
เวลามีคนแชร์ข่าวทางโซเชียลมีเดียมาให้เรา เคยตั้งคำถามกันไหมว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงได้เชื่อว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องจริง มีหลายคนบอกว่าก็มันมีวงเล็บมานี่ว่าแหล่งข่าววงใน หรือ ระบุชื่อหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเลยทีเดียว บางคนก็บอกว่า มันส่งต่อกันมาอย่างรวดเร็ว แล้วสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นก็ทำให้คิดว่าเป็นเรื่องจริง ขณะที่อีกหลายคนบอกว่าเห็น “เขา” (“เขา”นี่ถูกอ้างตลอด) แชร์กันมา ก็แชร์กันไปไม่ได้คิดอะไรมาก และไม่อยากตกกระแสด้วย
และด้วยเหตุผลหลายๆข้อด้านบนก็ทำให้นักแชร์โซเชียลทั้งหลายต้องอยู่ในสถานะ “เจ็บปวดกันมาเท่าไรแล้วกับคำว่า ‘วงใน’ ทีนี้เรามาดูเหตุผลที่คนทั่วไปเชื่อข่าวแชร์ หรือข่าวลือกันได้อย่างง่ายดายตามเหตุผลของ ดร.ไมเคิล เชอร์เมอร์ อาจารย์สอนวิชา วิมุตินิยม 101 (ความกังขา ความสงสัย) แห่งมหาวิทยาลัยแชปแมนกันว่า ทำไม๊ ทำไม ถึงได้แชร์กันจัง!
เพราะข่าวลือน่าตื่นเต้น และ เข้าใจง่าย
โดยทั่วไปแล้ว การสั่งการของสมองจะเร็วเมื่อได้รับข้อมูลที่เข้าใจง่าย หรือ น่าตื่นเต้น ขณะเดียวกันการสั่งการเพื่อตั้งข้อสงสัยกับข้อมูลจากสมองนั้นจะมาช้ากว่า เพราะต้องผ่านกระบวนคิดอย่างมีเหตุผลซึ่งไม่ใช่สิ่งที่คนทั่วไปชอบทำกันสักเท่าไรนัก แปลง่ายๆคือ เมื่อเราได้รับข่าวแชร์ หรือ ข่าวลือ เรามักจะเชื่อเพราะมันมาไว เนื้อหาน่าตื่นเต้น และ เหนืออื่นใด อ่านเข้าใจง่ายกว่าประกาศเตือนเยิ่นเย้อ และ ใช้ภาษาวกวนที่เป็นความจริง
เพราะมนุษย์เราชอบปฎิเสธความจริง
ความคาดหวังกับความจริงที่สวนทางมักทำให้หลายคนพูดไม่ตรงกับใจ และเกิดอาการปฎิเสธความจริง และวิธีคิดแบบนี้ทำให้พวกชอบแชร์ข่าวลือที่บอกว่าตนเองมีแหล่งข่าววงใน มักจะแชร์เรื่องที่ตนเองก็ยังรู้สึกว่ามันไม่่ค่อยน่าเชื่อแต่ก็กดแชร์ เพราะว่าคนที่ส่งข่าวมานั้น มีคำว่าวงใน หรือ เขาเป็นคนที่มีเครดิตน่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้ามีเพื่อนอยู่ในกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งแล้วบังเอิญมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงแล้วเจ้าเพื่อนคนดังกล่าวก็ดันแชร์ข่าวมาให้ เราก็พร้อมทันทีที่จะเชื่อ แม้ว่าเมื่ออ่านแล้วจะรู้สึกว่าเรื่องดังกล่าวมันมีกลิ่นทะแม่งๆอยู่ นั่นแหละคืออาการของมนุษย์ที่ปฎิเสธความจริง เพราะไม่อยากจะพบว่าสิ่งที่เคยเชื่อนั้นมันไม่มีอยู่จริง
เพราะมนุษย์พร้อมที่เชื่อสุดตัวเพื่อรักษาหน้าและความเปราะบางทางความคิดของตนเอง
เคยหรือไม่เมื่อเราเจอข่าวแชร์ แล้วเราพยายามจะอธิบายกับผู้ส่งว่าความจริงมิใช่เช่นนั้นแม้ว่าเราจะหาหลักฐาน และข้อเท็จจริงมาแย้งก็ตาม นั่นคือลักษณะของมนุษย์ชนิดหนึ่งที่ พร้อมจะเชื่อในสิ่งที่ตนเองเลือกและปฎิเสธเหตุผลที่ถูกต้องจากผู้อื่นเพียงเพื่อจะรักษาความเชื่อนั้นและรักษาหน้าตนเอง และ ยิ่งต้อต้านการแก้ข่าวมากขึ้น อย่างเช่นเรื่องของดาราที่มีข่าวว่าเตียงหัก พอมีการแชร์ข่าวว่ามือที่สามเป็นหญิงสาวอีกคน ทุกคนก็พร้อมจะเชื่อพยายามหาทุกหลักฐานมามัดตัว หญิงสาวคนดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดแล้วเมื่อความจริงปรากฎว่าไม่ใช่แต่ก็มีหลายคนที่เชื่อไปแล้ว พยายามจะปฎิเสธความจริง และ พยายามโจมตีหญิงสาวคนดังกล่าวในแง่มุมอื่น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มีมากในสังคมไทย และทำให้อีกหลายปัญหาในสังคมไม่สามารถหาข้อยุติได้
เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม
ข้อสุดท้ายในการตั้งของสังเกตของอาจารย์ ไมเคิล คือเหตุผลเบสิกสุดแล้ว กับการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เมื่อมีใครบางคนในกลุ่มเริ่มมีความเชื่อในเรื่องอะไรก็ตาม พวกเขาก็คล้อยตามได้โดยง่าย เพราะความเชื่อที่มีต่อคนในกลุ่มของตนเอง และนั่นก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายดายในปัจจุบันเมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิตัล และทุกคนต่างก็ใช้แอพลิเคชั่น แล้วมีกลุ่มก้อนเป็นของตนเอง เมื่อมีใครบางคนในกลุ่ม แชร์เรื่องอะไรก็ตามไปกลางห้อง อีกหลายคนก็พร้อมจะเชื่อ และพร้อมจะแชร์ต่อ และด้วยความรวดเร็วของการสื่อสารในปัจจุบัน เลยทำให้สังคมอุดมไปด้วยข่าวแชร์ ลวงโลกเต็มไปหมด