“กองทุนเงินทดแทน” เรื่องใกล้ตัวที่ลูกจ้างควรรู้

กองทุนเงินทดแทน คืออะไร

กองทุนเงินทดแทน เป็นกองทุนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้างหรือผู้มีสิทธิ เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทำให้หยุดงาน สูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ ตายหรือสูญหาย เนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง โดยคุ้มครองลูกจ้างตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน

สิทธิประโยชน์ของลูกจ้าง (กองทุนเงินทดแทน)

1.  กรณีเจ็บป่วย

ค่าทดแทนกรณีไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไข คือ
– จ่ายร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน
– ลูกจ้างมีการหยุดพักรักษาอาการติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป รวมกันไม่เกิน  1  ปี
– มีใบรับรองแพทย์ระบุหยุดพักรักษาตัวติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป
– ลูกจ้างหยุดพักรักษาตัวจริงตามใบรับรองแพทย์
– ค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดในปัจจุบัน = 20,000 x 60 % = 12,000 บาท

2.  กรณีสูญเสียอวัยวะ

มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี การประเมินการสูญเสียอวัยวะลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษาและอวัยวะคงที่ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย ทั้งนี้หากลูกจ้างมีการสูญเสียอวัยวะบางส่วนของร่างกาย เมื่อสิ้นสุดการรักษาสามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการสูญเสียอวัยวะได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือลูกจ้างทำงานอยู่

3.  กรณีทุพพลภาพ

มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน ป็นระยะเวลาไม่เกิน 15 ปี การประเมินการสูญเสียอวัยวะลูกจ้างต้องได้รับการรักษาพยาบาลจนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างประสบอันตราย ซึ่งกรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงานจะต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนและหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าจ้างรายเดือน ฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 ข้อ 5 มีการสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะเกินกว่าร้อยละ 60 ของสมรรถภาพทั้งร่างกายหรือมีการสูญเสียตามตารางที่ 2 ท้ายประกาศ เช่น ขาทั้งสองข้างขาด มือทั้งสองข้างขาด ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดการรักษา สามารถติดต่อเพื่อเข้ารับการประเมินการสูญเสียอวัยวะได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ที่นายจ้างมีภูมิลำเนาหรือลูกจ้างทำงานอยู่

4.  กรณีตายหรือสูญหาย

สูญหาย หมายความว่า การที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้าง ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อว่าลูกจ้างถึงแก่ความตาย เพราะประสบเหตุอันตรายที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานหรือปฏิบัติตามคำสั่งของนายจ้างนั้น รวมตลอดถึงการที่ลูกจ้างหายไปในระหว่างเดินทางโดยพาหนะนั้นได้ประสบเหตุอันตรายและลูกจ้างถึงแก่ความตาย ทั้งนี้ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 120 วันนับแต่วันที่เกิดเหตุ มีสิทธิได้รับค่าทดแทนร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายเดือน เป็นระยะเวลา 8 ปี จ่ายให้กับผู้มีสิทธิตามกฎหมาย

ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ได้แก่ มารดา, บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย, สามีหรือภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมาย, บุตรที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี, บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่ยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ให้ได้รับส่วนแบ่งต่อไปตลอดระยะเวลาที่ศึกษาอยู่, บุตรที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปี และทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย, บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือวันที่เกิดเหตุสูญหาย มีสิทธิรับเงินทดแทนนับแต่วันคลอด หรือหากไม่มีบุคคลดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้อยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตาย หรือสูญหายเป็นผู้มีสิทธิ แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะจากลูกจ้างที่ตายหรือสูญหาย

หน้าที่ของลูกจ้างผู้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน

  1. รีบแจ้งนายจ้างทันทีที่ประสบอันตราย แม้จะเป็นการประสบอันตรายเพียงเล็กน้อยก็ต้องแจ้ง เพราะอาจจะมีอาการกำเริบมากขึ้นได้ในภายหลัง
  2. กรอกข้อความหรือตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้อง และลงลายมือชื่อในแบบแจ้งการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย  (กท.16) ในส่วนของลูกจ้าง
  3. ต้องรักษาพยาบาลกับแพทย์ปัจจุบันชั้น 1
  4. ถ้าลูกจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อนแล้ว ให้รีบนำใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล มาเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา แล้วแต่กรณี
  5. หากลูกจ้างได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่าลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ให้ไปติดต่อสมัครเข้ารับการฟื้นฟูฯ ได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน หรือที่สำนักงานกองทุนเงินทดแทน หรือสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกจังหวัด
  6. ในกรณีที่มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ลูกจ้างยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน (กท.16) ได้ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วย

ข้อมูลจาก : สำนักงานประกันสังคม