
คนส่วนใหญ่จะคุ้นตาแต่งานศิลปะที่เป็นภาพวาด 2 มิติ รูปปั้น 3 มิติ หรือสื่อผสม วิดีโอต่างๆ แต่ถ้าพูดถึงศิลปะเป็นชิ้นๆ ที่ขยับได้ อาจจะเริ่มห่างไกลจากคนทั่วไป
ความจริงมันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะศิลปะที่ขยับได้ หรือลัทธิ Kinetic Art นี้มีมาตั้งแต่ค.ศ. 1930 แต่ก็ไม่ได้นิยมแพร่หลายมากนัก เพราะมันไม่ได้ทำง่ายๆ แบบภาพวาดหรือรูปปั้นปกติ แต่ต้องคำนึงถึงน้ำหนัก รูปทรงของสิ่งที่จะเอามาทำ
ชื่อที่ไม่ค่อยจะคุ้นหูกันเลยก็คือ Naum Gabo ผู้ริเริ่ม Kinetic Art ตัวจริง แต่จะเน้นไปที่การเล่นกับโครงสร้างมากกว่า ผลงานเลยยังไม่ถึงขั้นขยับได้เหมือนนิยามของลัทธิเท่าไร
ศิลปินที่เด่นๆ และทำให้ Kinetic เป็นที่รู้จักจริงๆ นั่นก็คือ Alexander Calder (อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์) ผู้ที่สร้างสรรค์ประติมากรรมขยับได้ หรือที่ดูชองป์เรียกมันว่า โมไบล์ (Mobile) นั่นเอง คือดาลเดอร์ก็แทบจะเรียกว่าเป็นไอค่อนของ Kinetic เลยก็ได้ เพราะเราก็จะนึกถึงคาลเดอร์คนแรกและคนเดียวเมื่อพูดถึง Kinetic
*มาร์เซล ดูชองป์ ศิลปินผู้นำลัทธิดาดา เจ้าของผลงาน โถฉี่ ที่ดังไปทั่วโลก
สมัยที่ที่บ้านยังไม่สนับสนุนให้เป็นศิลปิน เขาเลือกเรียนวิศวกรรมเครื่องกล ไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมคาลเดอร์ถึงสร้างสรรค์ผลงานขยับได้ขึ้นมาได้ มันไม่ได้อาศัยเพียงรูปทรงที่สวยงามเหมือนสื่ออื่นๆ แต่ยังต้องพึ่งวิทยาศาสตร์ การคำนวณน้ำหนัก และทิศทางของรูปทรงแต่ละชิ้นด้วย แต่ด้วยความที่ใจรักในศิลปะ เขาก็ดั้นด้นจนได้มาเรียนศิลปะและเป็นศิลปินที่ทำงานประติมากรรมในที่สุด
รูปทรงต่างๆ ที่คาลเดอร์นำมาใช้ในการทำโมไบล์นี้ เหมือนถอดมาจากผลงานของเพื่อนศิลปิน ที่เห็นชัดๆ เลยก็คือ Joan Miro (ฮวน มิโร ในการอ่านแบบภาษาสเปน) ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สีจัดๆ และการจัดเรียงที่แปลกๆ แบบ Abstract


การสร้างผลงานศิลปะแบบนี้แทบจะเรียกว่าปฏิวัติวงการเลยก็ได้ ในช่วงของการเกิดลัทธิ Kinetic เป็นยุคที่กำลังจะเข้าสู่ศิลปะร่วมสมัย เข้าสู่ยุคที่อะไรก็สามารถเป็นศิลปะได้ ซึ่ง Kinetic เป็นการริเริ่มสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครเคยทำ เหมือนเป็นการรวมหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ (ทั้ง Surrealist เหนือจริง , Abstract นามธรรม , Modern Art ศิลปะสมัยใหม่ , ประติมากรรม , Conceptual แนวคิด) วิศวกรรมศาสตร์ (การคำนวณและโครงสร้าง) ด้วยความที่ต้องใช้ความสามรถหลากหลายขนาดนี้ทำให้ศิลปินที่ทำงาน Kinetic Art แบบโมไบล์จริงๆ มีไม่กี่คนเท่านั้น
ความจริงผลงานที่เด่นๆ ของคาลเดอร์ไม่ได้มีแค่ผลงานที่เป็นไอค่อนของ Kinetic เท่านั้น แต่ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมลวด หรือโครงสร้างตั้งแต่เล็กไปถึงใหญ่ก็มีเหมือนกัน ยังลามไปถึงการทำภาพพิมพ์ในสไตล์งานของตัวเองเป็นคอลเลคชั่นอีกด้วย

แนะนำเลยสำหรับคนที่ยังไม่เคยเห็นว่าผลงาน Kinetic Art ของคาลเดอร์ยิ่งใหญ่แค่ไหน สามารถไปดูกับตาตัวเองง่ายๆ ได้ที่ประเทศเกาหลีใต้ มีผลงานจริงของคาลเดอร์อยู่ที่ Leeum, Samsung Museum of Art พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมทั้งของโบราณ ศิลปะร่วมสมัย และประติมากรรมของศิลปินระดับโลกอย่างคาลเดอร์ และผลงานกระจกของ Anish Kapoor ไว้ด้วยกัน แต่ถ้าใครอยากดูนิทรรศการเต็มๆ ก็ยังจัดกันอยู่เรื่อยๆ ในยุโรปและอเมริกา ถึงแม้คาลเดอร์จะเสียชีวิตไปกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม

