ไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลาย ๆ คนอาจจะนึกฝันเล่น ๆ ถึงการนั่ง ๆ นอน ๆ ในขณะเดียวกันก็ยังมีเงินกินเงินใช้ตามปกติ แต่เอาเข้าจริงคงไม่มีใครสามารถใช้ชีวิตเช่นนั้นได้หรอก คงต้องมีความรู้สึกเหี่ยวเฉากันบ้าง ไม่ก็คงรู้สึกว่าชีวิตไร้ความหมายและช่างไม่มีแก่นสารเอาเสียเลย
คนพิการก็เช่นกัน ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครอยากจะหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน เป็นภาระให้คนอื่นต้องเลี้ยงดู แต่เขาต่างจากคนกลุ่มแรกตรงที่ “เขาไม่ได้อยากนั่ง ๆ นอน ๆ เฉย ๆ แล้วมีเงินใช้” ฉะนั้นแล้ว สำหรับผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพ เขามั่นใจว่านี่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน พิการไม่ได้แปลว่าจะทำงานไม่ได้ หากร่างกายยังเคลื่อนไหวได้ ยังช่วยเหลือตัวเองได้อยู่ อ่านออกเขียนได้ ต้องมีสักงานที่พวกเขาสามารถทำได้ พวกเขาต้องการแค่ “โอกาส” แต่พวกเขามักได้รับการหยิบยื่นน้อยกว่าคนแขนขาและหูตาดี
ความจริงแล้วมีกฎหมายคุ้มครองผู้พิการ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ในมาตรา 33 ได้กำหนดสัดส่วนการจ้างงานคนพิการทั้งในหน่วยงานของรัฐและสถานประกอบการภาคเอกชนที่มีจำนวนลูกจ้างหรือผู้ปฏิบัติงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปต้องรับคนพิการเข้าทำงานในอัตรา 100 : 1 และมาตรา 35 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ประสงค์จะรับคนพิการเข้าทำงานตามมาตรา 33 จะต้องให้สัมปทานจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการ โดยวิธีกรณีพิเศษ ฝึกงาน หรือจัดให้มีอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก ล่ามภาษามือ หรือให้ความช่วยเหลืออื่นใดแก่คนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการได้
กฎหมายนี้ก็เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงโอกาสในการมีงานทำได้เช่นเดียวกับคนปกติ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการให้สามารถดูแลตนเองได้ โดยที่พวกเขาไม่ต้องรู้สึกว่าเป็นภาระใคร รู้สึกว่าตนเองก็เป็นคนปกติธรรมดาคนหนึ่งเหมือนกัน และเป็นที่ยอมรับในสังคมว่าเขาสามารถทำงานได้ ไม่ได้เป็นภาระใครให้ใครต้องเลี้ยงดู ซึ่งปัจจุบันก็มีตำแหน่งงานต่าง ๆ ที่ให้ผู้พิการทำงานได้ Tonkit360 ได้ลองรวบรวมตำแหน่งที่ผู้พิการทั่วไปสามารถทำได้ ดังนี้
1. พนักงานประจำร้านอาหาร/ร้านกาแฟ
ปัจจุบันมีร้านอาหารหรือกาแฟจำนวนไม่น้อยที่จ้างงานผู้พิการมาทำงานในร้าน อย่างร้าน “ปัญญา คาเฟ่” ที่ให้โอกาสผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญามาทำงานเป็น “บาริสต้า” รวมถึง “เด็กเสิร์ฟ” ซึ่งแม้ว่าคนกลุ่มนี้จะมีปัญหาทางการเรียนรู้ แต่พวกเขาสามารถเรียนรู้ได้ อาจจะต้องสอนซ้ำ ๆ ทำให้ดูบ่อย ๆ พวกเขาสามารถจำและทำได้ดี
ส่วนอีกที่ที่เพิ่งเปิดให้บริการเป็นสาขาแรก คือร้าน “Cafe Amazon for Chance” เป็นร้านกาแฟที่จะให้บริการโดย “บาริสต้าทหารผ่านศึก” ซึ่งเป็นผู้ที่บาดเจ็บหรือทุพพลภาพอันเนื่องมาจากศึกสงคราม เปิดให้บริการในรูปแบบของร้านค้าสวัสดิการภายในหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน
2. พนักงานบริการด้านการขาย/บริการลูกค้า
ผู้พิการที่พิการทางการได้ยิน พิการทางการสื่อความหมาย หรือผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ที่สามารถอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ และทำหน้าที่อื่น ๆ ได้ มีหน่วยงานที่เปิดโอกาสให้คนพิการกลุ่มนี้ได้ทำงานในตำแหน่งพนักงานบริการด้านการขายหรือบริการลูกค้า เช่น การฉีกตั๋วและเช็กรอบในการฉายภาพยนตร์ ที่โรงภาพยนตร์ SF ก็เปิดรับสมัครอยู่บ่อยครั้ง
3. พนักงานขับรถส่งของ
เช่น Grab เป็นหน่วยงานเอกชนที่ได้เปิดโอกาสการทำงานให้กับผู้ที่พิการ ดังเช่นที่ผ่านมามีทั้งผู้พิการทางการได้ยินและผู้พิการทางการสื่อความหมาย สามารถทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถได้ ไม่ว่าจะเป็นส่งของ/พัสดุ ส่งอาหาร หรือแม้กระทั่งส่งคน ซึ่งอาจต้องผ่านการทดสอบเรื่องการใช้รถใช้ถนนสักนิด แต่หากผ่านก็ไม่เป็นปัญหาอะไร
4. พนักงานธุรการทั่วไป
สำหรับผู้การทางร่างกาย ซึ่งยังมีความสามารถทางสติปัญญา สามารถทำงานที่ต้องใช้ศักยภาพทางสติปัญญาได้ เหมือนกับคนทั่วไป เพียงแต่การเคลื่อนไหวอาจจะไม่ได้คล่องตัวเท่าคนปกติ มีองค์กรทั้งเล็กและใหญ่เปิดรับสมัครผู้ร่วมงานเป็นคนพิการอยู่บ่อยครั้ง
5. พนักงานทำความสะอาด
สำหรับผู้พิการที่พิการทางการได้ยิน พิการทางการสื่อความหมาย หรือผู้พิการทางการเคลื่อนไหวแต่ไม่ได้สูญเสียอวัยวะจนเป็นอุปสรรคในการทำงาน สามารถทำงานในตำแหน่งพนักงานทำความสะอาด หรือคนสวนได้ ซึ่งมีบริษัทที่พร้อมรองรับอยู่จำนวนมาก
สำหรับผู้พิการที่กำลังมองหาตำแหน่งงานอยู่นั้น สามารถดูตำแหน่งงานได้ที่ ตลาดงานคนพิการออนไลน์ และเฟซบุ๊กแฟนเพจ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่าคนปกติ และมีคนจำนวนไม่น้อยที่มองว่าพวกเขาเป็นภาระ อย่างไรก็ตาม เพียงแค่หยิบยื่นโอกาส พวกเขาสามารถทำงานได้ โดยที่พวกเขาก็มีความสุขมากที่สามารถพึ่งพาตัวเอง ทั้งยังรู้สึกมีคุณค่า ทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างมั่นคงและภาคภูมิใจ