การเมืองกับคนทั่วไป : คุยกับอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ ทำไมเราต้องสนใจการเมือง?

หลายต่อหลายคนอาจมีคำถาม ว่าทำไมต้องสนใจการเมือง และประชาธิปไตยสำคัญอย่างไร ทาง Tonkit360 จึงได้สัมภาษณ์ความเห็นที่แน่นอนว่าต้องเป็นประโยชน์ต่อทุกคน จาก ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในประเด็นดังต่อไปนี้

ทำไมต้องเป็นประชาธิปไตย?

คือเวลาเราพูดถึง ประชาธิปไตย มันฟังดูเข้าใจยากเหมือนเป็นนามธรรม แต่จริง ๆ ประชาธิปไตยก็คือระบอบการปกครองแบบหนึ่ง ในโลกนี้มันมีระบอบการปกครองหลายแบบ เหมือนคอมพิวเตอร์ที่มีระบบปฏิบัติการหลายแบบ เราเลือกใช้ระบบปฏิบัติการต่างกันมันก็นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต่างกัน ในทางการเมืองก็เหมือนกัน

ระบอบประชาธิปไตยก็เป็นระบบการเมืองที่เปิดโอกาส ให้คนธรรมดาได้เข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเมื่อเทียบกับระบอบอื่น ๆ ฉะนั้นถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นประชาธิปไตย เพราะมันเป็นระบอบที่เปิดให้คนอย่างเราที่เป็นประชาชน ไม่ว่าจะเพศไหน อาชีพ สีผิว สามารถส่งเสียงได้ เมื่อเทียบกับระบอบการเมืองอื่นที่ไม่ค่อยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมหรือส่งเสียงเท่าไหร่

ทำไมคนชอบยกตัวอย่างมาเปรียบเทียบ สิงคโปร์ หรือ จีน ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย หรือไม่ได้เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ประเทศเขายังเจริญ

ต้องบอกก่อนว่า ประชาธิปไตย ประเทศจะเดินหน้าด้วยประชาชน ส่วนระบอบเผด็จการเป็นระบอบที่ฝากความหวังไว้กับผู้นำ เพราะอำนาจจะไปผูกขาดรวมศูนย์อยู่ที่คน ๆ เดียวหรือคนกลุ่มเล็ก ๆ ทีนี้ถ้าบังเอิญประเทศคุณมีผู้นำที่เก่งมาก ฉลาดมาก และไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวไม่คอรัปชั่นมันก็จะเจริญได้ แต่มันเป็นส่วนน้อยไง เผด็จการในโลกนี้ส่วนใหญ่พอผูกขาดอำนาจแล้วก็ทำเพื่อตนเอง ฉะนั้นเผด็จการส่วนใหญ่ก็มาพร้อมกับคอรัปชั่น แล้วก็เศรษฐกิจที่มันไม่พัฒนา

ทีนี้คนมักจะยกว่า มีกรณีข้อยกเว้นว่า เป็นเผด็จการแล้วยังเจริญ ซึ่งมีข้อยกเว้นมาก ๆ ซึ่งไปยกประเทศอย่างสิงคโปร์กับจีน ซึ่งก็เป็นความเข้าใจผิดมหาศาล ซึ่งเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับสองประเทศนี้เราก็ไปอ้างสองประเทศนี้ลอย ๆ คืออยู่ดี ๆ ไปบอกสิงคโปร์เป็นเผด็จการเนี่ยมันไม่ถูกต้อง เพราะว่าประเทศสิงคโปร์เขามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตลอดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศเป็นต้นมา

เขาแข่งขันกันภายใต้ระบบพรรคการเมือง รัฐบาลของเขาที่บริหารประเทศมา 50 ปีเนี่ยก็คือมาจากพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเสียงข้างมาก ฉะนั้นมันไม่ได้เป็นเผด็จการ อาจจะมีบางแง่มุมที่เขาริดรอนสิทธิเสรีภาพการแสดงออกบางเรื่องของประชาชน และค่อนข้างเข้มงวด เราอาจเคยได้ยินที่บางครั้งเขาเซนเซอร์หนังและอินเตอร์เน็ต แต่ในสถานะการเมืองการปกครองเราเรียกสิงคโปร์เป็นเผด็จการไม่ได้ มันไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือเขามีการเลือกตั้งทุก 4 ปีมีการแข่งขัน มีพรรคฝ่ายค้านในสภา รัฐบาลเขาไม่ได้อยู่ดี ๆ ยึดอำนาจและสถาปนาตัวเองขึ้นมาปกครอง

ในเมื่อต่างฝ่ายก็บอกตัวเองเป็นประชาธิปไตย เลือกตั้งมาเหมือนกันก็เป็นประชาธิปไตย แล้วสรุปแบบไหนกันแน่ที่เป็นประชาธิปไตย ?

คือประชาธิปไตยเราอย่าไปดูที่คำพูดของนักการเมือง เพราะว่าไม่มีใครหรอกที่จะเต็มใจเรียกตัวเองว่าเป็นเผด็จการ ถูกมั้ย ในโลกที่ระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยมีความชอบธรรมสูงสุด ฉะนั้นต่อให้คุณปกครองแบบเผด็จการ คุณก็จะบอกว่า เราก็เป็นประชาธิปไตยเหมือนกันเป็นประชาธิปไตยในแบบของเราเอง

ก็สมัย 50 ปีก่อน ระบอบการเมืองที่เป็นเผด็จการมากที่สุดของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีพรรคการเมือง ชุมนุมเกิน 5 คนไม่ได้ จอมพลสฤษดิ์ ยังเรียกการปกครองแบบนี้ว่า ประชาธิปไตยแบบไทย ฉะนั้นเวลาเราที่เป็นประชาชน ติดตามการเมืองเราอย่าไปดูแค่วาทกรรมที่นักการเมืองเขาโฆษณาหาเสียง เราต้องดูที่การกระทำที่พฤติกรรม

ทีนี้ ที่สำคัญสุดก็คือเราพูดถึงการเลือกตั้ง ก่อนอื่นอย่าเพิ่งไปพูดถึงพรรคการเมืองว่าใครเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ การเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยเนี่ยต้องบริสุทธิ์ยุติธรรมก่อนแล้วมีความโปร่งใส มีกติกาที่เที่ยงธรรม ถ้าเป็นอย่างนั้นมันถึงจะให้กำเนิดรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยได้ ทีนี้ถ้าการเลือกตั้งมันเป็นปัญหาตั้งแต่ต้นในแง่กติกาที่มีความสับสน ระบบเลือกตั้งที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจ วิธีการคำนวณคะแนนที่มันพิสดาร หรือการนับคะแนนที่มันเต็มไปด้วยข้อกังขา บวกลบแต่ละครั้งทำไมไม่เท่ากันในแต่ละเขต

การจัดการเลือกตั้งแบบนี้ที่มันขรุขระ ที่เห็นจากครั้งที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่ขรุขระมากที่สุดที่เราเคยเจอมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ มันก็ยากที่จะทำให้เกิดรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยที่มีความชอบธรรม เพราะกระบวนการได้มาซึ่งรัฐบาลเนี่ยมันค่อนข้างมีปัญหาเยอะ

ความแตกต่างระหว่าง เผด็จการรัฐสภา เผด็จการทหาร

คือ ประชาธิปไตยมีหลายแบบ เผด็จการก็เช่นกัน ดังนั้นเผด็จการก็มีหลายรูปแบบย่อย จะเรียกว่ามีหลายสปีชีส์ก็ได้ เผด็จการแต่ละแบบมันก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชนหรือการพัฒนาที่มันไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น เราชอบยกตัวอย่างจีนว่าทำไมเขาเจริญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าจีนเป็นเผด็จการพรรคการเมืองเขาไม่ใช่เผด็จการทหาร องค์กรที่ปกครองจีนก็คือพรรคการเมืองซึ่งมีบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเยอะ มีการคัดสรรภายในพรรคกว่าจะได้ขึ้นมาถึงระดับพรรค ฉะนั้นเขาไม่ได้ปกครองด้วยกำลัง เขาปกครองด้วยคณะบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ แต่แน่นอนก็มีปัญหาภายในมากมาย เพราะว่าปิดกั้นไม่ให้คนส่วนหนึ่งมีส่วนร่วมได้

ส่วนเผด็จการทหารที่เราถามถึง คือเป็นเผด็จการที่มักจะพบในแอฟริกา และเมื่อก่อนพบในละตินอเมริกา และในเอเชีย ในช่วงปี 1970 ระบอบเผด็จการทหารเป็นระบอบที่แพร่หลายไปทั่วโลกช่วงนั้น เพราะเป็นยุคสงครามเย็น มิติเรื่องความมั่นคงมีความสำคัญ ฉะนั้นหลายประเทศทหารก็มายึดอำนาจแทรกแทรงทางการเมือง ในนามของความั่นคงและความสงบสุข แต่พอช่วง 1990 เมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นโลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่เราเรียกกันว่ายุคโลกาภิวัฒน์ แข่งขันกันทางเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยี สมรภูมิทางการเมืองเปลี่ยนไป ฉะนั้นแต่ละประเทศก็คัดสรรผู้นำที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมาแทนที่ไม่ใช่ทหาร

เพราะงั้นเผด็จการทหารก็ค่อย ๆ สลายตัวไปทั่วโลก เราจะไม่เห็นแล้วในปัจจุบัน อย่างประเทศพม่าซึ่งเคยเป็นเผด็จการทหารแบบคลาสสิคประเทศเดียวในอาเซียน เขาก็ปรับตัวแล้วเป็นรัฐบาลพลเรือนของอองซาน ซูจี  ฉะนั้นอาจจะเรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นเผด็จการทหารสุดท้ายในภูมิภาคอาเซียน หรือจะเรียกว่าของโลกเลยก็ว่าได้ เผด็จการทหารก็คือกองทัพเข้ามายึดอำนาจและผูกขาดอำนาจไว้กับตัวเองและคุมอำนาจทั้งหมด

ส่วนเผด็จการรัฐสภาเป็นคำที่มีปัญหามาก และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเยอะที่สุด เพราะเราต้องเข้าใจก่อนว่า ในระบบรัฐสภาซึ่งเราเลือกใช้เนี่ยเป็นระบบที่เอามาจากอังกฤษ และมีอีกหลายสิบประเทศทั่วโลกใช้ ระบอบรัฐสภาเราประชาชนไม่ได้เลือกผู้นำฝ่ายบริหารโดยตรง เราไม่ได้เลือกนายกฯโดยตรงถูกมั้ย เวลาเราไปเลือกตั้งเราเลือกใคร? เราเลือก ส.ส. และ ส.ส. ทั้งสภารวมกันเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วเขาก็ไปโหวตเลือกประธานสภาของเขา แล้วประธานสภาเนี่ยแหละก็จะไปประชุมและให้สมาชิกทั้งสภาโหวตเลือกว่าจะเอานายกฯ ซึ่งใครล่ะจะได้เป็น? ก็คนที่ได้ครองเสียงข้างมากในสภา

ฉะนั้นโดยอัตโนมัติในระบบรัฐสภาไม่ว่าประเทศไหนในโลกก็ตาม ฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติก็จะมาจากพรรคเดียวกัน สมมติพรรคพลังประชารัฐรวมกับพรรคอื่น ๆ อีก 20 พรรคได้กลายเป็นเสียงข้างมากในสภา โดยอัตโนมัตินายกฯก็จะมาจากผู้นำพรรคการเมืองของพรรคพลังประชารัฐหรือพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ฉะนั้นมันจึงเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วในระบอบรัฐสภาถ้าเราเลือกใช้ระบบนี้ ที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเดี๋ยวมันก็จะเกิดขึ้นเช่นกันกับรัฐบาลของพลังประชารัฐ เพราะว่าระบบแบบนี้มันต่างจากระบบประธานาธิบดี ระบบรัฐสภาเนี่ยมันเป็นรูปแบบการปกครองที่เขาเลือกให้ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติมีการสอดคล้องกลมกลืนกัน ระบบการแบ่งแยกอำนาจมันก็จะน้อยกว่าระบบประธานาธิบดี ซึ่งผู้นำฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งโดยตรง

ถ้าเราไม่อยากได้สภาพแบบนี้ ทำไมมีฝ่ายหนึ่งคุมทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ เราต้องเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเลย เช่น ระบอบประธานาธิบดีที่เปิดโอกาสให้เลือกฝ่ายบริหารโดยตรง ฉะนั้นก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายบริหารอาจจะมาจากพรรคนึงก็ได้ และฝ่ายนิติบัญญัติมาจากอีกพรรคหนึ่ง เราพร้อมมั้ยที่จะเปลี่ยนระบอบการปกครองไปเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่

ตอนนี้ก็พอจะมองหน้าตารัฐบาลออกแล้ว รัฐบาลผสมที่มีมากถึง 20 พรรค จะเป็นอย่างไร มีความเสถียรภาพแค่ไหน

รัฐบาลผสมส่วนใหญ่จะมาพร้อมความไร้เสถียรภาพ ในประวัติศาสตร์ไทยเราเป็นรัฐบาลผสมมาโดยตลอด และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้การเมืองไทยไม่ค่อยมีเสถียรภาพ ตั้งแต่เราเปลี่ยนระบอบการปกครองมาตั้งแต่ 2475 และมีระบอบรัฐสภาเนี่ยเพิ่งเคยมีรัฐบาลที่อยู่ครบวาระ 4 ปีแค่ครั้งเดียว เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใช่มั้ย 80 กว่าปีแล้ว (หัวเราะ) เราไม่เคยมีรัฐบาลอยู่ครบวาระเลย แค่สมัยเดียว ทำไมมันยากเย็นขนาดนั้น

ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าการที่ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ แล้วก็ต้องตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรค พอผสมหลายพรรคความขัดแย้งมันก็จะสูง มีการต่อรองตำแหน่ง ผลประโยชน์ ทุกคนก็อยากได้ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ ๆ ไม่มีใครอยากได้กระทรวงเล็ก ๆ ที่ไม่มีผลประโยชน์อะไรมาก ฉะนั้นพอต่อรองตำแหน่งกันไม่ลงตัวเมื่อไหร่ก็จะเริ่มเกิดความขัดแย้ง ในที่สุดรัฐบาลก็ไปไม่รอด คือรัฐบาลผสมส่วนใหญ่ที่ล่มไม่ได้ล่มเพราะฝ่ายค้านหรือประชาชน ล่มเพราะความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลกันเองนี่แหละ แบ่งเค้กกันไม่ลงตัว ก็จะนำไปสู่การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ โดยเฉลี่ยอายุของรัฐบาลผสมในประเทศไทยเพียง 1 – 2 ปีเท่านั้น หรือกระทั่งสั้นที่สุดเราก็เคยมีมาแล้วอายุ 47 วัน คือรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ซึ่งแกนนำคือพรรคสามัคคีธรรมในตอนนั้นที่มาจากการรัฐประหารในปี 2534

ตอนนั้นรัฐบาลที่จัดตั้งโดยพลเอกสุจินดา และพรรคสามัคคีธรรม มีอายุเพียง 47 วันก็ล่มไป ฉะนั้นอันนี้ก็เป็นธรรมชาติของรัฐบาลผสม ทีนี้ที่เรากำลังจะมีเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่ธรรมดาด้วยเพราะว่าจะต้องประกอบกันถึง 20 พรรค เดิมที่เราเคยมีรัฐบาลผสมมากที่สุดก็แค่ 8 – 9 พรรค และครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่เพียงของไทยแต่เป็นของทั้งโลก ก็ลองนึกดูว่ารัฐบาล 20 พรรคจะบริหารประเทศยังไง แค่จัดสรรผลประโยชน์ให้ทุกพรรคแฮปปี้ก็ลำบากแล้ว ยังไม่พูดถึงอีกว่า 20 พรรคเนี่ยเสียงก็ยังเกินครึ่งไปไม่มาก ก็อาจจะอยู่ที่ 255 ถึง 260 ที่นั่งซึ่งพอเป็นแบบนี้ก็หมายความว่าเสียงปริ่มน้ำ คือทุกเสียงจะมีความหมายเลย

ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ จะวนลูปแบบเดิมไหม

ถ้ารัฐบาลอยู่ไม่ครบเทอม และมีการเลือกตั้งใหม่ กกต. ก็ยังเป็นชุดเดิมยกเว้นจะมียื่นถอดถอนโดยประชาชน แต่ถ้าไม่มี กกต. ชุดเดิม ส.ว. ก็ยังอยู่เพราะว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ว. มีอายุอยู่ถึง 5 ปียาวนานกว่า ส.ส. เสียอีกที่มีแค่ 4 ปี รัฐธรรมนูญกำหนดแบบนี้เพื่อให้อายุ ส.ว. มีโอกาสเลือกนายกมากกว่า 1 สมัย คือสภาล่างยุบไปแล้ว ส.ว. ก็ยังอยู่เลือกนายกฯได้อีกรอบ

แต่หากถามว่าจะวนลูปไหมผมคิดว่าไม่ เพราะประชาชนจะเรียนรู้มากขึ้น ประชาชนจะใช้สิทธิ์ของตนเองอย่างมีความหมายมากขึ้น และมีบทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้แล้ว ในการเลือกตั้งครั้งถัดไปสื่อและประชาชนจะจับตาการทำงานของ กกต. อย่างใกล้ชิดตั้งแต่วินาทีแรกเลย จะไม่ปล่อยให้มีปรากฏการณ์ไม่มีเครื่องคิดเลข นับคะแนนไม่เสร็จ

ปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ กับการแก้รัฐธรรมนูญที่ถึงแม้แก้ได้แต่ยาก แล้วควรทำยังไง

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาหลายประการในทางวิชาการ หลักการ ในทางรัฐศาสตร์เราสอนกันในเรื่องการออกแบบสถาบันทางการเมืองและการออกแบบรัฐธรรมนูญ เหมือนกับสถาปัตย์ออกแบบตึก ถ้าออกแบบไม่ดีอาคารนั้นก็พังง่ายหรือก่อปัญหากับผู้อยู่อาศัย รัฐธรรมนูญก็เช่นกัน ออกแบบไม่ดีมันก็เกิดปัญหาตามมากับประชาชนในสังคม

ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในทางวิชาการถือว่ามัน Bad Design เป็นการออกแบบที่ไม่ดี ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม หลายเรื่องเป็นการออกแบบที่จะทำให้เกิด Dead Lock หรือทางตันทางการเมืองทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนไม่ถูกสะท้อนออกมา ยกตัวอย่างเรื่องระบบเลือกตั้งชัดเจนที่สุด มีบัตรเลือกตั้งแค่ใบเดียวไปโหวตแค่ ส.ส. เขต แต่คะแนนที่เราโหวตถูกนับให้เป็นคะแนนของ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคด้วย และเราคงเห็นแล้วว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อมคะแนน ส.ส. เขตของแต่ละพรรคจะเปลี่ยน การคำนวณปาตีลิสต์ก็เปลี่ยนไปด้วย อยู่ดี ๆ มี ส.ส. ที่เข้าสภาไปแล้ว พอมีเลือกตั้งซ่อมก็มี ส.ส. ที่ปฏิญาณตนไปแล้วหลุดเก้าอี้

และทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งซ่อม คะแนนจะเปลี่ยนตลอด อันนี้เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งข้อที่ยกมาเป็นตัวอย่างของ Bad Design เป็นการออกแบบที่ไม่ดียังไง ฉะนั้นถ้าเราไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ คงยากที่การเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ถ้ายังใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ก็ยากที่จะบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะกลไกรัฐธรรมนูญไม่เอื้อ

ถามว่าแก้ยากไหม ใช่ แก้ยากแต่ไม่ถึงกับปิดประตูตาย ก็คือในกลไกทางรัฐธรรมนูญก็มีการเปิดช่องเอาไว้ให้แก้ได้ เพียงแต่ต้องอาศัยแรงสนับสนุนทางสังคม ลำพังพรรคการเมืองเองเขาก็ทะเลาะกัน ทุกคนก็จะเกี่ยงงอนกันเรื่องผลประโยชน์ แต่ถ้ามันมีแรงกดดันทางสังคมมากพอเป็นฉันทามติทางสังคมว่าต้องแก้ ผมว่ายังไงนักการเมืองต่าง ๆ ก็ไม่กล้าบิดพริ้ว

ทำไมคนทั่วไปต้องสนใจการเมือง การเมืองเป็นแค่เรื่องในสภาจริงหรือ ?

การเมืองมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเราทุกคน แต่เราถูกทำให้เชื่อว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับเรา นั่นแหละเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในสังคมไทย ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขความเข้าใจผิดนี้ได้ ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งสามารถผูกขาดอำนาจไปได้เรื่อย ๆ โดยทำให้คนเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่มีความรู้มีการศึกษา ส่วนคนที่เหลือก็เรียนหนังสือทำมาหากินไปไม่ต้องไปสนใจการเมือง ถ้าเป็นอย่างนี้บ้านเมืองก็จะยากที่จะพัฒนา

ทั้งที่การเมืองเป็นเรื่องของเราทุกคน เพราะว่านโยบายและกฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านออกมาจากสภาและคณะรัฐมนตรี สุดท้ายมันก็มาส่งผลกระทบกับเรา คุณภาพโรงเรียนที่เราได้ คุณภาพของการศึกษาที่เราจะมีให้ลูกหลาน คุณภาพของโรงพยาบาลที่เราจะไปรับการรักษา ภาษีที่เราต้องจ่ายมากหรือน้อย คุณภาพของการขนส่งสาธารณะ ทำไมรถเมล์ไทยยังเป็นอย่างนี้ไม่ไปไหน ทำไมทางเท้าของไทยแย่แบบนี้ ทั้งหมดนี้ย้อนกลับไปมันก็โยงกับเรื่องนโยบายทั้งสิ้น เรื่องคุณภาพของนักการเมืองและรัฐบาลที่เรามี