9 เทรนด์การดูแลสุขภาพที่คุณไม่ควรพลาด

ในยุคที่เทคโนโลยีล้ำสมัยและวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การดูแลสุขภาพได้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่หลายคนหันมาให้ความสนใจมากขึ้น เทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการดูแลร่างกายให้แข็งแรง แต่ยังครอบคลุมถึงการดูแลจิตใจ การป้องกันโรคในระยะยาว และการปรับตัวใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ เช่น การบำบัดด้วยทางเลือก การวางแผนสุขภาพเฉพาะบุคคล และการใช้ Digital Health เพื่อติดตามและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งหลาย ๆ คนก็อาจกำลังมองหาวิธีดูแลสุขภาพที่น่าสนใจและเหมาะกับยุคปัจจุบัน นี่คือ 9 เทรนด์การดูแลสุขภาพแบบใหม่ที่คุณสามารถนำมาปรับใช้ในการเริ่มต้นชีวิตที่สมดุลและมีความสุขอย่างยั่งยืน

1. ใช้ประโยชน์จาก Digital Health กันมากขึ้น

Digital Health คือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราจะเห็นว่าหลายคนก็ปรับตัวหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์จาก AI chatbot เพื่อหาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ หรือตอบคำถามสุขภาพบางอย่าง การดาวน์โหลดแอปฯ สุขภาพมาใช้งาน เช่น แอปฯ ออกแบบ-ติดตามการออกกำลังกาย นับก้าว คำนวณแคลอรี คำนวณปริมาณการเผาผลาญ วัดมวลร่างกาย วางแผนมื้ออาหาร หรือวัดคุณภาพการนอน และอุปกรณ์สวมใส่อย่าง smart watch ที่ติดตามชีพจร อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต หรือระดับออกซิเจนในเลือด

2. การออกกำลังกายแบบ HIIT

เทรนด์การออกกำลังกายที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงนี้ คือ การออกกำลังกายแบบ HIIT (High-Intensity Interval Training) ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่สลับกันระหว่างการทำกิจกรรมหนักมากในช่วงเวลาสั้น ๆ กับการพักแบบเบา ๆ เป็นช่วง ๆ โดยข้อดีของการออกกำลังกายแบบ HIIT นั้น จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญไขมัน กระตุ้น Afterburn Effect ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานต่อเนื่องหลังออกกำลังกาย ช่วยปรับปรุงสมรรถภาพหัวใจและหลอดเลือด ที่สำคัญคือ ใช้เวลาน้อย เหมาะกับคนวัยทำงานที่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย เพียง 15-30 นาที แต่ได้ผลเทียบเท่ากับการออกกำลังกายแบบปกติที่นานกว่า และแม้จะใช้เวลาน้อย แต่มีความยากและหนักพอสมควร รวมถึงไม่ต้องใช้อุปกรณ์มาก สามารถทำได้ทุกที่ เช่น การวิ่ง กระโดดตบ หรือท่าบอดี้เวท

3. เป้าหมายหลักไม่ใช่แค่สุขภาพกาย แต่สุขภาพจิตต้องสมดุล

เรื่องของสุขภาพจิตยังคงเป็นเรื่องที่ผู้คนหันมาให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าการดูแลสุขภสพจิตให้แข็งแรงนั้นสำคัญไม่แพ้สุขภาพกาย เพราะทั้งสองด้านส่งผลต่อกัน อีกทั้งจิตใจที่แจ่มใสก็ถือเป็นพื้นฐานของความสุขทั้งปวง หากจิตป่วย ร่างกายก็ยากที่จะแข็งแรงสมบูรณ์ ในขณะเดียวกัน ความกดดันของสังคมยุคปัจจุบันกลับเป็นต้นเหตุให้เกิดความเครียดและเจ็บป่วยทางจิตใจได้ง่าย เราจึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกาย โดยเน้นไปที่การฝึกสติ ทำสมาธิ การเล่นโยคะ ฝึกหายใจ ดนตรีบำบัด ควบคุมและลดความเครียด และดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข ด้วยการเลือกทำกิจกรรมที่ฮีลใจ

4. เพิ่มการบำบัดด้วยวิธีทางเลือก

ต่อเนื่องมาจากข้อที่แล้ว ที่คนหันมาให้ความสำคัญและดูแลสุขภาพจิตกันมากขึ้น โดยทำควบคู่ไปกับการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรง ทำให้หลายคนก็เริ่มให้ความสนใจกับการบำบัดทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ลดการพึ่งพาการรักษาแบบแผนปัจจุบัน เช่น บางคนใช้เสียงบำบัด นำดนตรีมาใช้เยียวยาจิตใจในด้านอารมณ์ ประกอบการฝึกทำสมาธิให้จิตใจสงบ ฝึกควบคุมการหายใจให้ความดันโลหิตคงที่ การบำบัดด้วยกลิ่น อย่างการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อผ่อนคลายอารมณ์หรือประโยชน์เพื่อสุขภาพ การนวดเพื่อผ่อนคลาย การแพทย์แผนจีน อย่างการฝังเข็มหรือใช้สมุนไพรจีน การใช้สมุนไพรธรรมชาติเป็นยา เป็นต้น อย่างไรก็ดี ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ

5. สุขภาพดีด้วยอาหาร ใช้อาหารเป็นยา

การเลือกรับประทานอาหารที่ดี อาหารจากธรรมชาติ อาหารที่ปลอดภัยไร้สารเคมี จะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ป้องกันโรค และบรรเทาโรคได้ โดยการเลือกบริโภคอาหารที่เหมาะสม จะสามารถทำหน้าที่เสมือนยา ซึ่งในปัจจุบัน ได้มีผลวิจัยการแพทย์ออกมาแล้ว ว่าอาหารหลาย ๆ ชนิดมีส่วนช่วยป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ เช่น การเลือกรับประทานโปรตีนจากธรรมชาติ ทั้งโปรตีนจากสัตว์และจากพืชให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน จะช่วยซ่อมแซมร่างกายได้มากกว่าการกินโปรตีนสังเคราะห์ การรับประทานพืชผัก-ผลไม้บางชนิดเป็นประจำ ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคต่าง ๆ และเสริมสร้างสุขภาพได้ดีกว่าการใช้วิตามินหรือแร่ธาตุแบบเม็ด เป็นต้น

6. นอนหลับอย่างมีคุณภาพ

ปัจจุบัน เรื่องของการนอนหลับที่ถูกต้องไม่ได้มีขอบเขตแค่การนอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมง เพราะจำนวนเวลาที่นอนไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของการนอน นอนเยอะ แต่ถ้าไม่สามารถเข้าสู่ช่วงหลับลึกได้เลย การนอนนั้นก็แทบไม่มีประโยชน์ ซึ่งการนอนหลับที่ถูกต้อง ควรนอนหลับให้เพียงพอและมีคุณภาพด้วย ต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่การสร้างวงจรการนอนให้คงที่ เพื่อให้ร่างกายรู้สึกง่วงในเวลาที่เหมาะสม ต้องพยายามปรับสภาพแวดล้อมบางอย่างในห้องนอน เมื่อเราสามารถนอนหลับได้อยางถูกต้องแล้ว จะส่งผลให้ร่างกายได้ฟื้นฟูเต็มที่ ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดอาการอ่อนเพลียระหว่างวันไปได้มากเลยทีเดียว

7. การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน

การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน คือการดำเนินการและทำกิจกรรมที่มุ่งเน้นไปที่การลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือความผิดปกติในอนาคต มุ่งสร้างสุขภาพที่ดีและลดความจำเป็นในการรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นแนวทางที่ให้ความสำคัญกับการ ป้องกันก่อนเกิดปัญหา มากกว่าการรักษาหลังเกิดปัญหา หรือก็คือการป้องกันดีกว่าการรักษา เพื่อให้ตัวเองมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนและสุขภาพดีกว่าวัย ซึ่งจะเป็นการดูแลสุขภาาพโดยการลดปัจจัยเสี่ยง ป้องกันการเกิดโรค สร้างพฤติกรรมสุขภาพี่ดี หมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ตรวจคัดกรองโรคต่าง ๆ เมื่อถึงวัยเสี่ยง และลดผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนจากโรค ควบคุมปัจจัยของโรค และฟื้นฟูสมรรถภาพ

8. ให้ความสำคัญกับสุขภาพลำไส้

เทรนด์ “สุขภาพดี เริ่มต้นที่ลำไส้” เนื่องจากลำไส้ถือว่าเป็น “สมองที่สอง” ของร่างกาย การทำงานต่าง ๆ ในระบบย่อยอาหารมีผลต่อภูมิคุ้มกัน อารมณ์ และสุขภาพโดยรวม หากลำไส้ทำงานผิดปกติ ย่อยอาหารผิดปกติ ขับถ่ายผิดปกติ ก็จะส่งผลให้ระบบอื่น ๆ ในร่างกายแปรปรวนตามไปด้วย ภูมิคุ้มกันต่ำลง มีผลต่อฮอร์โมนต่าง ๆ ดังนั้น การรักษาสมดุลของลำไส้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งสิ่งที่จะช่วยรักษาสมดุลในลำไส้ได้ คือ ไมโครไบโอม (Microbiome) หรือก็คือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในลำไส้ มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการย่อยอาหารไปจนถึงผลกระทบต่อสุขภาพจิต ดังที่เราจะเห็นว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพจำพวกโพรไบโอติกส์ (Probiotic) และพรีไบโอติกส์ (Prebiotic) ได้รับความนิยมมากขึ้น

9. การวางแผนดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล

เนื่องจากแต่ละคนมีความต้องการและปัจจัยสุขภาพที่แตกต่างกัน การดูแลสุขภาพแบบเฉพาะบุคคล จึงเป็นแนวทางในการออกแบบและกำหนดแผนการดูแลสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะตัวของแต่ละคน โดยพิจารณาจาก ปัจจัยส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็น พันธุกรรม สิ่งแวดล้อม พฤติกรรมสุขภาพ และประวัติสุขภาพ เพื่อให้การดูแลสุขภสพได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นเฉพาะตัวบุคคล ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าการวางแผนดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลอย่างการตรวจพันธุกรรม เป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับโภชนาการตามร่างกายของแต่ละคน ออกแบบการออกกำลังกายเฉพาะบุคคล ซึ่งเป็นแนวทางสมัยใหม่ที่ช่วยให้คุณดูแลสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด