เจาะเทรนด์โลกปี 2025 กับการเปลี่ยนแปลงที่น่าจับตา

เรากำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2025 ในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว ซึ่งในปีที่ผ่านมาเราก็จะเห็นว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ในหลายภาคส่วน และการเปลี่ยนแปลงนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนกลายเป็นวิถีชีวิตปกติของมนุษย์ในอนาคตข้างหน้า ทำให้การเข้าใจ “เทรนด์โลก” ในปีต่อไป หรือแนวโน้มที่จะเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ ขึ้นบนโลก จะช่วยให้เราเตรียมตัวรับมือ ปรับตัว และเติบโตในโลกที่ซับซ้อนและท้าทายได้ดียิ่งขึ้น

เจาะเทรนด์โลก 2025 (TREND 2025) ที่จัดทำโดย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะด้านภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) องค์การมหาชน ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี ได้มีการสำรวจเทรนด์โลก 2025 และวิเคราะห์แนวโน้มของโลกในปี 2025 ออกเป็น 4 กลุ่มคือ ประชากร (Population) สังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture) เทคโนโลยี (Technology) และสิ่งแวดล้อม (Environment) โดยมีแนวคิดหลักประจำปี 2025 คือ BEYOND IMAGINATION ลองมาดูกันว่าเทรนด์โลกที่จะเกิดขึ้นในปี 2025 ที่เกี่ยวกับ 4 กลุ่มนี้ จะมีอะไรน่าสนใจที่ต้องจับตาดูบ้าง

ประชากร (Population)

เรื่องราวของอนาคตของการทำงาน ตลอดจนถึงเรื่องสุขภาพจิตและการเป็นอยู่ เพราะสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่การเปลี่ยนแปลงของประชากรทั้งในเชิงโครงสร้างและคุณลักษณะสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเกิดที่ลดลง การยืดอายุขัยและการชะลอวัย อีกทั้งยังมีเรื่องความหลากหลายทางประชากร ที่จะส่งผลให้เกิดการปรับตัวในหลายมิติทั้งในระดับบุคคลและสังคม ซึ่งในรายงาน TREND 2025: BEYOND IMAGINATION ได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับประชากรโลกในปี 2025 คร่าว ๆ ดังนี้

  • คนให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพ มีแนวโน้มที่จะ “สูงวัยอย่างมีสุขภาวะที่ดี” สืบเนื่องจากผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น และมีสุขภาพที่ดีขึ้น เกิดเป็นแนวคิด Well-topia ที่ออกแบบมาเพื่อการเข้าถึงสุขภาพที่ดีที่สุด จนกลายเป็นรูปแบบของกระแสการดูแลสุขภาพและการออกแบบเมืองแห่งอนาคต รวมถึงมี Hard Care ซึ่งเป็นระบบการดูแลผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ถูกลืม หรือผู้ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงด้านสุขภาพ Hard Care จึงเป็นการให้พื้นที่แก่คนทุกกลุ่ม
  • วิกฤติการณ์หลายด้านนำไปสู่ปัญหาการเข้าสังคมและสุขภาพจิต โดยเฉพาะในกลุ่มคนเจนซีและอัลฟา ซึ่งเป็นเจนที่เติบโตขึ้นมาในขณะที่สังคมค่อย ๆ ถดถอยลง ทำให้คนรุ่นใหม่มีอาการบาดเจ็บทางศีลธรรม ซึ่งเป็นผลกรทบทางจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ จากการที่ต้องมีส่วนร่วมหรือพบเห็นความเป็นไปของสังคมที่ขัดต่อค่านิยมและความเชื่อของตนเอง และเกิดเป็นวิกฤติความเชื่อมั่นในตนเอง การประสบปัญหาทางสังคมหรือการเงินจนไม่กล้าที่จะมีประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นอิสระ พวกเขาจึงต้องการพื้นที่ปลอดภัยที่เป็นแสงสว่างเล็ก ๆ ที่สามารถเป็นตัวเองได้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
  • คนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 16-24 ปีจำนวนมากทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะว่างงาน ส่งผลต่ออิสรภาพทางการเงินและการใช้ชีวิตประจำวันในด้านต่าง ๆ เกิดภาวะกลัวการใช้จ่าย ส่วนคนทำงาน Crip Time เป็นหนึ่งในแนวทางที่ต่อต้านการทำงานที่เน้นประสิทธิภาพการทำงานที่มากเกินพอดี โดยให้กลุ่มคนทำงานเป็นศูนย์กลางมากกว่าเดิม เพราะความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่อาจไม่ได้เท่ากับความสุขและเป้าหมายที่แท้จริงเสมอไป หรือมีแนวคิดการเกษียณอายุแบบไมโครโดส ที่สนับสนุนให้หยุดพักชั่วคราวระหว่างชีวิตการทำงาน ที่สามารถจินตนาการถึงสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จในวัยเกษียณในช่วงที่อายุยังไม่มาก และเมื่อพักแล้วก็หันมาพัฒนาตนเองแบบดีไอวาย ที่ไม่ว่าจะวัยไหน อายุเท่าไร ก็สามารถเข้าถึงการเรียนรู้เพื่อความเพลิดเพลินหรือความใคร่รู้ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  • ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนต้องเผชิญกับอารมณ์และความรู้สึกที่ซับซ้อน ช่วงเวลาเต็มไปด้วยความท้าทาย ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจงานอดิเรกแบบแอนะล็อกมากขึ้น เนื่องจากตระหนักถึงผลกระทบเชิงลบของโซเชียลมีเดีย รวมถึงหวนนึกถึงวัยเด็กที่งดงามและเรียบง่าย หลายคนทีเดียวที่ตัดขาดโลกออนไลน์แล้วมาสนุกกับโลกออฟไลน์แทน ส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจกลางคืนที่มีการจัดกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น ให้สอดคล้องกับคอมมิวนิตี้ที่เน้นงานอดิเรก อีกทั้งยังมีตัวแปรเรื่องสภาพอากาศ กิจกรรมยามค่ำคืนจึงตอบโจทย์ผู้บริโภคมากกว่า
  • โลกยุคใหม่ เป็นยุคที่มีพัฒนาการด้านการระบุตัวตนที่หลากหลายมากขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคจึงหลากหลายไม่ตายตัว มีการส่งเสริมความหลากหลาย LGBTQIAN+ ที่ไม่ใช่แค่ให้ผู้มีความหลาหลายทางเพศมีความภูมิใจในเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเองเท่านั้น แต่ยังถือเป็นการขับเคลื่อนทางสังคมที่สำคัญด้วย นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่ก็ยังมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย ทั้งการสร้างชีวิตคู่และความสัมพันธ์อันดีในคอมมิวนิตี้ของตนเอง

สังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture)

ด้วยสภาพทางสังคมส่งผลตั้งแต่การออกแบบเมืองไปจนถึงจักรวาลการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแบรนด์ ซึ่งปัจจุบัน สังคมกำลังเผชิญกับยุคแห่งความซับซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ได้รับอิทธิพลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและวิกฤติการณ์ต่าง ๆ จนทำให้ประชากรโลกต้องพบกับความเหนื่อยล้าจากวิกฤติหลายขั้ว

  • การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจแบบโลกภิวัตน์ ที่ถ่ายโอนความมั่งคั่งและอำนาจทางเศรษฐกิจในอดีตจากตะวันตกไปตะวันออก อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของผู้กระทำที่ไม่ใช่รัฐ ส่วนระบบระหว่างประเทศจะกลายเป็นพหุขั้วระดับโลกที่ช่องว่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาแคบลง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมยังเป็นเรื่องไม่แน่นอน กลายเป็นแรงกระตุ้นให้ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่วางแผนย้ายประเทศ ไปสู่จุดหมายปลายทางที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตน่าดึงดูดใจ ในขณะเดียวกันค่าครองชีพก็ไม่โหดร้ายเกินไป อีกทั้ง คนรุ่นใหม่ก็กำลังท้าทายแนวคิดเดิมของการทำงานและการบริโภค ลาออกได้ถ้าค่านิยมของบริษัทไม่สอดคล้องกับค่านิยมของตนเอง แม้จะอยู่ในภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย
  • แนวคิดเมืองแห่งปี 2025 ควรได้รับการวางแผนและออกแบบเพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจสำหรับทุกคน โดยตัวแปรสำคัญคือ การเปิดกว้างยอมรับแนวคิดเฟมินิสต์ในมิติการออกแบบเมือง เพื่อจัดการกับความกังวลด้านปลอดภัยสำหรับประชากรเพศหญิง ซึ่งเป็นการปรับปรุงคุณภาพชีวิตเพื่อทุกคน โดยเนื้อหาที่เกี่ยวกับการวางผังเมือง มักติดแฮชแท็ก #PlanningTok
  • วิกฤติการณ์หลายรูปแบบได้เปลี่ยนมุมมองด้านสิ่งบ่งชี้สถานะทางสังคมของคนรุ่นใหม่ โดยมุ่งไปที่ทุนทางวัฒนธรรม ความรู้ และการศึกษา มากกว่าไลฟ์สไตล์ ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองให้เป็นศูนย์กลางบ่มเพาะที่สร้างทุนทางวัฒนธรรม นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอย่างมีคุณค่า โดยมีโอกาสที่จะใช้พลังทางวัฒนธรรมในการแสดงความตั้งใจที่แท้จริงที่มีต่อลูกค้า นอกจากนี้ กระแสทางวัฒนธรรม ก็กำลังไหลย้อนกลับจากตะวันออกไปตะวันตก และจากโลกใต้สู่โลกเหนือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ในแอฟริกาและเอเชียเป็นฐานตลาดที่เติบโตเร็วที่สุด
  • แบรนด์ต่าง ๆ กำลังสร้างระบบนิเวศที่เติบโตอย่างเป็นธรรมชาติ สร้างโลกของแบรนด์ที่ครอบคลุมและมีความสำคัญมากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่แบรนด์ได้มีเรื่องราวชีวิตเป็นของตัวเอง ด้วยการเป็นปีแห่งจินตนาการเชิงกลยุทธ์ แบรนด์จะสร้างจักรวาลและภาษาของตัวเองขึ้นมาเพื่อขยายอัตลักษณ์และดึงดูดแฟนพันธุ์แท้ ให้ความสำคัญกับมนุษยนิยม เข้าใจความเป็นมนุษย์ที่ศูนย์กลางอยู่ที่การมีเกียรติ ความเห็นอกเห็นใจ และความเท่าเทียม มุ่งมั่นจะเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายในระดับที่ลึกซึ้งขึ้น และมีแนวคิด Impactainment บันเทิงได้ สร้างผลเชิงบวกด้วย ด้วยการผสมผสานความบันเทิงเข้ากับการกระทำเชิงบวก เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามต่าง ๆ
  • มีแนวคิดเรื่องการส่งออกวัฒนธรรมท้องถิ่นและระดับโลก ที่จะพัฒนาขึ้นเมื่อทุกคนเข้าถึงคอนเทนต์ได้ผ่านอุปกรณ์ส่วนตัว โดยภายในปี 2025 ซอฟต์พาวเวอร์และกรอบทางการเมืองของโลกตะวันตกจะไม่เป็นผู้นำโลกอีกต่อไป ซึ่งการบริโภควัฒนธรรมในปัจจุบันแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามกิจกรรม ความสนใจ และความคิดเห็น หรือสามารถแบ่งตามค่านิยมและไลฟ์สไตล์ ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้สอดคล้องกับความนิยมของบอลลีวูด ศิลปิน T-Pop โนลลีวูด อุตสาหกรรมหนังไนจีเรียแอโฟรบีต หรือแอโฟรฟิวชัน และกระแสเกาหลีหรือแอนิเมะ ให้จับตาดู “อินเดีย” ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมระดับโลกอย่างรวดเร็ว อินเดียจึงเป็นตลาดที่แบรนด์ ผู้ผลิต และผู้บริโภคไม่สามารถมองข้ามได้

เทคโนโลยี (Technology)

ที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องของเทคโนโลยีก็คงจะหนีไม่พ้นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และการตั้งรับการกลับมาของโลกเสมือนจริง ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ ไม่เพียงแต่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐาน ทว่ายังเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงลึกในทุกมิติของชีวิตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรากำลังเผชิญในยุคปัญญาประดิษฐ์ คือจุดเปลี่ยนด้านการจ้างงานและการจัดการกับอัลกอริทึม นั่นหมายความว่าเทคโนโลยีถูกมองว่าเป็นตัวร้ายที่เข้ามาทำลายค่านิยมและจริยธรรมพื้นฐานของมนุษย์ ถึงอย่างนั้น เทคโนโลยีในยุคนี้ก็อยู่ในขั้นอัจฉริยะมากจนมีผลต่อทุกชีวิต

  • การมาของหุ่นยนต์ AI ทำให้เกิด Robotics-as-a-Service ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ดำเนินโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติทุกรูปแบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอุตสาหกรรม 4.0 สิ่งที่น่าจับตามองคือ GPT for Robotics ว่ากันว่าโปรแกรม Generative AI ทุกรูปแบบจะถูกนำเข้าสู่สมองหุ่นยนต์ เพื่อฝึกฝนหุ่นยนต์ให้ฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ และในปี 2025 นี้จะมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีฮิวแมนนอยด์ หรือหุ่นยนต์ที่มีโครงสร้างรูปร่างเหมือนมนุษย์ ของ Tech Company ยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ โดยจะนำไปใช้เป็นหนึ่งหน่วยการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งแน่นอนว่าพนักงานมนุษย์ก็ไม่ได้รู้สึกดีเท่าไร ทั้งกลัวเสียการควบคุมจาก AI และไม่ไว้ใจการทำงานของหุ่นยนต์ AI ที่ไร้การกำกับดูแลโดยมนุษย์
  • เทคโนโลยีจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งการชอปออนไลน์ ที่นักชอปจีน อินเดีย บราซิล จะใช้ฟีเจอร์กรองหมวดหมู่การค้นหาสินค้าจากโซเชียลมีเดีย ส่วนนักชอปอเมริกันและชาวยุโรป ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อค้นหาส่วนลดหรือสินค้าราคาโปรโมชัน นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่ถูกปรับมาโดยเฉพาะ และยินดีจะซื้อซ้ำด้วย แพลตฟอร์มโซเชียลคอมเมิร์ซจึงหันมาใช้ AI เดาใจลูกค้าแบบรายคน จนกลายเป็นว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้กลายเป็นแหล่งค้นหาสินค้าหรือข้อมูลที่ต้องการมากกว่าเว็บไซต์เสิร์ชเอนจินเสียอีก! นอกจากนี้ ยังมีตัว AI Assistant ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นผู้ช่วย คอยช่วยเหลืองานที่อยู่ในขอบเขตโดเมนของฐานข้อมูลแต่ละค่าย ซึ่งก็จะมีทักษะเฉพาะที่แตกต่างกันตามโดเมนที่กำหนดไว้ และความฉลาดก็จะอยู่ที่การวิเคราะห์ แก้ไข ปรับ และประยุกต์ข้อมูล ให้ลงลึก และแปลงเป็นผลลัพธ์ที่ตรงกับโจทย์ของบุคคล
  • นับจากปี 2025 เป็นต้นไป ผู้คนจะก้าวเดินเร็วขึ้น เพราะความฉลาดของเทคโนโลยีที่สุดแสนจะอัจฉริยะ เพื่อให้ทันเทคโนโลยี มนุษย์ก็จำเป็นที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดเช่นกัน ตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาต้องการผู้ที่มีทักษะ Prompt Engineering เป็นจำนวนมาก บางตำแหน่งงานไม่จำเป็นต้องมีวุฒิการศึกษาด้วยซ้ำ! นอกจากนี้ Alibaba ได้เปิดโปรเจกต์ Alibaba Cloud Academy เพื่อส่งบุคลากรเข้าสู่วงการวิศวกรรมเอไอ ไปเรียนรู้วิธีการประมวลผลภาษา ถอดโค้ด ไปจนถึงการสร้างโค้ดเพื่อพัฒนาผลงานอย่างสร้างสรรค์ โดยการ Gen AI นั้น ใช้โค้ดน้อยหรือไร้โค้ดเสียด้วยซ้ำ ใช้ง่ายสำหรับผู้ที่เริ่มต้นรู้จัก AI ทำให้สามารถปูพื้นฐานทักษะการ Generative AI สำหรับบุคคลทั่วไป ไปจนถึงเด็กและคนพิการได้เลย
  • แม้ว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียจะมีประโยชน์ แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้งานโซเชียลมีเดียในปัจจุบันกลับเผชิญกับสภาวะ Persuasion Fatigua หรืออาการเหนื่อยใจจากการโน้มน้าวใจผู้อื่น และบางคนประสบกับอาการ Diaphobia หรือการกลัวคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดียของผู้อื่น ในขณะเดียวกันก็มีกระแสการแบ่งขั้วทางสังคม กับข้อมูลที่เผยแพร่บนหน้าฟีดของโซเชียลมีเดีย ที่ล้วนเกิดจากการประมวลผลตามอัลกอริทึม ส่งเสริมความเห็นอิงกลุ่ม บ่มเพาะแนวคิดเชิงขาวดำ เป็นที่มาของความไม่เท่าเทียมบนสังคมออนไลน์ มีคนกลุ่มน้อยถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นักพัฒนาบางคนถึงกับทนไม่ได้ สร้างแพลตฟอร์มใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความบังเอิญมากกว่าการสร้างผลลัพธ์เพื่อเป้าหมายตามอัลกอริทึม ที่สำคัญ มนุษย์ยังกระอักกระอ่วนกับเทคโนโลยีอยู่พอสมควร มนุษย์เชื่อมั่นในธุรกิจด้านเทคโนโลยี แต่ยังไม่ค่อยไว้วางใจการประมวลผลของ AI
  • จับตาดูการทำงานร่วมกันระหว่าง AR และ ML ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้เทคโนโลยีทั้งสองทำงานตรงโจทย์มากขึ้น การจดจำและจัดหมวดหมู่วัตถุตามอัลกอริทึม เมื่อใช้งานกับซอฟต์แวร์ AR ช่วยระบุวัตถุในโลกจริงและโลกดิจิทัลที่ทับซ้อนกันได้แบบเรียลไทม์ คาดการณืว่าในปี 2025 ตลาด Augmented Reality จะเติบโตเป็น 2 เท่าจากปี 2023 โดยมีการปล่อยสินค้า Vision Pro ของ Apple ในปี 2024 เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญของวงการ Spatial Technology ทั้งที่ Google เคยหยิบแนวคิด Google Glass ขึ้นมาลงทุนในปี 2013 แต่ผลตอบรับไม่ดี เพราะยุคนั้นการแบ่งปันข้อมูลส่วนตัวให้อุปกรณ์เป็นเรื่องใหญ่ แต่ปัจจุบันบริบทของผู้บริโภคต่างออกไป ผู้คนต้องการความสะดวกและเพลิดเพลินไปกับนวัตกรรมมากขึ้น

สิ่งแวดล้อม (Environment)

การจัดตั้งให้ธรรมชาติเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก และสิ่งแวดล้อมคือศูนย์กลางของวิธีมองโลก เนื่องจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใหญ่ระดับประชาคมโลก สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ โลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เลวร้าย และการลดลงของทรัพยากรธรรมชาติก็ส่งผลให้เกิดความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน สิ่งที่ต้องตระหนักให้มากในประเด็นสิ่งแวดล้อมก็คือ โลกร้อนไม่ใช่แค่อากาศที่ร้อนขึ้น แต่คืออนาคตของโลกที่ไม่มีทางให้หันหลังกลับ!

  • แม้ว่าจะเป็นยุคที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมเลวร้าย แต่ยุคนี้ก็ยังเป็นยุคเทคโนโลยีอัจฉริยะเช่นกัน ปี 2025 จึงเป็นปีแห่งเทคโนโลยีพลังงาน โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ ปรับตัวลงเพื่อหลีกทางให้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาแทนที่ ทว่าความต้องการน้ำมันดิบยังคงมีอยู่มาก จึงทำให้เกิดความผันผวนจากปริมาณน้ำมันที่มีน้อย ราคาน้ำมันทั่วโลกสูงขึ้น ส่วนพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ จีนผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้สูงมากจนครองอันดับหนึ่ง และทำให้รถพลังงานไฟฟ้าสัญชาติจีนจาก BYD รุกคืบครองส่วนแบ่งในตลาดต่างประเทศ ในขณะที่กำลังการผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาลดลงด้วยปัญหาต้นทุนแบตเตอรี่ นอกจากนี้ ประเด็นด้านเทคโนโลยีไฮโดรเจนก็เกิดประเด็นขึ้นมา ว่าเหมาะที่จะเป็นพลังงานสำหรับอนาคตหรือไม่
  • อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ประเด็นความยั่งยืน ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนไม่ใช่ตลาดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป ผู้บริโภคยินดีจ่ายเงินเพิ่มขึ้นให้กับผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากสนับสนุนความยั่งยืน และคาดหวังว่าแบรนด์ต่าง ๆ จะเป็นผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางบวกต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะแนวคิดที่จะใช้ธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง อาจทำให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปสู่ทางออกใหม่ ๆ ของปัญหาภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศได้ ดังนั้น เพียงแค่เพิ่มความเห็นอกเห็นใจต่อโลก รู้จักเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ก็จะสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการดึงดูดลูกค้า และสร้างผลกำไรได้ในระยะยาว
  • สิ่งสำคัญคือ ชาวโลกต้องรอด แม้ว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมจะเกินเยียวยา เพราะมีการคาดกันว่าในปี 2030 ประชากรมากกว่าครึ่งจะต้องอาศัยอยู่ในเขตร้อน ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของโลกเลยทีเดียว และต่างก็ต้องต่อสู้กับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศหลายรูปแบบ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ระดับน้ำมี่สูงขึ้น และความแห้งแล้ง วิกฤติเหล่านี้ทำให้เมืองต่าง ๆ ทั่วโลกต้องเตรียมตัวรับมือกับสภาพแวดลอมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยเครื่องมือที่มีชื่อว่า การออกแบบชีวภูมิภาค และประเทศต่าง ๆ ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อย่างที่ให้คำมั่นไว้ต่อสากล และเมืองต่าง ๆ ต้องเร่งสร้างพิมพ์เขียวสำหรับสถานที่ยั่งยืนและนวัตกรรมสีเขียว
  • ความวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องใหม่ และค่อย ๆ กลายมาเป็นแนวทางปฏิบัติ จนถึงเป็นแรงจูงใจสู่การลงมือทำนิเวศวิทยาแบบเควียร์ คือการผสมผสานแนวคิดความหลากหลายทางเพศเข้ากับนิเวศวิทยาทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะธรรมชาติไม่ใช่การแบ่งแยก แต่เป็นสิ่งที่ลื่นไหลและพึ่งพาซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ เทคโนโลยีกำลังปูทางไปสู่การสื่อสารข้ามสายพันธุ์ สิ่งมีชีวิตจะมีภาษาของตัวเองที่ใช้สื่อสาร ชีวสวนศาสตร์ เป็นการศึกษาที่นักวิทยาศาสตร์ติดตั้งอุปกรณ์บันทึกเสียงในธรรมชาติ และใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อตีความเสียงที่เกินความสามารถของหูมนุษย์จะเข้าถึง
  • เนื่องจากผู้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและประเด็นการบริโภคเกินความจำเป็น ผู้บริโภคจึงคาดหวังให้แบรนด์ต่าง ๆ มีจรรยาบรรณด้านความโปร่งใสมากขึ้น ควรให้ความรู้เกี่ยวกับร่างกายที่มีความความสามารถเป็นผู้ผลิตหรือเป็นทรัพยากร มากกว่าเป็นของเหลือทิ้ง และมีศักยภาพกลายเป็นวัสดุใหม่ ๆ เพราะผู้บริโภคกว่า 80% คำนึงถึงความยั่งยืนในการจับจ่ายใช้สอยในแต่ละวัน แต่ก็ยังมีกำแพงอยู่บ้างในเรื่องของความเชื่อมั่นหรือความคุ้มค่า แบรนด์จึงควรสอดแทรกความยั่งยืนให้ผู้บริโภคเข้าใจความท้าทายในประเด็นนี้มากขึ้น อย่างนักชอบรุ่นใหม่หลายคนก็ยอมตัดค่าใช้จ่ายโดยรวมของตัวเองลง และมีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจด้านการซ่อมแซม หรือการบริโภคสินค้ารีไซเคิลเพิ่มขึ้น