ไหนๆสื่อทุกสำนักก็ประโคมข่าวคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน “โมโต จีพี” เป็นเวลา 3 ปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ว่าแต่ไอ้เจ้า “โมโต จีพี” ที่ว่านี้มันคืออะไร ทำไมแฟนมอเตอร์สปอร์ตไทยถึงต้องตื่นเต้นกันขนาดนี้ Tonkit360 อาสาพาไปหาคำตอบ
โมโต จีพี คืออะไร
โมโต จีพี (MOTO GP) เป็นชื่อเรียกการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลกรุ่นใหญ่ที่สุด หรือ ที่เรียกกันว่ารุ่นพรีเมียร์คลาส เป็นการแข่งขันรถ 2 ล้อทางเรียบที่เร็วที่สุดในโลก จัดการแข่งมาตั้งแต่ปี 1949 โดยปัจจุบันจัดการแข่งขันโดย “ดอร์น่า สปอร์ต” บริษัทบริการจัดการด้านการกีฬายักษ์ใหญ่ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในประเทศสเปน โดยดอร์น่า เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ทั้งหมดของการแข่งขัน ภายใต้การรับรองของสหพันธ์รถจักรยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ็ม) ซึ่งเปรียบได้กับการแข่งขันฟอร์มูล่า วัน ของฝั่งรถยนต์ 4 ล้อ
โมโต จีพี มีการแข่งขันทั้งหมดกี่รุ่น
ในแต่ละสนามของการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก ซึ่งตามปกติจะกระจายแข่งขันปีละ 18 สนามทั่วโลก แบ่งรุ่นของการแข่งออกเป็น 3 รุ่นหลักๆ เริ่มจากรุ่นเล็กที่สุด โมโต ทรี ( MOTO3) เครื่องยนต์ 250 ซีซี ,รุ่นกลาง โมโต ทู (MOTO2) เครื่องยนต์ 600 ซีซี และรุ่นใหญ่ที่สุด หรือ พรีเมียร์คลาส โมโต จีพี (MOTO GP) เครื่องยนต์ 1,000 ซีซี
โมโต จีพี ต่างจาก เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ อย่างไร
ความแตกต่างของการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบ เวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ แชมเปียนชิป (WSBK) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันมาแล้วถึง 3 ปี กับ โมโต จีพี (MOTO GP) อยู่ที่ตัวรถ โดยรถเวิลด์ ซูเปอร์ไบค์ 1,000 ซีซี เป็นรถที่มีขายตามโชว์รูมทั่วไป อาทิ ฮอนด้า CBR1000RR,ยามาฮ่า YZF-R1,ดูคาติ Panigale R หรือคาวาซากิ Kawasaki ZX-10R นำมาปรับจูนเพื่อแข่งขัน ทว่า รถในระดับโมโตจีพี แม้เครื่องยนต์จะเท่ากันที่ 1,000 ซีซี เท่ากัน แต่ตัวรถทั้งหมดเป็นรถที่ผลิตจากโรงงานโดยตรง เพื่อเข้าสู่สนามแข่งโดยเฉพาะ จัดเต็มด้วยเทคโนโลยี ไม่มีขายในท้องตลาด โดยตามรายงานจาก ยูเอสเอทูเดย์ระบุว่า ราคารถโมโต จีพี 1 คัน อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาท
ทำไมต้องแข่งที่สนามช้างฯ
ในมติของคณะรัฐมนตรีระบุชัดเจนว่าจะให้มีการจัดการแข่งขันโมโต จีพี ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องจากว่า สนามแข่งแห่งนี้ เป็นสนามแข่งแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับ เอฟไอเอ็ม เกรดเอ จากสหพันธ์รถจักรยานยนต์นานาชาติ (เอฟไอเอ็ม) ซึ่งสามารถรองรับการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบได้ทุกระดับทั่วโลก
นักบิดดังที่น่าสนใจมีใครบ้าง
หากพูดถึงนักบิดดังระดับโลก หนึ่งในรายชื่อที่หลายคนน่าจะต้องรู้จักก็คือ วาเลนติโน่ รอสซี่ นักบิดจอมเก๋าชาวอิตาเลียน สังกัดทีมยามาฮ่า โดยเขาผู้นี้มีฉายา “เดอะ ด็อกเตอร์” ใช้รถหมายเลข 46 เป็นเจ้าของสถิติแชมป์โลกรุ่นพรีเมียร์คลาส 7 สมัย อย่างไรก็ดีในยุคปัจจุบัน มีนักบิดรุ่นน้องที่ชื่อ มาร์ก มาร์เกซ จากทีมฮอนด้า ที่ก้าวขึ้นมาเป็นดาวดวงใหม่ และกลายเป็นแชมป์โลกโมโตจีพีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ในวัย 20 ปี เมื่อปี 2013
เคยมีคนไทยแข่งโมโตจีพีไหม
ที่ผ่านมาไม่เคยมีนักบิดไทยคนใดได้เข้าแข่งขันในรุ่นพรีเมียร์คลาสแม้แต่ครั้งเดียว โดยที่ใกล้เคียงที่สุดคือ 2 นักบิดไทยที่เคยได้แข่งขันในรุ่น โมโต ทู (MOTO2) แบบเต็มฤดูกาล ได้แก่ “ฟิล์ม” รัฐภาคย์ วิไลโรจน์ และ “ติ๊งโน๊ต” ฐิติพงศ์ วโรกร ในสังกัดเอพีฮอนด้า นอกจากนั้นจะเป็นการได้สิทธิ์เข้าแข่งขันเฉพาะสนาม (ไวด์การ์ด) ตั้งแต่ยุคของ คริสมาส วิไลโรจน์,ดิเรก อาชาวงศ์ ,สุหทัย แช่มทรัพย์ และ เดชา ไกรศาสตร์
สรุปแล้วใช้งบประมาณเท่าไหร่กันแน่
จากข่าวที่ออกมาที่รัฐบาลไทยจะเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณปีละ 100 ล้านบาท เป็นเวลา 3 ปี รวมเป็น 300 ล้านบาทนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของค่าลิขสิทธิ์เท่านั้น เพราะค่าลิขสิทธิ์จัดโมโต จีพี (MOTO GP) อยู่ที่ปีละ 7.5 ล้านยูโร หรือราว 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาคเอกชนที่จะหาเงินสนุบสนุนการแข่งขันในครั้งนี้ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆทั้งหมด รวมแล้ว 3 ปี ตัวเลขกลมๆจะอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
ประเทศไทยได้จัดแบบ 100 เปอร์เซนต์ แล้วหรือยัง
คำตอบ คือ ยังไม่ 100 เปอร์เซนต์ เนื่องจากเป็นเพียงการอนุมัติงบประมาณบางส่วนจากรัฐบาลเท่านั้น และปฏิทินการแข่งขันล่วงหน้าปี 2018 ก็ยังไม่มีการบรรจุประเทศไทยเข้าไปแต่อย่างใด ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ทางสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต และการกีฬาแห่งประเทศไทย จะต้องเดินหน้าเจรจากับ “ดอร์น่า สปอร์ต” ซึ่งเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์อีกครั้ง เพื่อเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการ โดยปกติแล้วจะมีการเซ็นสัญญาจัดการแข่งขันอย่างน้อย 3 ปี เบื้องต้นหากทุกอย่างเป็นไปตามคาด เป็นที่คาดว่าไทยจะถูกบรรจุเข้าสู่ปฏิทินแข่งขันโมโต จีพี (MOTO GP)ฤดูกาลหน้า ในเดือนตุลาคม ปี 2018
ภาพจาก www.motogp.com