ช้อปช่วยชาติ 2561 สินค้าอะไร ซื้อแล้วได้ลดหย่อนภาษี ?

มาทันเวลาพอดี … กับมาตรการช้อปแหลกส่งท้ายปี 2561 ในปีนี้ กระทรวงการคลัง ยังหวังกระตุ้นให้ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอยในช่วงปลายปีอย่างเพลิดเพลิน แบบสามารถนำใบเสร็จมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เหมือนปีที่ผ่านมา เพียงแต่เงื่อนไขและรายการสินค้าที่เข้าเกณฑ์ช้อปช่วยชาติมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ส่วนจะมีรายการสินค้าประเภทใดบ้าง ? ที่ช้อปแล้วลดหย่อนภาษีได้ วันนี้ Tonkit360 มีรายละเอียดมาฝากกันจ้า ….

ยางรถยนต์

เฉพาะ “ยางรถยนต์” ที่ผลิตภายในประเทศ และใช้ยางพาราในประเทศ (ในกระบวนการผลิตยางรถยนต์) เท่านั้น โดยบริษัทยางรถยนต์ที่เข้าร่วมมาตรการนี้จะมีสติ๊กเกอร์ หรือคูปองกำกับชัดเจน เพื่อรับรองว่า ยางรถยนต์ดังกล่าวเข้าร่วมโครงการช้อปช่วยชาติ และค่ายยางรถยนต์ที่น่าจะเข้าข่ายตามเงื่อนไข อาทิ มิชลิน, บริดสโตน, ดันลอป, โยโกฮาม่า, ดีสโตน, Otani, VEERUBBER และ MAXXIS เป็นต้น

** แต่ทั้งนี้ ควรรอการประกาศชื่อค่ายยางรถยนต์อย่างเป็นทางการ จากกระทรวงการคลังอีกครั้ง

หนังสือ หรือ E-Book

สำหรับหนังสือที่เข้าเงื่อนไขนี้ ต้องเป็นหนังสือที่พิมพ์เป็นกระดาษเท่านั้น โดยเหตุผลที่ทำให้ “หนังสือ หรือ E-Book” ถูกระบุให้เป็นสินค้าที่ซื้อแล้ว นำมาลดหย่อนภาษีได้ (เป็นปีแรก) ก็เพื่อส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี หนังสือ หรือ E-Book ในเงื่อนไขนี้ ไม่รวมถึงหนังสือพิมพ์และนิตยสารนะจ๊ะคนดี ..

สินค้า OTOP

nongkhai.cdd.go.th

เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตร หรือส่งเสริมการสร้างงานและรายได้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ทางภาครัฐจึงหวังกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้า OTOP ให้เพิ่มขึ้นด้วยมาตรการนี้ ประกอบกับหาซื้อสินค้า OTOP ในปัจจุบันเป็นเรื่องง่ายขึ้น เนื่องจากห้างสรรพสินค้า หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ก็ได้จัดโซนวางจำหน่ายสินค้า OTOP ไว้เช่นกัน

*** โดยมาตรการช้อปช่วยชาติ เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2561– 15 มกราคม 2562 *** 



หลักฐานสำคัญที่คุณต้องใช้ เพื่อยื่นลดหย่อนภาษี ?

ในการซื้อสินค้าทุกครั้ง คุณต้องขอใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 แห่ง ป.รัษฎากร จากร้านที่ซื้อสินค้า ซึ่งร้านดังกล่าวต้องเป็นผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และในใบกำกับภาษีต้องมีข้อความ ดังนี้

1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ที่เห็นได้เด่นชัด
2. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของร้านค้า
3. ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อ (เลขประจำตัวผู้เสียภาษี = เลขประจำตัวบัตรประชาชน)
4. หมายเลขของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ
6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดแจ้ง
7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด (ถ้ามี) เช่น คำว่า เอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ

แต่ทั้งนี้ ใบกำกับภาษีดังกล่าว ต้องมีชื่อผู้ซื้อสินค้าหรือชำระค่าบริการเพียงคนเดียว ไม่สามารถนำใบกำกับภาษีที่มีผู้ซื้อสินค้าหลายคนมาใช้หักลดหย่อนได้นะ