ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ข่าวที่ดังกระฉ่อนไปทั่วโลก คือ การติดสินบนของบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์อากาศยานยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ รวมถึงรถหรูโรลส์-รอยซ์ ที่ยอมรับต่อศาลสูงของกรุงลอนดอน ว่ามีการจ่ายสินบนเป็นเงินหลายล้านปอนด์รวมถึงรถหรู ให้กับนายหน้าที่ทำหน้าที่คนกลาง ในประเทศต่างๆ รวม 7 ประเทศ เพื่อรับประกันยอดสั่งซื้อเครื่องยนต์ของบริษัท
ข่าวดังกล่าวถือเป็นข่าวใหญ่ในบ้านเราด้วย เพราะไทย ก็เป็นหนึ่งใน 7 ประเทศที่เข้าข่ายมีเจ้าหน้าที่รับสินบนจากโรลส์-รอยซ์ นอกเหนือจาก รัสเซีย, จีน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, อินเดีย และ ไนจีเรีย
ก่อนจะมีการตัดสินคดีนี้ เพื่อหาผู้กระทำผิด เรานำข้อมูลที่น่าสนใจ มาสรุปรวมไว้ให้ที่นี่แล้ว ดังนี้
*ที่มาของคดี
เมื่อ 5 ปีก่อน สำนักงานปราบปรามการทุจริตของสหราชอาณาจักร (SFO) เริ่มดำเนินการตรวจสอบ บริษัท โรลส์-รอยซ์ หลังพบว่ามีการตกแต่งบัญชี และติดสินบนในการจัดซื้อเครื่องยนต์ในหลายประเทศ
*ความเกี่ยวข้องในไทย
มีรายงานว่า ในระหว่างปี 2534 – 2548 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รับสินบนผ่านนายหน้า ในการจัดซื้อเครื่องยนตร์รุ่น T800 จาก โรลส์-รอยซ์ 3 ครั้ง รวม 1,253 ล้านบาท (ครั้งที่ 1 ปี 2534-2535 รวม 663 ล้านบาท / ครั้งที่ 2 ปี 2535-2540 รวม 336 ล้านบาท และครั้งที่ 3 ปี 2547-2548 รวม 254 ล้านบาท) ขณะที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ตรวจสอบพบว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) มีเจ้าหน้าที่มีเอี่ยวรับเงินสินบนด้วยกว่า 385 ล้านบาท
*การดำเนินการของหน่วยงานรัฐ
ในสัปดาห์หน้า ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเป็นนัดแรก เพื่อหารือทิศทางและแนวทางการทำงานร่วมกัน ระหว่าง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.),สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)