ใครที่เคยชมภาพยนต์สายรถแข่งอย่าง “Rush” ที่สร้างจากเรื่องจริงของตำนานนักขับเอฟวันอย่าง นิกิ เลาด้า และเจมส์ ฮันท์ อาจจะเคยสงสัยว่า นักขับเอฟวันจำเป็นต้องใช้เงินมหาศาลซื้อที่นั่งของตัวเองเพื่อลงแข่งจริงหรือ และในปัจจุบันการใช้เงินเพื่อให้ได้ลงแข่งขันยังมีอยู่หรือไม่ Tonkit360 มีคำตอบมาฝากกัน
“Pay driver” นักขับที่ต้องหาเงินเข้าสู่ทีม
ในโลกของมอเตอร์สเปอร์ตนั้น ไล่ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก การจะทำทีมแข่งขึ้นมาสักหนึ่งทีม สิ่งสำคัญที่สุดคืองบประมาณ ฉะนั้น หากเป็นทีมแข่งอิสระที่ไม่ใช่ทีมแข่งโรงงาน (ทีมแข่งโรงงานอาทิ เฟอร์รารี ,เรดบูลล์ และเมอร์เซเดส) ย่อมต้องการสปอนเซอร์เป็นเรื่องธรรมดา ฉะนั้นหากนักขับคนใดมีทุนติดตัวที่พร้อมจะสนับสนุนทีมได้ ก็จะมีโอกาสในการซื้อสิทธิ์เข้าสู่ทีมเพื่อลงทำการแข่งขัน
นักขับที่มาพร้อมกับเงินทุนนี่แหละที่เรียกกันว่า Pay driver โดยส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นนักขับที่ยังไม่มีชื่อเสียงและผลงานติดตัว แต่มาพร้อมกับเงินทุน มีทั้งเงินทุนส่วนตัว และเงินทุนจากสปอนเซอร์ที่ติดตัวมานั่นเอง
ย้อนฉากภาพยนตร์ Rush “นิกิ เลาด้า” กู้เงินแข่งรถ
เป็นความจริงที่จุดเริ่มต้นของนักขับดีกรีแชมป์โลก 3 สมัยอย่างนิกิ เลาด้า มาจากการกู้จากธนาคาร เพื่อซื้อสิทธิ์ให้ตนเองได้เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ระดับ ฟอร์มูล่า 2 ไปจนถึงฟอร์มูล่า วัน กับทีม BRM โดยเลาด้าซึ่งแม้จะมีพื้นฐานครอบครัวที่ร่ำรวยระดับเศรษฐีของประเทศออสเตรีย แต่เนื่องจากทางบ้านไม่เห็นด้วยกับการแข่งรถ เขาจึงกู้เงินจำนวน 30,000 ปอนด์ในเวลานั้นเพื่อให้ได้เข้าสู่ทีม
อย่างไรก็ดีหลังจากที่ เลาด้า พิสูจน์ผลงานให้ทุกคนได้เห็น เขาจึงได้ก้าวข้ามจากนักขับ Pay driver ไปสู่นักขับที่ทีมแข่งจ้างไปขับในสังกัดเฟอร์รารี่ พร้อมปลดหนี้ให้ตัวเองได้สำเร็จ ก่อนจะก้าวไปเป็นตำนานแชมป์โลกเอฟวัน 3 สมัยมาจนถึงปัจจุบัน
นักขับที่จะก้าวไปสู่ “ฟอร์มูล่า วัน” ต้องใช้เงินทุนเท่าไหร่
ตามการคาดการของเว็บไซต์มอเตอร์สปอร์ตชื่อดังอย่าง autoweek.com ระบุไว้ว่า ปัจจุบัน หากต้องการที่จะมีที่นั่งในทีมแข่งรถสูตรหนึ่ง อย่างน้อยคุณจะต้องมีสปอนเซอร์ติดตัวเข้าไปคนละประมาณ 20-30 ล้านเหรียฐสหรัฐ (ราว 640-960 ล้านบาท )ต่อการแข่งขัน 1 ฤดูกาล
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า ในการแข่งขันระดับรองลงมาอย่างฟอร์มูล่า ทู หรือ จีพีทู ในอดีต ก็ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลเช่นกันในการเข้าไปเป็นนักขับแบบฟูลไทม์ โดยในการแข่งขันฟอร์มูล่า ทู จะต้องใช้งบประมาณถึงปีละ 3-5 ล้านเหรียฐสหรัฐ (ราว 96-160 ล้านบาท) เลยทีเดียว
เผยนักขับทีมทีมวิลเลียมส์ ลงทุน 80 ล้านเหรียญสหรัฐก่อนได้ขับเอฟวัน
ในความเป็นจริงแล้วไม่มีตัวเลขตายตัวสำหรับการไต่ระดับการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ต 4 ล้อ จากรถคาร์ทไปจนถึงระดับท็อปของโลกอย่างฟอร์มูล่า วัน อย่างไรก็ดีจากรายงานของสื่อต่างประเทศในปี 2017 ระบุว่า แลนซ์ สโตลล์ นักขับดาวรุ่งชาวแคนาดา ต้องใช้เงินสูงถึง 80 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,560 ล้านบาท) เพื่อให้ได้ที่นั่งนักขับทีมวิลเลี่ยมส์ในศึกฟอร์มูล่า วัน
โดยตามรายงานระบุว่า ลอเรนซ์ สโตลล์ ผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นมหาเศรษฐีดังของแคนาดา ใช้เงินจำนวนรวมทั้งสิ้น 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ลงทุนเพื่อผลักดันให้ลูกชายได้เข้าร่วมการแข่งขันเอฟวันตั้งปี 2017 เป็นต้นมา โดย เจ้าพ่อแฟชั่นและนักลงทุนแห่งแคนาดา ใช้เงินซื้อทีมแข่ง Prema ในศึกฟอร์มูล่า ทรี พร้อมจ้างวิศวกรที่เคยทำงานร่วมกับเฟอร์รารี่เพื่อให้ช่วยฝึกฝนลูกชายตนเองมาตั้งแต่ปี 2014
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า เครื่องทดสอบการขับรถเอฟวันสุดไฮเทค หรือ ซิมูเลเตอร์ ของทีมวิลเลียมส์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็มาจากเงินทุนคุณพ่อของแลนซ์ สโตลล์ ด้วยเช่นเดียวกัน