แฮชแทค #ล่า2017 ที่ติดอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ตั้งแต่วันแรกที่ละครเรื่องนี้ออกอากาศนั้นนับว่าน่าสนใจอย่างยิ่งที่คอละครไทยหันมาให้ความสนใจละครน้ำดีที่สะท้อนปัญหาของสังคมชนิดที่หลายคนหน้าชา จนทำให้กระแส ข่มขืน=ประหาร กลายมาเป็นวิวาทะกันอีกครั้งหนึ่งในโลกโซเชียล และเผลอๆจากฉากข่มขืนดังกล่าวอาจทำให้เกิด Social Movement ขึ้นในสังคมเลยทีเดียว
นวนิยายเรื่องล่า ที่ประพันธ์โดยทมยันตี นั้นเรียกได้ว่าเป็นนวนิยายที่ไม่เคยตกยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมที่เราก็รู้กันดีอยู่ว่าความปลอดภัย และ ความยุติธรรมของกฎหมายนั้นอยู่ในระดับไหน และพึ่งพาได้มากน้อยเพียงใด
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจจากกระแสเรื่อง “ล่า” น่าจะเป็นความคิดเห็นจากผู้คนบนสื่อสังคมออนไลน์ ที่แสดงความคิดเห็นชนิดออกอาการหัวร้อนกับฉากที่แม่ลูกถูก 7 ทรชนย่ำยี หรือบางคนไม่สามารถทนดูฉากดังกล่าวได้ หรือบางคนแค่อ่านความคิดเห็นจากฉากดังกล่าวก็ให้รู้สึกจิตตก และ บางคนถึงกับบอกว่า แค่อ่านไทม์ไลน์ทวิตเตอร์ที่บรรยายถึงฉากดังกล่าวก็ให้รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้วนเวียนอยู่ในหัวไม่สามารถสลัดหลุดไปได้
ถ้าเป็นเช่นนั้นวันนี้ Tonkit360 จะมาชวนคุณผู้อ่านคุยกันว่า ทำไมเราถึงรู้สึกหัวร้อน รู้สึกจิตตก หรือบางคนไม่สามารถทนดูได้กับฉากดังกล่าวได้ โดยดึงเอาบทความทางจิตวิทยาที่เคยวิเคราะห์เรื่องนี้เอาไว้มาเล่าให้ฟัง
เรื่องฉากข่มขืนในภาพยนตร์ กับ ความรู้สึกของคนดูนั้นมีการวิเคราะห์เอาไว้ว่าเวลาที่เราดูเหยื่อในภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรงนั้นจะส่งผลต่างจิตวิทยา ต่อความรู้สึกของเราเองโดยแบ่งเป็นสองประเภท
ประเภทแรก ถ้าเราดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาซึ่งเหยื่อของเรื่องจะต้องถูกฆ่าตายนั้น เราจะไม่มีความรู้สึกร่วมมากนัก คนดูอาจจะรู้สึกเสียใจกับการตายของตัวละคร แต่เรื่องดังกล่าวจะไม่วนเวียนอยู่ในหัวของผู้ชม
ประเภทที่สอง แต่ถ้าเป็นฉากข่มขืน จะให้ส่งผลทางจิตวิทยาต่อคนดูแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่อจากการข่มขืนนั้นรอดชีวิตเพราะเหยื่อจากการข่มขืนที่รอดชีวิตนั้น จะแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์อันเลวร้าย สภาพร่างกายและจิตใจที่ถูกทำลายอย่างยับเยิน ซึ่งเรื่องดังกล่าวคนดูสัมผัสได้ถึงประสบการณ์นั้น และ ความรู้สึกแบบนี้จะทำให้คนดูอินไปกับละครและรู้สึกหดหู่มากกว่า ฉากที่เป็นการฆาตกรรม หรือ การตายของตัวละคร
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนเมื่อได้ชมละคร ล่า ที่เอามารีเมคใหม่ในปี 2017 จะรู้สึกอินไปกับเนื้อหา เพราะมันคือการปูเรื่องก่อนที่คนเป็นแม่ จะออกมาทวงความยุติธรรมด้วยตนเอง เหมือนดังเช่นความรู้สึกของตัวละคร ที่ทมยันตี เขียนไว้ในนวนิยายเรื่อง “ล่า” ว่า
“คนทีไม่เคยขมขื่น จากการถูกข่มเหงรังแก จะไม่มีพิษร้ายตกตะกอนอยู่ในหัวใจ คนเหล่านั้นจะอ้างถึงเมตตาธรรม การกลับตัวกลับใจได้ร้อยแปด จนกว่าเขาจะรู้รสแห่งความขมขื่นนั้นเขาจึงจะรู้ว่า…เขาต้องการเห็นการตอบแทนที่สาสมอย่างไร” …. ทมยันตี