือนเฉลี่ยตั้งแต่ 1 เดือนครึ่ง – 5 เดือน และขึ้นอยู่กับช่วงระยะเวลาที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ)

ข้อมูล : สำนักงานประกันสังคม