ส่องของยอดฮิตเข้า “โรงรับจำนำ” แล้วได้ราคา!

ภาพจาก Pixabay

เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียน สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาสำหรับผู้ปกครองหลาย ๆ คนก็คือ “เงิน” เพราะค่าใช้จ่ายในช่วงที่เด็ก ๆ เตรียมไปโรงเรียนนั้นมีมากขึ้นทั้งค่าเทอม ค่าเสื้อผ้า ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่ากิน และจิปาถะอีกมากมาย ผู้ปกครองบางคนจึงประสบปัญหาหมุนเงินไม่ทันใช้ ที่พึ่งที่พอจะหันไปหาได้ ก็คือ “โรงรับจำนำ”

“โรงรับจำนำ” เป็น “แหล่งเงินกู้ทางเลือก” ของผู้ที่ไม่มีเครดิต แต่มีทรัพย์สินที่พอจะใช้ค้ำประกันหรือเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดได้ โรงรับจำนำจึงกลายเป็นแหล่งพึ่งพิงด้านเงินทุนสำหรับประชาชนที่ขัดสนเรื่องเงินที่มีความปลอดภัย รวดเร็ว ไม่ยุ่งยาก ได้เงินง่าย ได้เงินดี ดอกเบี้ยเป็นมิตร และได้เงินชัวร์ เพราะครั้นจะหันไปกู้เงินนอกระบบ นอกจากดอกเบี้ยแสนแพงแล้ว ยังเสี่ยงที่จะโดนชายชุดดำตามประกบอีกด้วย

ก่อนอื่น Tonkit360 มีความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโรงรับจำนำมาฝาก โดยโรงรับจำนำนั้นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  • สถานธนานุเคราะห์ เป็นโรงรับจำนำของรัฐบาล ที่สังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีอยู่ 39 แห่งทั่วประเทศ โดยอยู่ในกรุงเทพมหานครแล้วถึง 29 แห่ง อยู่ในเขตปริมณฑล 4 แห่ง และกระจายอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศอีก 6 แห่ง เป็นโรงรับจำนำที่มีดอกเบี้ยถูกที่สุด
  • สถานธนานุบาล เป็นโรงรับจำนำของรัฐเช่นกัน แต่จะสังกัดการปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ สังกัดกรุงเทพมหานคร มีอยู่ 21 แห่ง และสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอีกประมาณ 238 แห่ง กระจายอยู่ตามท้องถิ่นในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
  • โรงรับจำนำเอกชน เป็นโรงรับจำนำที่เป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของภาคเอกชน มีสาขามากที่สุด

ทำให้จนถึงปัจจุบัน “โรงรับจำนำ” ยังคงเป็นแหล่งเงินด่วนคู่ทุกข์คู่ยากของคนขัดสนที่นึกถึงกันเป็นอันดับต้น ๆ แล้วมีสิ่งของอะไรบ้างที่โรงรับจำนำยอมรับให้นำมาจำนำได้และเป็นสิ่งของที่ฮิตที่สุด Tonkit360 มีข้อมูลมาฝาก

โรงรับจำนำ จะรับสิ่งของในรูปของ “สังหาริมทรัพย์” และหากเป็นโรงรับจำนำของรัฐ จะไม่สามารถจำนำของที่กฎหมายกำหนดว่าต้องมีทะเบียนได้ เช่น บ้าน ที่ดิน มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และปืน โดยสิ่งที่คนนิยมนำไปจำนำกัน ได้แก่

1. ทองคำ

ทอง เป็นของที่มีมูลค่าสูง (และมีแต่สูงขึ้น) จึงเป็นของยอดฮิตที่คนจะนำไปจำนำยามขัดสน จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเลือกออมเงินด้วยการซื้อทอง ดังนั้น ถ้าถือทองไปโรงรับจำนำรับรองว่าไม่เสียเที่ยวแน่นอน แต่อย่านำทองปลอมไปจำนำเด็ดขาด เพราะมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปี แถมยังอาจโดนเรียกค่าสินไหมอีกด้วย

2. ครกหิน

รู้หรือไม่? ว่าโรงรับจำนำก็รับจำนำครกหินด้วย หากครกหินที่นำมามีสภาพเก่าแต่ยังสมบูรณ์ และนำมาครบทั้งตัวครกและสาก ราคาจะยิ่งดีตาม โดยราคาอาจได้มากถึง 500 บาทเชียว! ทั้งนี้ยังรวมไปถึงอุปกรณ์ทำมาหากินอย่างหม้อก๋วยเตี๋ยว โรงรับจำนำก็ยังรับจำนำ ขึ้นอยู่กับสภาพของขิงสิ่งนั้น

3. เครื่องใช้ไฟฟ้า

อย่างพวกเครื่องครัว หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ยังมีสภาพดี เช่น หม้อหุงข้าวไฟฟ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่สภาพดีเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ หรือถ้าในสมัยนี้ หม้อทอดไร้น้ำมันก็ดูจะเป็นที่พึ่งได้เหมือนกัน

4. โทรศัพท์มือถือ

โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่มีใช้กันแทบทุกคน อาจจะเป็นรุ่นเก่าบ้างรุ่นใหม่บ้าง ส่วนราคาก็ตามสภาพและยี่ห้อ หากมีโทรศัพท์มือถือสภาพดี อุปกรณ์ใช้งานครบ ก็ได้ราคาดีแน่นอน

5. จักรยาน

ปกติโรงรับจำนำรับจำนำจักรยานอยู่แล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพและยี่ห้อของจักรยานด้วย หากเป็นยี่ห้อดัง ๆ ก็ได้หลายตังค์ แต่ถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์ โรงรับจำนำจะไม่รับจำนำ เนื่องจากเป็นของที่มีทะเบียน

6. คอมพิวเตอร์

โรงรับจำนำรับทั้งคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะและโน้ตบุ๊ก เพราะเป็นสิ่งที่มีราคาค่อนข้างดี อีกทั้งยังปล่อยต่อในกรณีหลุดจำนำได้ค่อนข้างง่าย

7. เครื่องดนตรีต่าง ๆ

ไม่แปลกที่บางทีจะเห็นเครื่องดนตรีอย่างกีตาร์ คีย์บอร์ด หรือไวโอลินอยู่ในโรงรับจำนำ เพราะราคาของเครื่องดนตรีหลายอย่างค่อนข้างแพง เอาไปใช้เปลี่ยนเป็นเงินสดได้

8. กล้องถ่ายรูป

อาจจะสะเทือนใจใครหลายคนหากต้องนำกล้องถ่ายรูปเข้าโรงรับจำนำ แต่หากการเงินเข้าสู่ภาวะฝืดเคือง ลองนำกล้องถ่ายรูปไปเปลี่ยนเป็นเงินดูก่อน เพราะกล้องบางตัวก็ได้ราคางามเลย

9. เครื่องประดับและของใช้แบรนด์เนม

อาจดูเหมือนว่าคนที่มีของใช้เหล่านี้ไม่จำเป็นจะต้องเข้าโรงรับจำนำ แต่คนเรามีปัญหาการเงินกะทันหันได้เสมอ ดังนั้นหากมีสร้อยเพชร แหวนเพชร ต่างหู นาฬิกา รวมถึงของใช้แบรนด์เนมต่าง ๆ ก็สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นเงินก่อนได้

วิธีใช้บริการโรงรับจำนำ

หากต้องการเงินด่วน สามารถติดต่อโรงรับจำนำใกล้บ้าน ยื่นบัตรประชาชน พร้อมกับทรัพย์สินที่ต้องการจำนำให้เจ้าหน้าที่ประเมินราคา จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอนพิมพ์ลายนิ้วมือ เมื่อเจ้าหน้าที่จะออกตั๋วจำนำให้แล้ว ก็รับเงินกลับบ้านได้เลย

การชำระดอกเบี้ย ติดต่อที่โรงรับจำนำที่เราไปจำนำของไว้ แจ้งเจ้าหน้าที่ว่า “ส่งดอกเบี้ย” พร้อมยื่นบัตรประชาชนและตั๋วจำนำ เจ้าหน้าที่จะแจ้งดอกเบี้ยที่ต้องชำระ หากชำระเรียบร้อยก็รับตั๋วจำนำฉบับใหม่ต่อไปได้อีก 4 เดือน ทุก ๆ 1 เดือนจะต้องติดต่อชำระดอกเบี้ยอีกครั้ง

การไถ่ถอน ในกรณีที่มีเงินไปไถ่ของคืนแล้ว สามารถไปติดต่อ “ขอไถ่ถอน” พร้อมตั๋วจำนำและและบัตรประชาชนไปยื่นด้วย จากนั้นก็ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยที่เหลือ พิมพ์ลายนิ้วมือ เสร็จแล้วก็สามารถรับของคืนได้เลย แต่หากเงินไม่พอที่จะไถ่ของคืนได้ทั้งหมด ก็สามารถแบ่งไถ่ถอนคืนบางส่วนก่อนได้

อัตราดอกเบี้ยโรงรับจำนำ

ข้อมูลจากสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ดังนี้

  • เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิด 0.25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
  • เงินต้น 5,001-15,000 บาท คิด 1.00 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
  • เงินต้นเกิน 15,000 บาท การคิดดอกเบี้ยจะแบ่งเป็น เงินต้น 2,000 บาทแรก คิด 2.00 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ส่วนที่เกินจาก 2,000 บาท จะคิด 1.25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน

ข้อมูลจากสถานธนานุเคราะห์ กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ดังนี้

  • เงินต้นไม่เกิน 5,000 บาท คิด 0.25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
  • เงินต้น 5,001-10,000 บาท คิด 0.75 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
  • เงินต้น 10,001-20,000 บาท คิด 1.00 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
  • เงินต้น 20,001-100,000 บาท คิด 1.25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน

ส่วนโรงรับจำนำของเอกชน จะคิดอัตราดอกเบี้ยตาม พ.ร.บ.โรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 โดยกำหนดว่า

  • เงินต้น 2,000 บาทแรก คิด 2 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน
  • ส่วนที่เกินจาก 2,000 บาทแรก จะคิด 1.25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน

หากให้พูดง่าย ๆ ก็คือ เพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของโรงรับจำนำจะไม่เกิน 1.25 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน ซึ่งถูกกว่าอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล และเงินกู้นอกระบบ อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น หากเดือดร้อนเรื่องเงิน “โรงรับจำนำ” ช่วยคุณได้