ความยาวของ “นิ้วชี้” และ “นิ้วนาง” ใช้บอกเพศได้?

รอบรู้ใกล้ตัววันนี้ Tonkit360 จะชวนทุกคนมาเล่นเกม “สังเกตนิ้ว” ดู แน่นอนว่าหลายคนรู้ดีว่านิ้วมือของเรานั้นยาวไม่เท่ากัน แต่คงหาได้น้อยมากที่จะมีใครเอานิ้วมือของตัวเองไปกางเทียบกับเพศตรงข้ามแล้วสังเกตสิ่งที่แตกต่างแน่ ๆ แม้ว่าจะกำลังเล่นจ้ำจี้มะเขือเปราะอยู่ก็ตาม

หากใครได้ลองเล่นเกมนี้ แล้วสังเกตดูดี ๆ จะพบว่า ผู้หญิงกับผู้ชายมีความยาวของนิ้วสองนิ้ว คือ “นิ้วชี้และนิ้วนาง” ตรงข้ามกัน กล่าวคือ “ผู้ชายจะมีนิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้” และ “ผู้หญิงจะมีนิ้วชี้ยาวกว่านิ้วนาง”

แล้วจริงเหรอที่เราสามารถสังเกตเพศของคนได้ผ่านนิ้วชี้กับนิ้วนาง?

ข้อสังเกตนี้ทำให้มีนักวิทยาศาสตร์หลายคนสนใจและพยายามจะหาคำตอบให้ได้ ว่าอะไรกันที่ทำให้ผู้ชายมีนิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้ ในทางกลับกันผู้หญิงจะมีนิ้วชี้ยาวกว่านิ้วนาง เกิดสมมติฐานว่า ความยาวของนิ้วสองนิ้วสัมพันธ์กับ “ฮอร์โมนเพศ”

ฮอร์โมนเพศคืออะไร?

ฮอร์โมนเพศ เป็นฮอร์โมนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิต ในที่นี้คือ “มนุษย์” คือ มีผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมเมื่อเข้าสู่วัยสู่วัยเจริญพันธุ์ ดังนั้น ฮอร์โมนเพศจึงมีผลกระทบต่อร่างกายของมนุษย์ไม่ว่าจะทางใดก็ตาม

อวัยวะสืบพันธุ์ของมนุษย์จะเริ่มเจริญเติบโตตั้งแต่ยังเป็นตัวอ่อน (embryo) ในครรภ์มารดา กล่าวคือ ฮอร์โมนเพศของมนุษย์เริ่มทำงานตั้งแต่เด็กยังอยู่ในท้องแม่ ซึ่งจะเริ่มแสดงให้เห็นในช่วงการตั้งครรภ์ประมาณสัปดาห์ที่ 9-11 (แต่ยังเช็กไม่ได้ว่าเป็นเด็กผู้หญิงหรือเด็กผู้ชาย เพราะเห็นไม่ชัดเจนพอ)

แต่ตามธรรมชาติแล้ว ไม่ว่าจะคุณจะเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชาย ในร่างกายจะประกอบไปด้วยฮอร์โมนเพศ 2 เพศอยู่แล้ว คือ

  • ฮอร์โมนเพศชาย ได้แก่ เทสโทสเตอโรน (Testosterone)
  • ฮอร์โมนเพศหญิง ได้แก่ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) และ เอสโตรเจน (Estrogen)

ง่าย ๆ ก็คือ ในร่างกายผู้หญิงจะมีฮอร์โมนเพศชาย และในร่างกายผู้ชายก็จะมีฮอร์โมนเพศหญิง นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่บทบาทของฮอร์โมนเพศแต่ละตัวและปริมาณต่างหากที่เป็นตัวแปรให้เกิดความแตกต่างของแต่ละเพศอย่างชัดเจน

ฮอร์โมนเพศสร้างขึ้นที่ไหน

ฮอร์โมนเพศ ถูกสร้างขึ้นจากต่อมไร้ท่อของระบบสืบพันธุ์ ในเพศหญิงสร้างขึ้นที่รังไข่ (ovary) ส่วนเพศชายสร้างขึ้นที่อัณฑะ (testes) แต่ในระยะที่ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา ฮอร์โมนเพศจะถูกสร้างจากรก (placenta) ที่เชื่อมอยู่ระหว่างตัวอ่อนกับมดลูกของมารดา ซึ่งรกจะทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อชั่วคราวในการผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับตัวอ่อนในช่วงที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ที่จะสร้างฮอร์โมนเอง อย่างไรก็ตาม รกถือเป็นอวัยวะหนึ่งของมารดา ฉะนั้นฮอร์โมนเพศที่รกสร้างได้จึงมีเพียงโปรเจสเตอโรน และเอสโตรเจน ที่เป็นฮอร์โมนเพศหญิงเท่านั้น

เหตุใดฮอร์โมนเพศจึงกำหนดความยาวของนิ้วมือ

สมมติฐานว่าความยาวของนิ้วสองนิ้วสัมพันธ์กับ “ฮอร์โมนเพศ” นั้นมีนักชีววิทยาจาก University of Florida ค้นพบเหตุผลว่าทำไมนิ้วนางของผู้ชายมักจะยาวกว่านิ้วชี้ ส่วนของผู้หญิงจะตรงกันข้ามกัน ผลที่ได้เป็นเพราะ “อิทธิพลของฮอร์โมนเพศ”

ในรายงานของ National Academy of Sciences โดยทีมนักชีววิทยาวิวัฒนาการ คือ Dr. Martin Cohn และ Dr. Zhengui Zheng จาก Howard Hughes Medical Institute และภาควิชาอณูพันธุศาสตร์และจุลชีววิทยาที่ UF College of Medicine แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนของเพศชายและเพศหญิงนั้น ถูกกำหนดโดยความสมดุลของฮอร์โมนเพศในระหว่างการพัฒนาตัวอ่อนระยะแรก ซึ่งความแตกต่างของฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นให้เพศชายและเพศหญิงมีการเจริญเติบโตแบบเฉพาะ การศึกษาพบว่าสัญญาณฮอร์โมนเพศจะควบคุมการแบ่งเซลล์ของตัวอ่อนตั้งแต่ระยะหลังปฏิสนธิ โดยกระดูกนิ้วที่แตกต่างกันนั้น มีระดับความไวต่อฮอร์โมนเพศที่แตกต่างกัน

อีกทั้งยังเคยมีการศึกษาในคนจำนวน 155 คน เป็นเพศชายจำนวน 78 คน และเพศหญิง 77 คน โดยให้ทำแบบสอบถามการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพศตรงข้าม เป็นระยะเวลา 5 นาทีนานกว่านั้นเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ในแบบสอบถามนั้นจะวัดพฤติกรรมความรุนแรง โดยให้ผู้เข้าร่วมทำการวิจัยตอบว่า “อ่อนโยน” หรือ “ระหองระแหง” พบว่าผู้ชายที่มีนิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้ มีพฤติกรรมที่น่าพอใจต่อผู้หญิงถึง 1 ใน 3 และมีพฤติกรรมที่ชวนให้ระหองระแหงน้อยกว่าผู้ชายที่มีนิ้วนางสั้นกว่านิ้วชี้

ดูกลาย ๆ จะคล้ายกับว่า ผู้ชายที่มีนิ้วนางสั้นกว่านิ้วชี้จะมีพฤติกรรมที่ชวนให้ระหองแหง (ซึ่งคล้ายกับพฤติกรรมของผู้หญิง) ส่วนผู้ชายที่มีนิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้ จะดึงดูดผู้หญิงมากกว่าด้วยพฤติกรรมแบบสุภาพบุรุษ การศึกษาข้างต้นจึงสรุปออกมาว่า ตัวอ่อนที่มีมีฮอร์โมนเพศชายตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้นิ้วนางยาวเท่านั้น

ความยาวนิ้วยังบอกอะไรได้อีก

ไม่เพียงเท่านั้น ความยาวของนิ้วมือไม่ได้มีผลเพียงแต่กับผู้ชายในเรื่องของพฤติกรรมเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับระดับสติปัญญา จากการศึกษาคะแนนสอบเข้ามหาวิทยาลัยของเด็ก ๆ ในประเทศอังกฤษพบว่า ทั้งเด็กผู้ชายและผู้หญิงที่นิ้วชี้สั้นกว่านิ้วนาง จะทำคะแนนวิชาคำนวณได้ดีกว่าคะแนนในวิชาการสื่อสาร ในขณะเดียวกัน เด็กผู้หญิงที่มีนิ้วนางยาวกว่านิ้วชี้ กลับทำคะแนนในวิชาการสื่อสารดีกว่าวิชาคำนวณ นี่จึงบอกได้ว่าความยาวของนิ้วไม่ได้ใช้ระบุเพศได้ทุกคนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ยังมีคนที่เป็นข้อยกเว้น ซึ่งเกี่ยวข้องว่าในร่างกายมีฮอร์โมนเพศชนิดไหนมากกว่ากัน

นอกจากนี้ จากการศึกษาทั้งหมด ก็ยังเปิดโลกใหม่ให้กับใครหลาย ๆ คนด้วย เพราะนักวิจัยพบว่าฮอร์เมนเพศไม่ได้มีหน้าที่เพียงบ่งบอกเพศและกำหนดความยาวของนิ้วนางเท่านั้น แต่ยังเป็นตัวบ่งชี้บุคลิกภาพ ระดับสติปัญญา รวมถึงความผิดปกติของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา อย่างภาวะออทิสติก โรคหัวใจ หรือความผิดปกติอื่น ๆ  ซึ่งทำให้แพทย์รู้ที่มาของโรค ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับการรักษาหรือการประเมินความเสี่ยงของโรคได้ตามเงื่อนไขที่เฉพาะทาง

ไม่น่าเชื่อว่าความยาวของนิ้วชี้กับนิ้วนางจะบอกอะไรได้มากขนาดนี้ ถ้ายังสงสัย ลองสังเกตนิ้วมือของคนใกล้ตัวกับพฤติกรรมของเขาดูสิ หรือจะสังเกตนิ้วมือของตัวเองกับพฤติกรรมของตัวเองดูก็ได้

ข้อมูลจาก ScienceDaily, LiveScience