ดีหรือแย่เนี่ย? วิเคราะห์ “กฎใหม่ 3 ข้อ” ของศึก “แชมเปี้ยนส์ ลีก” และ “ยูโรป้า ลีก” ปีหน้า!

คุณเคยดูฟุตบอลแล้วคิดในใจว่าแหม ถ้าเปลี่ยตัวได้อีกคนก็ดีสินะหรือทำไมนักเตะคนนี้ไม่มีชื่อเลยล่ะ ถ้ามีชื่อ ก็น่าจะช่วยทีมได้ไปจนถึงว่าให้ตายสิ ซื้อนักเตะมาก็แพง แต่ดันมาเจอกฎไม่ให้ลงเฉยการบ่นแบบนี้น่าจะหมดไปในซีซั่นหน้าแล้วล่ะ (อย่างน้อยก็ในถ้วยยุโรป) เพราะสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ได้ไอเดียบรรเจิด! จัดการปรับกฎในการแข่งขันฟุตบอลสโมสรยุโรปทั้งหมด แต่กฎใหม่ๆนั้น จะมีรายละเอียด รวมถึงข้อดีข้อเสียอย่างไรกันบ้าง Tonkit360 จะพามาดู และวิเคราะห์กันเลย!

กฎที่ 1: แบ่งเวลาแข่งออกเป็นสองช่วง

ภาพจาก pxhere.com

รายละเอียด: ยูฟ่าได้วางเวลาถ่ายทอดสดใหม่สำหรับทั้งรายการยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก และรายการยูโรป้า ลีก โดยในฤดูกาลหน้า ยูฟ่า แชมเปี้ยนลีก นั้นได้แยกเวลาถ่ายทอดสดออกเป็นสองช่วง โดยจะมีเกมการแข่งขันในรอบแบ่งกลุ่มทั้งหมด 4 เกม (แยกเป็น 2 เกมในคืนวันอังคาร และ 2 เกมในวันคืนพุธ) ที่จะได้มาเตะกันก่อน ในช่วงเวลา 00:55 ตามเวลาไทย (17:55 ตามเวลาอังกฤษ)

ส่วนในยูโรป้า ลีก นั้นก็จะมีการปรับกฎคล้ายๆกัน โดยจะแยกช่วงเวลาถ่ายทอดสดตั้งแต่รอบแบ่งกลุ่ม จนถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย ออกเป็นสองช่วงเหมือนกับยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เช่นกัน

ข้อดี: ทีนี้ ถ้ามีฟุตบอลคู่ใหญ่ที่จะเตะกันในช่วงวันแข่งที่เหมือนกัน เราก็อาจจะไม่ต้องเลือกดูแล้ว เพราะยูฟ่าอาจจะปรับเอาฟุตบอลคู่ใหญ่ มาลงในช่วงตีหนึ่งก่อน ตามมาด้วยอีก 6 คู่ที่เหลือในช่วงเวลา 2:45 (19:45 ในเวลาอังกฤษ) และอย่าลืมว่า ถ้าโชคดีและทีมที่เชียร์ได้เตะก่อน ก็แปลว่าเราจะได้นอนเร็วขึ้นนิดหน่อยด้วยนะ! (แต่พอเป็นรอบน็อกเอาท์ ก็จะเตะพร้อมกันเหมือนเดิมนะ เช่นเดียวกับเกมรอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้าย)

ข้อเสีย: จริงๆก็ไม่มีนะ แต่การเปลี่ยนแปลง ก็จะต้องมีการจำผิดกันบ้าง ระวังไว้ด้วยล่ะ อย่าลืมตั้งนาฬิกาปลุกให้ถูกนะว่าทีมที่เราเชียร์นั้นแข่งเวลาไหน ทางที่ดีคือการใช้แอปฯ ตารางการแข่งขันคอยช่วยเตือน จะช่วยได้มากเลยทีเดียว

กฎที่ 2: ว่าด้วยเรื่องตัวสำรอง

รายละเอียด: Tonkit360 ขอรวมมาเลย 2 กฎในหนึ่ง เพราะยูฟ่าจัดการสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ด้วยการเพิ่มกฏการเปลี่ยนตัวสำรองคนที่ 4 ได้ในกรณที่เกมการแข่งขันเข้าสู่ช่วงต่อเวลาพิเศษ ทรงจะคล้ายๆกับกฎการขอดูภาพช้าในเทนนิส ที่ผู้เล่นจะได้สิทธิ์การขอดูภาพเพื่มขึ้นมา 1 ครั้งเมื่อเข้าช่วงไทเบรค

อีกหนึ่งกฎที่น่าจะทำให้เกมดูน่าสนใจมากขึ้น คือการที่ยูฟ่าประกาศเพิ่มจำนวนตัวสำรองในเกมการแข่งขัน จากเดิมที่มี 7 คน ให้เป็น 12 คน เหมือนกับโปรแกรมระดับชาติในการแข่งขันฟุตบอลโลก และศึกยูโรเป็นต้น แต่อันนี้จะใช้ได้ในนัดชิงเท่านั้นนะ (ทั้งถ้วย UCL UEL และศึกซูเปอร์ คัพ ด้วย)

ข้อดี: ยิ่งเข้ามาในช่วงทดเวลาพิเศษ ถ้าเกิดนักเตะเกิดเจ็บขึ้นมา ทีมแต่ละทีมก็จะมีโอกาสได้เปลี่ยนตัวอีกหนึ่งครั้ง ทีนี้แฟนบอลก็ไม่ต้องมาเถียง ไม่ต้องใช้ข้ออ้างกันแล้วว่าถ้านักเตะไม่เจ็บ ไม่เป็นตะคริวนะ ก็คงชนะไปแล้วเพราะทีมจะมีโอกาสเปลี่ยนตัวได้อีกครั้ง ถ้าจำเป็นจะต้องทำ หรือบางทีเราอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนตัวที่พลิกชีวิตในช่วงต่อเวลาพิเศษก็ได้ (เช่นตอนที่ฟาน กัล เปลี่ยนเอาทิม ครูล ลงมาเซฟจุดโทษในฟุตบอลโลกปี 2014)

https://www.instagram.com/p/BeyRIU0nwmL/

ยิ่งการเพิ่มจำนวนนักเตะในม้านั่งสำรองไปอีกด้วยแล้ว ผู้จัดการทีมก็จะมีตัวเลือกในการเปลี่ยนตัวมากขึ้น หรือถ้าไม่แน่ใจว่านักเตะคนนี้ฟิตพร้อมหรือเปล่า ก็ยังสามารถใส่ชื่อมาได้ โดยไม่ต้องเสียดายโควตานักเตะสำรองเลย โดยยูฟ่ามองว่า การเพิ่มตัวสำรอง จะช่วยผู้จัดการทีมในการบริหารตัวนักเตะได้ง่ายขึ้นด้วย (เอาง่ายๆคือ ตัดปัญหารักพี่ เสียดายน้องนั่นเอง) โดยเฉพาะถ้าเป็นนัดชิงอีก ใครที่ได้มีโอกาสไปนั่งเป็นตัวสำรอง ก็คงเป็นเรื่องดีแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นเด็กดาวรุ่งด้วยแล้ว มันคงเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีเลยล่ะ

ข้อเสีย: อรรถรสของเกมจะหายไปหรือเปล่านะ เพราะตอนนี้เราก็แทบจะไม่ต้องลุ้นแล้วว่า ใครจะโดนตัดชื่อ หรือไม่ตัดชื่อในเกมสำคัญหรือเปล่าแล้ว เพราะตอนนี้ผู้จัดการทีมสามารถใส่ชื่อนักเตะในม้านั่งสำรองได้ถึง 12 คนเลย

ส่วนในแง่ของการเปลี่ยนตัวเพิ่มนั้น ก็อาจจะมองได้ว่า มันจะทำให้เกมเสียดราม่าไปหรือเปล่า เพราะเราอาจจะไม่ได้ดูการใช้กึ๋นของผู้จัดการทีมแบบเมื่อก่อนแล้ว ว่าจะเสี่ยงเปลี่ยนตัวครบ 3 คนไปเลยในช่วง 90 นาที หรือจะเก็บโควตาตัวสำรองไว้ใช้ในช่วงทดเวลาพิเศษ เพราะยังไงก็มีโควต้าเปลี่ยนอีกคนในช่วงทดเวลาพิเศษอยู่แล้ว

กฎที่ 3: นักเตะสามารถเล่นได้มากกว่า 1 สโมสร!

รายละเอียด: กฎนี้น่าจะทำให้แฟนบอลทั้งอาร์เซน่อล และบาร์เซโลน่าต่างบ่นเป็นเสียงเดียวว่ามาช้าไปนะ!” เพราะถ้ายูฟ่าตั้งกฎนี้ในปีนี้ พวกเขาก็จะสามารถใช้นักเตะตัวเก่งที่เพิ่งจะซื้อมาช่วงมกราคมปีนี้ได้ นอกจากนั้น ยูฟ่ายังตั้งกฎ ให้ทีมสามารถเลือกนักเตะที่เคยลงสนามในการแข่งขันไปแล้ว ได้ถึง 3 คนด้วย จากเดิมที่ได้แค่ 1 คน

ข้อดี: กฎนี้น่าจะทำให้การย้ายตัวในช่วงเดือนมกราคมของทีมในยุโรปดูน่าสนใจมากขึ้น การทำแบบนี้จะทำให้นักเตะที่มีปัญหาในทีมระหว่างฤดูกาล หรืออยากย้ายทีม โดยเฉพาะในทีมใหญ่ๆ (เช่นโอบาเมย็อง และคูตินโญ่ เป็นต้น) สามารถย้ายทีมได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะอดลงสนามในเกมยุโรป

แถมการที่ยูฟ่าเปิดโอกาสได้ทีมสามารถเปลี่ยนรายชื่อนักเตะได้ถึง 3 คนแบบนี้ เราน่าจะได้เห็นนักเตะระดับสตาร์ ย้ายทีมสลับขั้วกันมากขึ้นในช่วงตลาดเดือนมกราคมในอนาคต การแข่งขันก็น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้นไปในตัวด้วย

ข้อเสีย: ถ้าย้ายได้ ต้นสังกัดก็ต้องกลัวล่ะสิเนี่ย! เพราะตอนนี้ถ้านักเตะอยากย้าย พวกเขาก็ไม่ต้องกลัวแล้วว่าจะไม่ได้ลงสนามในถ้วยยุโรป ทีมอาจจะต้องระมัดระวังในการปล่อยนักเตะไปให้กับทีมคู่แข่งในยุโรปมากขึ้นในอนาคต เพราะตอนนี้พวกเขาไม่สามารถแกล้งส่งนักเตะคนที่ว่าลงสนามในถ้วยยุโรป เพื่อไม่ให้ทีมใหญ่ทีมอื่นซื้อได้แล้ว

แต่ที่น่าสงสัย คือถ้าเปลี่ยนรายชื่อนักเตะแล้ว นักเตะคนใหม่จะสามารถใช้เบอร์เสื้อซ้ำกันได้หรือเปล่า เพราะในปีนี้ เราเห็นนักเตะอย่างเฮ็นริค มาคิตาร์ยาน ใส่เบอร์ 77 ในถ้วยยุโรป แทนที่จะใส่เบอร์ 7 เหมือนในลีก เพราะว่าเบอร์ 7 นั้นจะไปซ้ำกับเบอร์ที่อเล็กซิส ซานเชล เคยใส่ให้กับอาร์เซน่อลในถ้วยยุโรปแล้วนั่นเอง

แฟนบอลทั้งหลายล่ะ ถูกใจหรือเปล่าสำหรับกฎใหม่ที่ยูฟ่าเตรียมจะใช้กันในปีหน้า หรือคิดว่ามีกฎไหนบ้างที่ทุกคนคิดว่าน่าจะลองเปลี่ยนดู อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้นะครับ!