6 ข้อน่าสงสัย และปัญหาต่างๆ หากพรีเมียร์ลีกนำ VAR มาใช้

คำถามที่ต้องถามแฟนบอลทั้งหลายเมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีอย่าง Video Assistant Referee หรือ VAR นั้น คือคุณเป็นแฟนฟุตบอลที่ต้องการดราม่าหรือต้องการความถูกต้องมากกว่ากัน ซึ่งในวันนี้ Tonkit360 จะมาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น และข้อคำถามหากทางพรีเมียร์ลีกตัดสินใจนำเทคโนโลยี VAR เข้ามาช่วยผู้ตัดสินในอนาคต

1. เกมจะขาดตอนมากขึ้นอย่างแน่นอน

ภาพจาก YouTube

เอกลักษณ์ของฟุตบอลอย่างหนึ่ง คือความลื่นไหลของเกมการแข่งขัน ที่มักจะมีจังหวะหยุดที่สั้นกว่ากีฬาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกัน เกมส์อย่างบาสเก็ตบอล หรืออเมริกันฟุตบอล ไปจนถึงกีฬาอย่างเทนนิสด้วย เพราะเกมฟุตบอลนั้นจะใช้เวลากันประมาณ 90 นาที ถ้าบวกช่วงพักครึ่งไปก็จะเท่ากับ 105 นาที และด้วยการที่เกมลื่นไหล ทำให้อรรถรสของเกมกีฬานั้นมีมากขึ้น ถ้าฟุตบอลต้องมีเล่นๆ หยุดๆ แบบนี้ นอกจากจะทำให้จังหวะชมเกมจะดูติดขัดแล้ว นักฟุตบอลเองก็อาจจะไม่ชอบ เพราะบางทีการเบรกเกมนั้นก็อาจจะเป็นการทำลายโมเมนตัมของนักเตะไปด้วยก็ได้

ถ้ามองในแง่ดี จังหวะ 2-3 นาทีตรงนี้ แฟนบอลที่ชมเกมอยู่ที่บ้าน ก็อาจจะลุกไปหาอะไรดื่ม เข้าห้องน้ำ หรือหาขนมได้ทัน ก่อนจะเดินกลับมาชมเกมกันต่อได้  แต่แน่นอนว่า ด้วยเกมที่ยาวขึ้น ก็หมายความว่าแฟนฟุตบอลชาวไทยอย่างพวกเรา ก็ต้องนอนดึกเข้าไปอีก! (แต่ได้ความถูกต้องนะ จะได้นอนหลับ ไม่ต้องเก็บไปคิดระแคะระคายใจ)

2. โอกาสหาเงิน และสร้างความสนุก

ในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมานั้น ฟุตบอล โดยเฉพาะฟุตบอลอังกฤษนั้นเริ่มมีการเน้น และเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆเข้ามาลงทุนด้านการตลาดในเกมฟุตบอลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนเกมถ่ายทอดสด (ในส่วนของอังกฤษ) การเพิ่มลักษณะสปอนเซอร์ เช่นสปอนเซอร์ตามแขนเสื้อเป็นต้น โดยเทคโนโลยี VAR นั้นจะเปิดช่องเวลา Dead Air หรือข่วงเวลาหยุดเกมกันนานๆขึ้นมา

สปอนเซอร์อย่าง Microsoft ที่ NFL ใช้ระหว่างการชมภาพรีเพลย์ (ภาพจาก NFL.com)

มีการตั้งข้อสังเกตว่าในจังหวะที่ผู้ตัดสินต้องคุยกันนั้น คนในสนาม รวมถึงผู้บรรยายเกมในสนาม จะไม่รู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น และจะมีจังหวะเงียบๆ และงงๆในสนาม ซึ่งจุดตรงนี้อาจจะเป็นช่องทางการทำการตลาดได้ หรือถ้าผู้ตัดสินกำลังฟังคำตัดสินอยู่ ก็สามารถใช้วิธี Tie-In สินค้าหรือสิ่งของที่ซื้อเวลาในส่วนนี้ได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นจอที่กรรมการใช้ในการดูภาพของอเมริกันฟุตบอลนั้น จะมีกล่องของ Microsoft Surface ครอบอยู่

2-3 นาทีตตรงนี้ จะแจกเสื้อกันเลยก็ได้นะ (ภาพจาก Pinterest)

หรือบางที ถ้าเราลองชมเกมอเมริกัน เกมส์เช่นบาสเก็ตบอลแล้ว ช่วงเวลาตรงนี้อาจจะเป็นเวลาที่สโมสรสามารถทำกิจกรรมในสนามได้ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเสื้อ ประกาศผู้โชคดีแจกของสัมนาคุณต่างๆ ในช่วงเวลา 2-3 นาทีตรงนี้ (หรืออาจจะมากกว่านั้น) จะได้ให้แฟนบอลมีอะไรทำกันระหว่างที่ผู้ตัดสินกำลังตรวจสอบภาพกันอยู่

3. คุยอะไรกัน

ภาพจาก FIFA.com

หนึ่งเรื่องที่เป็นข้อแตกต่างของการใช้ VAR นั่นคือว่า เราจะไม่ทราบว่าผู้ตัดสินในสนามคุยอะไรกับผู้ตัดสินที่กำลังชมภาพอยู่บ้าง จนเกิดข้อกังขาเรื่องความโปร่งใสขึ้นมา

ถ้าหากเป็นในอเมริกันฟุตบอล หลังจากที่ผู้ตัดสินได้ชมภาพและตัดสินใจแล้ว เขาก็จะต้องประกาศผ่านไมโครโฟนของเขา ว่าการตัดสินคืออะไร และข้อโทษคืออะไร เช่นถ้ามีจังหวะหน้ากังขาว่าจะเป็นจุดโทษหรือไม่นั้น หลังจากผู้ตัดสินได้ชมภาพแล้ว ก็สามารถประกาศได้ว่า

จากการดูภาพวิดีโอจังหวะนี้ สรุปคือนักเตะเบอร์นี้ ถูกสัมผัสตรงข้อเท้าโดยนักเตะอีกคน ผลการตัดสินคือการให้จุดโทษ และใบเหลืองต่อนักเตะที่ทำฟาวล์

ต้องให้ดูกันแบบนี้ไปเลย (ภาพจาก Worldsoccertalk.com)

ความโปร่งใสนั้นถือเป็นเรื่องหนึ่งที่มีนักวิจารณ์ต่างบ่นกันอยู่ เพราะฉะนั้นแฟนบอลในสนาม รวมถึงคนที่ชมอยู่ทางบ้านเองก็ควรจะได้รับคำอธิบายว่าทำไมกรรมการถึงเลือกตัดสินแบบนั้น ส่วนถ้าสนามไหนในพรีเมียร์ลีกมีจอภาพ ก็น่าจะสามารถฉายภาพที่กรรมการกำลังชมอยู่ หรือขึ้นจอว่ากรรมการกำลังดูภาพจาก VAR อยู่ในตอนนี้ เพราะบางทีมุมกล้องถ่ายทอดสดก็ไม่ได้เอาภาพเดียวกันกับที่กรรมการดูมาให้เราชมกัน

4. อยู่กันคนละที่ เพราะอะไรล่ะ

เว็บบ์นั่งชมภาพการตัดสินจากรถถ่ายทอดสดนอกสนาม (ภาพจาก BT.com)

ก็เป็นคำถามแปลกๆอยู่ ว่าทำไมกรรมการของอังกฤษที่คอยชมภาพ VAR อยู่นั้นถึงไม่ได้อยู่ที่สนามด้วย ซึ่งตรงนี้อาจจะส่งผลเรื่องการสื่อสารในบางส่วนได้ เพราะหากเรายกตัวอย่างในเกมเอฟเอ คัพ ที่แมนฯยูไนเต็ด อดได้ประตูจากจังหวะของฆวน มาต้า เพราะ VAR บอกว่าล้ำหน้านั้น เมื่อมีภาพถ่ายพร้อมเส้นไลน์ให้ดูแล้ว มันก็ยังเป็นประเด็นกันว่า เส้นก็วาดไม่ตรง และไลน์ก็ดูเหมือนจะไม่ล้ำด้วยซ้ำ การที่กรรมการในสนามไม่มีโอกาสได้เห็นภาพนี้ เพราะได้แค่ฟังจากวิทยุ หรือไม่มีโอกาสได้คุยกับคนที่ชมภาพแบบชัดเจน เพราะไม่ได้อยู่ในสนามด้วยกัน จึงอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจได้ และสถานที่ในการชมภาพก็ไกลกันจริงๆ น่าสงสัยทำไมพวกเขาถึงไม่ใช้รถ Outside Broadcasting หรือ OB ในการแพร่ภาพล่ะ เพราะบริษัทอย่าง BT Sport ก็เคยเอาอดีตกรรมการอย่าง ฮาเวิร์ด เว็บบ์ มานั่งดูภาพและบรรยายเรื่องการตัดสินในเกมต่างๆจากรถถ่ายทอดสดมาแล้วเลย 

เรียกมาดูกันให้หมดเลย (ภาพจาก NBA.com)

ทางที่ดีคือ กรรมการควรจะมีโอกาสได้ชมภาพตรงนี้ด้วย แม้ว่า VAR จะเป็นฝ่ายเตือนว่าการตัดสินตรงนี้ไม่ผิดพลาดก็ตาม (เหมือว่าเป็นการกันไว้ ดีกว่าแก้นั่นแหละ) หรือให้กรรมการหลายๆคนในสนามมาช่วยกันดู เหมือนในบาสเก็ตบอล ก็อาจจะเป็นทางแก้ทางหนึ่ง (มาดูกันแค่ 2 คนก็พอนะ ไลน์แมนก็อยู่ที่เดิมเถอะ ไม่งั้นคงวิ่งกันไกลพอสมควรเลย)

5. ผู้ตัดสินต้องเก่ง และใช้ VAR ให้เป็นด้วย

จังหวะไหนใช้ได้ หรือไม่ได้นั้น พวกเขาก็ต้องรู้ และแม้ว่าจะตัดสินผิดพลาดไปแล้ว กรรมการก็ไม่สามารถจะกลับมาแก้คำตัดสินได้แล้ว นอกจากนี้ พวกเขาก็ต้องจำด้วยว่า จังหวะตรงไหนที่สามารถเรียกใช้ VAR ได้ เพราะกรณีผู้ตัดสินเรียก VAR ในเกมที่ไม่มีนั้นก็เกิดขึ้นมาแล้ว เช่นในเกมพรีเมียร์ลีก ที่ลิเวอร์พูลเสียลูกจุดโทษเจ้าปัญหา แต่ก็มีคนสังเกตว่า จอห์น มอสส์ กรรมการในเกมนั้น กลับเดินไปหา มาร์ติน แอ็ตคินสัน ผู้ตัดสินที่ 4 และบอกว่าเรามีภาพรีเพลย์หรือเปล่าซึ่งแอ็ตคินสันก็ไม่ได้ตอบอะไรกลับไป การทำแบบนี้จึงทำให้เห็นถึงความไม่แน่ใจของกรรมการ แต่ก็ต้องตัดสินไปทั้งๆอย่างนั้น ซึ่งแฟนบอลก็อาจจะบอกว่า ถ้าคุณไม่แน่ใจ แล้วคุณจะตัดสินในจังหวะนั้นได้อย่างไรล่ะ ทางทีดีคือควรจะตัดสินไปเลย ผิดก็ผิดไป อาจจะดีกว่าการเผยไต๋ว่าไม่แน่ใจในจังหวะนี้

แต่ถ้าลองมาดูดีๆแล้ว กฎของฟุตบอลนั้นอาจจะยังไม่ตายตัวเหมือนในอเมริกันฟุตบอล เพราะฉะนั้นต่อให้ทีมงานของกรรมการมี VAR แล้ว ก็ต้องมีดุลพินิจในการตัดสินให้ถูกต้องด้วยเช่นกัน เช่นว่าจังหวะล้ำหน้านั้น กรรมการบางคนก็ปล่อยถ้าล้ำแค่แขน เพราะไม่ใช่ส่วนที่เล่นฟุตบอลได้ แต่บางคนก็ไม่ปล่อย เพราะถือว่ายังไงก็ล้ำ ด้วยเหตุนี้ ต่อให้มี VAR แล้ว กรรมการเองก็ต้องคิดตามไปด้วยเช่นกัน และตัดสินให้ถูกที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ถ้ามีอธิบายด้วย ก็อาจจะช่วย)

แนะนำให้ทุกคนลองดูภาพด้านล่างที่ทาง ฮอล์คอายเอามาเทียบ ว่าภาพที่ถูกต้อง (Seen by VAR) นั้นสรุปแล้วมาต้าล้ำจริงๆหรือเปล่า (ดูแล้วก็อย่าคิดมากนะ เพราะแมนฯยูไนเต็ด ก็ชนะ และทางฮอล์คอายก็ขอโทษแล้วด้วย)

6. มุมกล้อง สำคัญมาก

โดยปกติแล้ว สนามหลายๆที่ เช่นโอลด์ แทรฟฟอร์ด นั้น จะมีการตั้งกล้องรอบสนามมากมายหลายจุด เพื่อให้ทีมงานถ่ายทอดสดสามารถเลือกภาพมาลงในจอโทรทัศน์ได้ ซึ่งมองได้ว่า มุมกล้องตรงส่วนนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ VAR นั้นสามารถแสดงประสิทธิภาพได้สูงสุด เพราะฉะนั้นมุมกล้องที่ผู้ตัดสินจะได้ชมนั้น ต้องเห็นจังหวะนี้ให้ชัดเจนที่สุด และควรมีหลายภาพให้ดูเพื่อช่วยในการตัดสินใจ เพราะมุมอับนั้นก็มีให้เห็นกันทั่วไป (เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาแล้วในลีกโปรตุเกส ที่มีธงผืนใหญ่มาบังกล้อง จนไมาสามารถนำภาพกลับมาดูได้) การนำ VAR มาใช้ ก็น่าจะช่วยกำจัดปัญหาเรื่องมุมอับของกรรมการ และไลน์แมนได้บ้าง เพราะต้องคำนึงถึงจุดตั้งกล้องเป็นสำคัญ และอย่าลืมว่า ต้องแพร่ภาพให้ถูกต้องด้วยนะ คือต้องเอาภาพที่กรรมการที่มองภาพจาก VAR ได้ดูมาออกในทีวี

สุดท้ายแล้ว ถ้าลองมาคิดในแง่ของสโมสรฟุตบอลนั้น พวกเขาอาจจะชอบไอเดียนี้ เพราะถ้าหากเทคโนโลยี VAR สามารถนำมาใช้ในทางที่สะดวก รวดเร็ว และถูกต้อง รวมถึงโปร่งใสด้วยแล้ว สโมสรฟุตบอลก็คงไม่รู้สึกเหมือนว่าโดนกรรมการปล้นเงินที่พวกเขาลงทุนไป (นึกถึงเกมที่เชลซีพลาดตกรอบแชมเปี้ยนส์ ลีก หลายปีก่อนหน้านี้ ที่เจอกับบาร์เซโลน่าเลย) เพราะต้องแพ้เกมดังกล่าวหรือตกรอบฟุตบอลถ้วยใหญ่ๆ จากการตัดสินที่ไม่ชัดเจน ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คุณก็คงไม่อยากเห็นทีมฟุตบอลของคุณแพ้ เสียประตู หรือตกรอบ เพราะการตัดสินที่ไม่ตรงหรือไม่ชัดอย่างแน่นอนจริงมั้ยล่ะ

แล้วแฟนๆของ Tonkit360 คิดอย่างไรกับเทคโนโลยีชิ้นนี้กันบ้าง ชอบหรือไม่ชอบ ถ้ายังไงก็อย่าลืมมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันนะ