“มาตรการแจกเงิน” สารที่ส่งไม่ถึงประชาชน

ภาพจาก www.เราไม่ทิ้งกัน.com

เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลมีนโยบายแจกเงินให้กับประชาชน จะด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเยียวยาความทุกข์ยากเฉพาะกิจ ก็มักมีเสียงตอบรับตามมาแบบล้นหลามทุกครั้งไป ซึ่งรวมถึงมาตรการเยียวยาประชาชนรอบ 2 ที่มอบเงิน 5,000 บาท นาน 3 เดือน ให้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วย

แม้ว่ามีการประกาศให้ทราบตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์นับจากครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาว่า เงินเยียวยาก้อนนี้จะแจกให้ใคร แจกเมื่อไหร่ และสามารถขอรับได้ทางช่องทางใด แต่สุดท้ายก็เกิดความวุ่นวายเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา

ปัญหาสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ของภาครัฐที่ไปไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน ลูกจ้างชั่วคราวที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทางช่องทางโซเชียลมีเดียได้ นอกจากนี้ ยังมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่รับข่าวสารมาแบบไม่ครบถ้วน หรือฟังต่อ ๆ กันมา ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง จนเกิดความสับสนต่าง ๆ นานา

จึงไม่น่าแปลกใจกับภาพของชาวบ้านที่แห่ไปธนาคารของรัฐตามสาขาต่าง ๆ เพื่อขอเปิดบัญชีใหม่สำหรับรับเงินเยียวยา บ้างก็เข้าใจผิดว่าธนาคารเหล่านี้คือจุดที่เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอรับเงินสดได้ ทั้งที่ภาครัฐแจ้งให้ลงทะเบียนรับเงินผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน.com” ช่องทางเดียวเท่านั้น และสามารถรับโอนเงินได้ทุกธนาคาร รวมถึงพร้อมเพย์ที่ผูกบัญชีไว้กับเบอร์โทรศัพท์มือถือด้วย

และยังมีอีกจำนวนมากที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองอยู่ในข่ายที่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ เพราะช่วงแรกที่มีการแถลงข่าวจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีนั้น ระบุว่าเป็นการแจกเงินเฉพาะผู้ที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมเท่านั้น ก่อนที่สำนักงานประกันสังคมจะชี้แจงตามมาว่า ผู้ประกันตนมาตรา 39 และมาตรา 40 ที่ส่งเงินสมทบด้วยตัวเองก็เป็นผู้ที่เข้าข่ายในการรับเงินเยียวยาเช่นกัน

บ้างก็ไม่รู้ว่าการแจกเงินเยียวยาระลอกสอง ไม่มีกำหนดปิดรับลงทะเบียน และเปิดให้ลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ทุกคนแห่ลงทะเบียนพร้อม ๆ กัน ในเวลา 18.00 น. หลังจากเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเป็นวันแรกเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (28 มี.ค.) จนทำให้ช่วง 2 นาทีแรกมีผู้เข้าใช้งานมากถึง 20 ล้านคน และต่างเจอปัญหาเดียวกันคือไม่สามารถลงทะเบียนได้ก่อนที่เว็บจะล่มไปตามระเบียบ

แถมยังมีมิจฉาชีพอาศัยจังหวะนี้สร้างเว็บปลอมขึ้นมาอีกกว่า 40 เว็บ เพื่อหากินกับคนที่กำลังเดือดร้อนเข้าไปอีก หากใครไม่ดูให้ดีก็ตกเป็นเหยื่อไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะไม่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าวนลูปไปแบบนี้ หากภาครัฐสามารถส่งสารและทำความเข้าใจกับประชาชนได้อย่างทั่วถึง และครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ตอนแรก