รับมือกับอาการ FOMO เมื่อการตามข่าวอย่างใกล้ชิดมันเครียดเกินไป

เรื่องดราม่าข้ามประเทศของพระเอกตัวท็อปแดนกิมจิยังไม่ทันจะคลี่คลาย ดราม่าใหม่ในประเทศของนางร้ายหน้าสวยที่เคยป่าวประกาศกับทุกคนบนโลกใบนี้ว่าเธอรวยมาก ก็ถูกปล่อยออกมารัว ๆ ให้บรรดาชาวเน็ตได้ตามใส่ใจโดยไม่หวังผลตอบแทนแบบไม่ต้องหลับไม่ต้องนอน เพราะนอกจากดราม่าแต่ละเรื่องจะมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องหลายคน จนต้องทำแผนภูมิต้นไม้โยงใยความสัมพันธ์กันให้ดี ๆ แล้ว มันยังเป็นดราม่ามหากาพย์ที่ดูจะหาบทสรุปไม่ได้ง่าย ๆ ในเร็ววันนี้ ยังคงมีประเด็นอื่น ๆ ให้ตามใส่ใจกันต่อแบบเรียลไทม์ แถมยังมีเรื่องน่าสนใจจากชาวเน็ตคนอื่น ๆ ที่พากันขุดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้นมาแบบถอนรากถอนโคน มันก็ทำให้อยากจะตามต่อกันไปยาว ๆ จริง ๆ

การตามใส่ใจข่าวดราม่าแบบเรียลไทม์ว่าเกิดอะไรขึ้น มีอะไรอัปเดตใหม่ในทุก ๆ 10-20 นาที คอยรีเฟรช รีฟีดหน้าไทม์ไลน์ให้เป็นปัจจุบันอยู่บ่อย ๆ เป็นลักษณะของอาการที่เรียกว่า FOMO แรก ๆ มันอาจจะรู้สึกสนุก ท้าทาย น่าตื่นเต้น ได้รู้ข่าวอัปเดตใหม่ก่อนคนอื่น ๆ ได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ มาเรียบเรียงวิเคราะห์ก่อนคนอื่น รวมถึงยังได้เป็นคนแรกในกลุ่มเพื่อนที่คอยอัปเดตสถานการณ์ให้เพื่อนฝูงได้รู้ข่าวที่อัปเดตใหม่แล้วด้วย ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นคนสำคัญ แต่พอนาน ๆ ไป เราจะเริ่มรู้สึกว่ามันเครียดเกินไป ตัดขาดคนรอบข้าง รู้สึกว่าวัน ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย เสียเวลาไปกับการนั่งตามข่าวทั้งวี่ทั้งวัน การงานไม่คืบหน้า มีแต่ข่าวและดราม่าเรื่องของคนอื่นวนเวียนอยู่ทั้งในหัวและในใจ

อาการ FOMO น่ากลัวกว่าที่คิด

FOMO ย่อมาจาก Fear Of Missing Out ซึ่งหมายถึง ความรู้สึกกลัวว่าตนเองจะพลาดหรือตกกระแสอะไรไป ซึ่งมักจะมี “โซเชียลมีเดีย” มาเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้น จากการที่เห็นโพสต์ของคนอื่น แต่เราไม่ได้มีส่วนร่วมด้วย มันเป็นความกระหายใคร่รู้ว่าโลกนี้เกิดอะไรขึ้นอยู่ตลอดเวลา เรียกง่าย ๆ ก็คือ “กลัวตกกระแส กลัวตามข่าวไม่ทัน กลัวรู้ช้ากว่าคนอื่น” ซึ่งในยุคปัจจุบันที่ข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลกที่เกิดขึ้นแบบ 1 วัน 1000 เหตุการณ์ สามารถอัปเดตสถานการ์ปัจจุบันให้คนทั้งโลกได้รู้ง่าย ๆ เพียงแค่กดโพสต์เท่านั้น ก็ยิ่งมีคนกลุ่ม FOMO คาดหวังว่าตนเองจะได้เป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ได้เห็นโพสต์นั้น เพื่อสนองความอยากรู้ของตัวเอง และเพื่อนำไปเล่าต่อให้คนอื่นฟัง

จากผลสำรวจของ mylife.com พบว่ากว่าครึ่ง (56 เปอร์เซ็นต์) ของคนที่เล่นโซเชียลมีเดีย ล้วนมีประสบการณ์ FOMO ด้วยกันทั้งนั้น (โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ใน Generation Y หรือ Millennials) โดยพวกเขายอมรับว่ากลัวจะตกข่าวหรือพลาดเรื่องสำคัญ ๆ ไป ถ้าไม่ติดตามสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังมีอาการของ “การเลิกอ่านไม่ได้” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ถึงขั้นหมกมุ่นและอินอยู่กับข่าวนั้นแบบที่หลุดเข้าไปในหลุมดำของเนื้อหาข่าว รู้สึกดีที่ได้อัปเดตข่าวก่อนคนอื่น ยิ่งถ้าไปเปิดประเด็นกับเพื่อนคนอื่นที่มีความสนใจไปในทิศทางเดียวกัน แล้วเห็นว่าเพื่อนยังไม่รู้ ก็ยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญที่ได้นำข่าวนั้นไปอัปเดตเพื่อน มีความสุขที่ได้เป็นคนเล่าข่าวที่เสพมา

อาการ FOMO ในระยะหลัง ๆ ที่เริ่มก่อให้เกิดเป็นความเครียด มีความวิตกกังวล กลัวว่าจะพลาดโอกาสหรือเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทำให้ยิ่งต้องจดจ่ออยู่กับหน้าจอมากขึ้น เกิดความรู้สึกเหมือนต้องแข่งขันกับคนอื่นตลอดเวลา โดยเฉพาะกับคนที่รู้ข่าวใหม่เร็วกว่า จนทำให้ตัวเองพลาดโอกาสที่จะได้เป็นคนแรกที่อัปเดตข่าวใหม่ ๆ ให้เพื่อนฟัง นานวันเข้าจะรู้สึกเหนื่อยล้าทั้งทางกายและทางจิตใจ เพราะต้องไถฟีดติดตามข่าวสารหรือกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ตกข่าว อาจทำให้รู้สึกเหนื่อย หมดพลัง พักผ่อนไม่พอ และยังเชื่อมโยงกับความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง รู้สึกว่าเรายังไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ดีพอ นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการถลำลึกลงไปในมหาสมุทรแห่งข้อมูลข่าวสาร

เรื่องชาวบ้านยังคงอยากรู้ แต่ต้องประเมินตนเอง และรับมืออย่างรู้เท่าทัน

การปล่อยให้ตัวเองดำดิ่งลงไปในการตามเสพข่าวดราม่าต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดจนตัวเองเครียด อยากรู้ว่ามีอะไรอัปเดตใหม่จนหยุดอ่านไม่ได้ วางมือถือไม่ลง ไม่ยอมออกห่างจากการจ้องหน้าจอ บ่งบอกว่าเรากำลังตามเสพข่าวเรื่องของคนอื่นอย่างไม่รู้จักประเมินตนเอง และไม่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของตัวเราเองในที่สุด เราจึงควรรู้วิธีที่จะเสพข่าวอย่างมีขอบเขต และรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างรู้เท่าทัน โดยสามารถปรับพฤติกรรมและมุมมองได้ ดังนี้

1. กำหนดขอบเขตในการเสพข่าว อาการอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ห้ามกันไม่ได้ แต่สามารถที่จะกำหนดขอบเขตและระยะเวลาได้ เพื่อไม่ให้ตัวเองใช้เวลาอยู่กับการตามข่าวมากจนเกินไป อาจเริ่มด้วยการตั้งเวลาเฉพาะสำหรับการติดตามข่าว เช่น วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ครั้งละไม่เกิน 1 ชั่วโมง เมื่อหมดเวลาต้องเปลี่ยนอิริยาบถ และพักจากการติดตามข่าวไปทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับหน้าจอ และควรหลีกเลี่ยงการเสพข่าวก่อนนอนเพื่อลดความกังวล ลดอาการอยากตามข่าวต่อ และช่วยให้หลับสบายขึ้น

2. เลือกรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น พยายามจำกัดจำนวนแหล่งข่าวที่ติดตาม เลือกตามเฉพาะแหล่งข่าวที่ให้ข้อมูลครบถ้วน เชื่อถือได้ และไม่สร้างความตื่นตระหนก เพื่อที่เราจะได้รับรู้ข้อมูลครอบคลุมทุกประเด็นโดยไม่ต้องไปไถฟีดรวบรวมเอง ไม่ต้องไปแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรของข้อมูลที่มีทั้งข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น ข่าวปลอม เต็มไปหมด จะช่วยลดระยะเวลาในการตามเสพข่าวลงได้

3. บังคับตัวเองให้พักจากหน้าจอ พยายามตั้งกฎให้ตัวเอง และรักษาวินัยในการใช้เวลาห่างจากโซเชียลมีเดียและหน้าจอชนิดที่ไม่หยิบขึ้นมาเปิดอ่านเลยในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น ออกไปเดินเล่น อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

4. ฝึกสติและจัดการความคิด ก่อนอื่นต้องพยายามปรับความคิดว่า “มันไม่ใช่เรื่องของเรา” เพื่อให้ตระหนักรู้ว่าควรติดตามอย่างพอดี ติดตามแค่พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่จำเป็นต้องไปตามอัปเดตทุกนาที ไม่จำเป็นต้องรู้ลึกในทุกเรื่อง จากนั้นให้ลองฝึกสมาธิหรือโยคะเพื่อช่วยลดความวิตกกังวล หรือใช้เทคนิค CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ในการระบุและปรับความคิดลบเกี่ยวกับการ “พลาดข้อมูลสำคัญ” ว่าเรื่องของคนอื่นนั้น มันสำคัญจนถึงขนาดที่พลาดไม่ได้ขนาดนั้นเชียวหรือ

5. เน้นการใช้ชีวิตในปัจจุบัน ให้เวลากับตัวเองมาก ๆ ตระหนักรู้อยู่เสมอว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่ทำในปัจจุบัน เช่น ทำอาหาร ออกกำลังกาย หรือใช้เวลากับคนใกล้ชิด

6. เชื่อมั่นในตัวเองว่าเราไม่ได้พลาดอะไรสำคัญ ให้ลองคิดดูว่าถ้ามันเป็นข่าวใหญ่ ข่าวสำคัญจริง ๆ ข่าวสารสำคัญนั้นจะกลับมาให้เราได้รับรู้เสมอ แม้ไม่ได้พยายามค้นหา หรือไม่ได้ติดตามในทันที เพราะฉะนั้น เราจะไม่พลาดข่าวอะไรไป แค่อาจจะรู้ช้ากว่าคนอื่น หรือลองตั้งค่าการแจ้งเตือนเฉพาะหัวข้อที่เราสนใจมากที่สุดดู

7. หาแหล่งพลังบวก อย่าปล่อยให้ตัวเองเอาเวลาไปทิ้งไว้กับข่าวใดข่าวหนึ่งจนไม่เป็นอันทำอะไร หรือกลายเป็นพลังลบทำลายสุขภาพจิต ให้แบ่งเวลาให้ชัดเจนเพื่อติดตามเนื้อหาที่สร้างแรงบันดาลใจหรือให้กำลังใจ เช่น บทความพัฒนาตนเอง วิดีโอตลก คลิปน่ารัก ๆ ของสัตว์เลี้ยง หรือคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับงานอดิเรก เพื่อแยกตัวเองออกมาจากวังวนของข่าวสาร

8. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หากความเครียดส่งผลต่อการใช้ชีวิต หรือรู้สึกว่ามันยากเกินไปที่จะหักดิบตัวเอง ควรขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต