ห่างไกลจาก “อัลไซเมอร์” ด้วยการปรับพฤติกรรมตนเอง


ห่างไกลจาก “อัลไซเมอร์” ด้วยการปรับพฤติกรรมตนเอง

โรคอัลซัลเมอร์ หรือ สมองเสื่อม นับวันจะใกล้ตัวคนไทยมากยิ่งขึ้น เพราะโรคนี้มักพบในผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ภายในปี 2568 ขณะที่การประเมินขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ไทยจะมีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก ในปี 2583 หรืออีก 23 ปีข้างหน้า

“อัลไซเมอร์” ซึ่งตั้งตามชื่อของจิตแพทย์ชาวเยอรมัน “อลอยส์ อัลไซเมอร์” เป็นโรคที่ยังไม่มีสาเหตุแน่ชัด และยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการสำคัญ คือ ความจำเสื่อม หลงลืม มีพฤติกรรม รวมถึงนิสัยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกตหรือใส่ใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้มีอาการแย่ลง และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

โดยสัปดาห์นี้ มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจของต่างประเทศ เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ออกมา 2 ชิ้น ซึ่งล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พฤติกรรมของคนเรามีส่วนสำคัญต่อการเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคสมองเสื่อมได้

งานวิจัยชิ้นแรกเป็นของศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยบอสตันของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่า คนที่นอนหลับนานกว่า 9 ชั่วโมง อาจเสี่ยงต่อการเป็นอัลไซเมอร์ได้มากขึ้นถึง 2 เท่า หลังพบว่า มีปัญหาในการคิดและมีปัญหาเรื่องความจำ จนนำไปสู่โรคสมองเสื่อมได้ภายในระยะเวลา 10 ปี

การค้นพบในครั้งนี้ ทีมวิจัยได้มาจากฐานข้อมูลเกี่ยวกับการนอนหลับของผู้ป่วยสมองเสื่อม 2,400 ราย ที่มีอายุเฉลี่ย 72 ปี และติดตามเฝ้าสังเกตอาการนานกว่า 10 ปี ซึ่งผลการศึกษาที่ได้สอดคล้องกับงานวิจัยที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ด้วย

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นจากมหาวิทยาลัยบาธของอังกฤษ พบว่า คนที่ชอบบริโภคน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงหรือโอกาสพัฒนาในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นเพราะกลูโคสจากน้ำตาลทำให้เกิดกระบวนการที่เรียกว่า “ไกลเคชั่น”

โดยจะเข้าไปทำลาย “MIF” เอ็นไซม์ตัวสำคัญ ที่ช่วยป้องกันการสร้างแผ่นคราบ (plaque) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง และเข้าไปทำลายโปรตีนในเซลล์ โดยพบว่าเมื่ออาการของอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น เอ็นไซม์ดังกล่าวก็ถูกทำลายมากขึ้นตามไปด้วย นั่นหมายความว่า เอ็นไซม์ที่ถูกทำลายแปรผันตามกลูโคสที่เข้าไปในสมอง

จากงานวิจัยทั้งสองชิ้น แสดงให้เห็นว่า โรคอัลไซเมอร์มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้ จากการที่ผู้ป่วยไปเร่งปฏิกิริยาของโรค ด้วย “พฤติกรรม” ของตัวเอง ทั้งการนอน และการบริโภคน้ำตาล ดังนั้น หากไม่อยากเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ ก็ควรปรับพฤติกรรมเสียใหม่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเราเอง