
นับตั้งแต่ COVID-19 หรือโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แพร่ระบาดจากประเทศจีนไปยังประเทศอื่น ๆ กว่า 30 ประเทศทั่วโลก จนมียอดผู้ติดเชื้อเกือบ 8 หมื่นคน และเสียชีวิตไปแล้วกว่า 2,600 ราย ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ต้องหามาตรการในการรับมือ COVID-19 กันอย่างเร่งด่วน
เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยที่ยกระดับการระบาดของ COVID-19 ให้เป็นระดับ 3 แล้ว แม้ว่ายังไม่มีการระบาดในประเทศ พร้อมทั้งประกาศให้เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ต่อจากโรคซาร์ส (โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง) และโรคเมอร์ส (โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง) เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้ข้อกำหนดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ในการควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
หากเทียบกับโรคซาร์ส (SARS) ที่เคยเกิดการแพร่ระบาดเมื่อปี 2003 และโรคเมอร์ส (MERS) ที่เริ่มระบาดเมื่อปี 2012 พบว่า COVID-19 มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าทั้งสองโรครวมกัน แต่มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่า
COVID-19
มีอัตราการเสียชีวิต 2.3 เปอร์เซ็นต์ (ติดเชื้อ 79,442คน เสียชีวิต 2,683 ราย)
หมายเหตุ : อ้างอิงตัวเลขล่าสุด วันที่ 25 ก.พ.63 จาก euronews.com
SARS
มีอัตราการเสียชีวิต 10 เปอร์เซ็นต์ (ติดเชื้อ 8,098 คน เสียชีวิต 774 ราย)
หมายเหตุ : ระยะเวลาที่มีผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตอยู่ในปี 2003
MERS
มีอัตราการเสียชีวิต 30 เปอร์เซ็นต์ (ติดเชื้อ 2,497 คน เสียชีวิต 858 ราย)
หมายเหตุ : ระยะเวลาที่มีผู้ติดเชื้อ-เสียชีวิตอยู่ระหว่างปี 2012-2019
แม้ว่ามีอัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า SARS และ MERS แต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังประเมินว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป และยังพบด้วยว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรค COVID-19 มากที่สุดคือผู้ป่วยที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ทุกกลุ่มอายุล้วนมีโอกาสเสียชีวิตได้ทั้งหมด เหมือนเช่น Li Wenliang นายแพทย์ชาวจีนวัย 34 ปี ที่ออกมาเตือนเรื่องเชื้อไวรัสโคโรน่าในเมืองอู่ฮั่นเป็นคนแรก แต่กลับเสียชีวิตในภายหลังเนื่องจากติดเชื้อ COVID-19 จากการคลุกคลีกับผู้ป่วย
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเหตุใดกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่จากการวิจัยเกี่ยวกับไวรัสระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ Stanley Perlman แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยไอโอวา พบว่าการติดเชื้อ COVID-19 จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของแต่ละบุคคล
ความน่ากลัวของ COVID-19 คือการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วผ่านระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก เพียงแค่ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพูดคุย โดยมีละอองน้ำลายหรือของเหลวไปสัมผัสกับผู้อื่นผ่าน ตา, จมูก และปาก ก็สามารถติดเชื้อได้แล้ว
ยิ่งถ้าบุคคลนั้น ๆ ไม่รู้ตัวว่าเป็นพาหะของโรค ก็ยิ่งทำให้การแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19 น่ากลัวยิ่งขึ้น เช่นเดียวกับกรณีหญิงเกาหลีใต้วัย 61 ปี ที่คิดว่าเป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา และปฏิเสธการตรวจจากแพทย์จนส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อจากเธอเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ประเทศไทยก็เพิ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีอาการป่วยหลังเดินทางกลับมาจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 สูงที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และส่อเค้าว่าจะมีผู้ติดเชื้อจากผู้ป่วยรายนี้เพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากไม่ยอมแจ้งแพทย์ให้ทราบข้อเท็จจริงตั้งแต่แรก จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์เกือบ 40 ราย ต้องเฝ้าดูอาการอยู่ในห้องปลอดเชื้อทั้งหมด ขณะที่ผู้โดยสารที่เดินทางเที่ยวบินเดียวกันก็ได้รับคำแนะนำให้พบแพทย์ หรือติดต่อกรมควบคุมโรคโดยด่วน เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ COVID-19 ได้
นี่คือเหตุผลที่ทำให้ COVID-19 เลวร้ายกว่า SARS และ MERS อย่างไม่ต้องสงสัย!
ที่มา : bmj.com / scientist.com / scientist.com