คุมกำเนิดคณะที่จบออกมาเตะฝุ่น : ทางออกหรือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

การคุมกำเนิดคณะวิชาที่ผลิตบัณฑิตล้นตลาดคือการแก้ปัญหาที่ถูกจุดหรือไม่? : หลังจากนายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการเพิ่มเติมเรื่องการลดและตัดงบประมาณอุดมศึกษา เพื่อควบคุมสาขาวิชาที่ผลิตบัณฑิตออกมาแล้วไม่มีงานทำ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ว่านี่คือวิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องหรือไม่ หรือนอกจากลดทางเลือกทางการศึกษา ให้ผู้คนเข้าเรียนแต่คณะที่เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างเดียวแล้ว ควรมีวิธีการอื่นที่รัฐต้องรับผิดชอบจัดการ และแทนการตัดงบรัฐควรทุ่มงบเพื่อสนับสนุนระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่อระบบการศึกษามีคุณภาพ คนย่อมมีคุณภาพ เรื่องตกงานย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะจะเกิดการไหลเวียนของแรงงานมีฝีมือที่สามารถเดินทางไปได้ทั่วโลก

ขอบคุณภาพจาก : Youtube Chaplin Modern Times-Factory Scene

ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อให้ใครค้นหาตัวเอง : เส้นทางของการเป็นเจ้าคนนายคนนั้นมีทางเดียวคือเข้ารับการศึกษาตามระบบ เรียนวิชาซ้ำๆ ตามหลักสูตร แต่ระบบการศึกษาไม่เอื้อให้ใครชอบหรือเก่งอะไรนอกเหนือจากหลักสูตรที่กระทรวงศึกษากำหนด เราต้องผ่านการสอบครั้งและครั้งเล่า มาตรฐานของคนเก่งมีเพียงมาตรฐานเดียวจากการแข่งขันในสนามระดับประเทศ (แอดมิดชั่น) ผู้แพ้ถูกผลักให้ตกขอบ อาจยังอยู่ในระบบการศึกษาที่ถูกดูหมิ่นดูแคลน หรือออกนอกระบบการศึกษาไป ส่วนคนที่ยังอยู่ในระบบก็ต้องแข่งกันต่อ เราเรียนตามความต้องการของตลาด ตามที่รัฐบาลกำหนดว่ายุคนี้ 4.0 ต้องการคนที่มีความรู้ด้าน IT เราก็ถมเรียน IT กันไป สุดท้าย 4 ปีผ่านไป บัณฑิต IT ล้นตลาด เราเรียนจบเพื่อทำงานที่ตลาดต้องการ เหมือนที่เราเรียนเพื่อสอบในระบบการศึกษาที่เราคุ้นเคย การค้นหาตัวตนความชอบเป็นเรื่องเสียเวลา และทางเลือกไม่หลากหลายมากพอ

อะไรล้นตลาดก็ลดการผลิต นี่เราอยู่ในสังคมหรือสายพานอุตสาหกรรม? : แท้จริงแล้วการศึกษาทำหน้าที่อะไรบ้าง ผลิตนักศึกษาเพื่อป้อนตลาดแรงงานอย่างเดียวหรือไม่ หรือการศึกษาควรผลิตคนที่คิดวิเคราะห์เป็น ออกมาเพื่อขับเคลื่อนสังคมด้วย ข้อสั่งการเพิ่มเติมของนายกรัฐมนตรีนั้นสะท้อนวิธีคิด อุปสงค์ อุปทาน ตามหลักเศรษฐศาสตร์ แต่อาจลืมนึกไปว่าสินค้าที่ท่านจะสั่งลดการผลิต คือคน คนที่พัฒนาความคิดได้หลากหลาย หากได้รับการสนับสนุนที่เพียงพอ หรือจริงๆ แล้ว รัฐยิ่งต้องทำหน้าที่อุดหนุนบางคณะหรือสาขา เพื่อสร้างประสิทธิภาพให้บัณฑิตจากสาขาวิชานั้นๆ ทำให้เขาเป็นที่ต้องการ หรือมีประสิทธิภาพมากพอ รัฐต้องรับใช้ประชาชน ไม่ใช่กลุ่มทุนที่กำหนดทิศทางของสังคมว่าต้องลดนั่นเพิ่มนี่ เพราะนี่คือประเทศที่มีผู้คน ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมที่รัฐต้องหาวัตถุดิบใส่สายพานป้อนโรงงานอย่างเดียว

เพราะการเลือกเส้นทางเดินของชีวิตมีปัจจัยที่หลากหลาย ดังนั้นการแก้ปัญหาแบบตัดตอนโดยการคุมกำเนิดคณะที่ตกงาน ดูจะเป็นการแก้ปัญหาแบบหลักลอย ไม่เข้าใจหรือศึกษาบริบทใดๆ ของสังคม พูดกันง่ายๆ ว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ สุดท้ายก็ไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อเวลาหมุนไป บางคณะที่ตลาดต้องการในขณะนี้ก็อาจจะผลิตบัณฑิตมาจนล้นตลาดอีก วันข้างหน้าเราอาจจะเหลือทางเลือกในการศึกษาน้อยนิด เพราะคณะที่ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดก็จะถูกหั่นงบจนต้องล้มหายตายจาก หากการศึกษาหมายถึงการเรียนรู้เพื่อเปิดโลกใบใหม่ให้มนุษย์ โลกใหม่ที่ได้จากการศึกษาในประเทศไทยคงไม่หลากหลายพอ รู้ตัวอีกที เราอาจจะกำลังเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่ทำงานซ้ำเดิม ไม่เห็นคุณค่าการมีอยู่ของตัวเอง ไม่จำเป็นที่จะต้องพัฒนาตัวเอง ปฏิบัติงานซ้ำเดิมตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ต่างจากเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม