เทคโนโลยีพลังงานสีเขียว ลดผลกระทบปัจจุบัน สร้างอนาคตที่ยั่งยืน

ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในสมการนี้ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่ถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการเผาไหม้โดยการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงาน เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ คือตัวการหลักของปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) โดยเป็นก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ที่มีปริมาณมากที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในโลกล้วนแล้วแต่ยังต้องพึ่งพาการใช้ประโยชน์จากเชื้อเพลิงฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมันดิบ หรือก๊าซธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันทั่วไปในชีวิตประจำวัน

แต่เมื่อมีประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่งผลให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ต่างก็พยายามที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมโลกที่กำลังตื่นตัวและตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ด้วยการตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) การลดการใช้ทรัพยากร และการใช้พลังงานทดแทน ด้วยเชื้อเพลิงที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

บริษัท อิเดมิตสึ โคซัน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มุ่งมั่นที่จะจัดหาวัสดุและพลังงานยั่งยืนที่มีเสถียรภาพ โดยถือเป็นภารกิจสำคัญที่ทำเพื่อโลก ในการปกป้องคุณภาพชีวิตของผู้คนและสิ่งแวดล้อมในโลกอนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยการคิดค้นเทคโนโลยีสีเขียวที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ครอบคลุมทั้งระบบอย่างครบวงจร เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืน ในบทความนี้จะแสดงให้เห็นว่า IDEMITSU KOSAN จะทำสิ่งใดบ้าง

เป้าหมายในการบรรลุสังคมเป็นกลางทางคาร์บอนและพลังงานหมุนเวียนของ IDEMITSU ภายในปี 2050

  1. การประหยัดทรัพยากรและการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน (Resources saving/ Resources circulation)

    ถือเป็นแนวทางสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อมในระยะยาวอย่างยั่งยืน ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เกินความจำเป็น โดยเฉพาะทรัพยากรประเภทที่ใช้แล้วหมดไป รวมถึงนำเอาทรัพยากรที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้กลับมาใช้ซ้ำ มุ่งให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญ ต้องเป็นกลางทางคาร์บอนและมีประสิทธิภาพสูง โดยแผนริเริ่มที่ IDEMITSU คิดไว้เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีดังนี้

วัสดุแบตเตอรี่รุ่นถัดไป (Next Generation Battery Materials)

ยานยนต์ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมสำหรับผู้ใช้รถทั่วโลก เพราะนอกจากจะตอบโจทย์เรื่องประหยัดค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับพลังงานเชื้อเพลิงแล้ว ยังเป็นยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะรถพลังงานไฟฟ้าไม่ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ จึงสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง อย่างไรก็ตาม แบตเตอรี่ที่ใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันยังไม่เสถียรเท่าที่ควร ซึ่งประสิทธิภาพของแบตเตอรี่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้า กลายเป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานต้องรับสภาพ ทั้งระยะทางวิ่งที่สั้นและเวลาชาร์จไฟที่ค่อนข้างนาน

IDEMITSU KOSAN จึงได้พัฒนา “อิเล็กโทรไลต์แบบแข็ง” วัสดุสำหรับ “แบตเตอรี่โซลิดสเตต” ซึ่งถือว่าเป็นกุญแจสำคัญของการพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นต่อไปที่จะใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า โดยการเปลี่ยนอิเล็กโทรไลต์ในแบตเตอรี่จากของเหลวเป็นของแข็ง คาดว่าจะสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับแบตเตอรี่รุ่นเก่าได้

ในเวลานี้ IDEMITSU KOSAN ร่วมมือกับ TOYOTA Motor Corporation พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตจำนวนมากของอิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็ง ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และสร้างห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้บรรลุการผลิตในจำนวนมากของอิเล็กโทรไลต์แข็งสำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ตั้งเป้าจำหน่ายเชิงพาณิชย์ช่วงปี 2027-2028 เป็นความร่วมมือของสองผู้นำในการผสมผสานการใช้พลังงาน โดย IDEMITSU เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาวัสดุที่ล้ำสมัย ในขณะที่ TOYOTA ส่งเสริมการพัฒนาแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นทางเลือกที่สำคัญในการก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน

จากการผสมผสานเทคโนโลยีการพัฒนาวัสดุของทั้งสองบริษัท ทั้งเทคโนโลยีการผลิตวัสดุของ IDEMITSU และเทคโนโลยีการประมวลผลและการประกอบแบตเตอรี่ของ TOYOTA ในการพัฒนารถพลังงานไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่เป็นแหล่งพลังงานหลัก จะมุ่งสู่เป้าหมายในการผลิตอิเล็กโทรไลต์ชนิดแข็งและแบตเตอรี่โซลิดสเตตได้ในจำนวนมาก เพื่อนำไปใช้กับยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมเป็นกลางทางคาร์บอน และจะเป็นผู้นำแห่งอนาคตจากเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นในประเทศญี่ปุ่นด้วย

IDEMITSU Green Energy Pellets

ที่ผ่านมา เราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรถ่านหินเป็นจำนวนมากจนปริมาณเหลือน้อยเต็มที ถ่านหิน เป็นพลังงานฟอสซิลที่มีคาร์บอน (CO) เป็นองค์ประกอบหลัก กระบวนการผลิตพลังงานจากถ่านหินจึงมักปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษอื่น ๆ ถ่านหินจึงเป็นทรัพยากรที่ไม่ยั่งยืนและก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

IDEMITSU KOSAN จึงได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า IDEMITSU Green Energy Pellets ขึ้น สำหรับเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกแทนการใช้ถ่านหิน โดย IDEMITSU Green Energy Pellets เป็นพลังงานชีวมวลที่ได้จากการอบไม้ด้วยความร้อน แล้วนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนถ่านหิน แม้ว่าในที่สุดแล้ว จะยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการเผาไหม้ แต่ก็มีความเป็นกลางทางคาร์บอนมากกว่าด้วยการปลูกพืชทดแทน พืชที่เป็นวัตุดิบของ IDEMITSU Green Energy Pellets จะดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนในกระบวนการเติบโต 

IDEMITSU เชื่อว่าเทคโนโลยี IDEMITSU Green Energy Pellets จะเป็นก้าวแรกของการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่ยิ่งสามารถนำมาทดแทนการใช้ประโยชน์จากถ่านหินได้มากเท่าไร ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น ปัจจุบัน IDEMITSU KOSAN มีโรงงานผลิต IDEMITSU Green Energy Pellets เชิงพาณิชย์แห่งแรกในประเทศเวียดนาม ที่กำลังนับถอยหลังสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และเตรียมขยายฐานการผลิตไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ในแถบแปซิฟิก โดยกำลังตั้งกลุ่มศึกษากับบริษัทใน 25 ประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและนำเสนอต่อรัฐบาลของแต่ละประเทศ

การรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้ว (Recycling of Used Plastics)

การนำพลาสติกใช้แล้วมารีไซเคิลเป็นพลังงาน เป็นอีกหนึ่งแผนที่ IDEMITSU KOSAN กำลังมุ่งมั่นศึกษา ด้วยความท้าทายจากปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก มีขยะพลาสติกจำนวนมากที่ไม่ได้ถูกนำไปเข้ากระบวนการกำจัดพลาสติกอย่างถูกวิธี IDEMITSU ที่เห็นปัญหา จึงพยายามนำเอาพลาสติกใช้แล้วรีไซเคิลยาก นำมาผ่านกระบวนการให้พลาสติกสลายตัวจนมีสภาพคล้ายน้ำมันดิบ แล้วจึงนำไปพัฒนาให้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและปิโตรเลียมต่อไป

ด้วยจุดแข็งของ IDEMITSU ที่มีโรงกลั่นน้ำมันและสารเคมี ทำให้สามารถจัดการกับทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกระบวนการผลิต เริ่มตั้งแต่การกลั่นน้ำมันไปจนถึงการผลิตปิโตรเคมี ซึ่งที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์พลาสติกทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น แต่กลับมีปัญหาในการกำจัด อันส่งผลกระทบถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือปริมาณขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่เพิ่มมากขึ้น IDEMITSU จึงพยายามหาทางออกและรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลกทั้งปัจจุบันและอนาคต

จากความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรที่สั่งสมมานานหลายปีในการกลั่นน้ำมันและผลิตปิโตรเคมี IDEMITSU จึงได้พัฒนาเทคโนโลยีการแปลงน้ำมัน เพื่อย่อยสลายพลาสติกใช้แล้วให้มีสภาพใกล้เคียงกับน้ำมันดิบมากที่สุด โดยร่วมมือกับ Environmental Energy Co., Ltd. ตั้งแต่ปี 2019 พัฒนาเทคโนโลยีการเติมน้ำมันที่ได้จากพลาสติกใช้แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดสอบว่าน้ำมันรีไซเคิลที่ได้จากพลาสติกใช้แล้วนั้น จะใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับปิโตรเคมีและปิโตรเลียมได้หรือไม่ หากทำได้จริง จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากร และช่วยประหยัดทรัพยากรได้มากทีเดียว

  1. พลังงานก้าวหน้า (Energy one step ahead)

    เป็นแนวคิดการพัฒนาพลังงานและเทคโนโลยีที่ล้ำหน้า เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดของพลังงานที่ใช้กันอย่างแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน มีประสิทธิภาพสูง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แนวคิดนี้อาจรวมถึงการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในกระบวนการผลิต การเก็บรักษา และการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมพลังงานสู่อนาคตที่มีการใช้งานพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแผนริเริ่มที่ IDEMITSU คิดไว้เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีดังนี้

เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (Synthetic Fuel)

เชื้อเพลิงสังเคราะห์ เป็นเชื้อเพลิงที่ถูกผลิตขึ้นมาโดยการสังเคราะห์ทางเคมีจากวัตถุดิบที่ไม่ใช่ปิโตรเลียม โดยมักใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ดักจับได้จากบรรยากาศหรือวัตถุดิบอื่น ๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือชีวมวล และไฮโดรเจน (H) ที่ได้กระบวนการอิเล็กโทรลิซิส ทำให้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ คือแหล่งพลังงานที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ตลอดวงจรชีวิต แม้ว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกปล่อยออกมาในกระบวนการเผาไหม้ แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกดูดซับกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์นั่นเอง

เชื้อเพลิงสังเคราะห์ สามารถนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิลในเครื่องยนต์สันดาปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีนี้จึงกลายมาเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่น่าสนใจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สิ่งที่ IDEMITSU กำลังทำอยู่ คือเชื้อเพลิงสังเคราะห์เหลวจากการสังเคราะห์คาร์บอนไดออกไซด์ที่กู้คืนมาจากบรรยากาศ และไฮโดรเจนที่ได้จากการแยกสารประกอบในน้ำ ด้วยพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน

แอมโมเนีย (Ammonia)

มีการคาดการณ์ว่า “แอมโมเนีย (NH3)” ที่ทุกวันนี้เราใช้ประโยชน์ในรูปแบบของปุ๋ย จะเป็นสารละลายที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน เนื่องจากแอมโมเนียจะไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการเผาไหม้ จึงน่าจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกได้ เช่น ใช้แทนถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า ใช้เป็นเชื้อเพลิงต้มหม้อน้ำในอุตสาหกรรม นำมาทำเป็นเชื้อเพลิงสำหรับเรือ หรือนำแอมโมเนียไปผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการเผาไหม้ลงได้ จึงเริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำเอาแอมโมเนียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือผสมลงในน้ำมันเชื้อเพลิง โดยที่ไม่ลดประสิทธิภาพการใช้พลังงานลง

อย่างไรก็ดี แอมโมเนียยังเป็นได้มากกว่าเชื้อเพลิง เพราะมีความสามารถในการสกัดไฮโดรเจนด้วยการสลายตัว ที่สำคัญ เรายังมีกระบวนการผลิตแอมโมเนียขึ้นเอง เรียกว่ากระบวนการฮาเบอร์-บ็อช (Haber-Bosch) ทว่ากระบวนการนี้จะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นผลิตภัณฑ์ จึงต้องหาวิธีที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระหว่างการผลิตแอมโมเนียด้วย ในกรณีที่ต้องการใช้แอมโมเนียเป็นเชื้อเพลิงกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะ IDEMITSU KOSAN มีประสบการณ์ในการใช้แอมโมเนีย และมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะนำเอาแอมโมเนียมาพัฒนาต่อให้เป็นแอมโมเนียที่สะอาดและปลอดคาร์บอน ให้สมกับที่ IDEMITSU เชื่อว่าแอมโมเนียคือตัวเลือกที่น่าสนใจในการจัดการกับคาร์บอน

ไฮโดรเจน (Hydrogen)

ไฮโดรเจนสีน้ำเงินและไฮโดรเจนสีเขียว กำลังได้รับความสนใจในฐานะเชื้อเพลิงทดแทนที่จะถูกนำมาใช้แทนเชื้อเพลิงฟอสซิล กับเป้าหมายที่จะสร้างสังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน โดยคาดว่าจะนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้า โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าโดยใช้ไฮโดรเจน 100% เนื่องจากไฮโดรเจน (H) เป็นก๊าซเบาที่สุดที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อถูกเผาไหม้ 

ไฮโดรเจน ผลิตได้โดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นวัตถุดิบ โดยการอิเล็กโทรลิซิสน้ำเพื่อผลิตไฮโดรเจนและออกซิเจน จากกระบวนการนี้ จะได้ “ไฮโดรเจนสีเทา” ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ ทำให้ไฮโดรเจนสีเทาเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าไรนัก แต่ด้วยมาตรการรับมือกับการปล่อยคาร์บอน จะสามารถเปลี่ยนเป็น “ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน”

“ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน” คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตจากการแยกไฮโดรเจนออกจากก๊าซธรรมชาติ ในกระบวนการนี้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ทว่าไฮโดรเจนสีน้ำเงินจะแตกต่างจากไฮโดรเจนแบบอื่น เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บคาร์บอน ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วน “ส่วนไฮโดรเจนสีเขียว” คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตจากกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานน้ำ ในกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส กระบวนการนี้ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ไฮโดรเจนสีเขียว เป็นแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุด

ดังนั้น เพื่อบรรลุสังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน จึงจำเป็นต้องศึกษาการใช้ประโยชน์จาก “ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน” และ “ไฮโดรเจนสีเขียว” ให้ได้มากที่สุด และนี่ก็ถือเป็นจุดแข็งของ IDEMITSU KOSAN เพราะโรงกลั่นของ IDEMITSU ผลิตและใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจนมานานหลายปีแล้ว เพื่อกำจัดปริมาณกำมะถันที่ไม่จำเป็นระหว่างกระบวนการกลั่นน้ำมัน

SAF เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel)

เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน หรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) เป็นอีกหนึ่งพลังงานก้าวหน้าที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นหนึ่งในวิธีการลดการปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมการบิน และเป็นนวัตกรรมที่ IDEMITSU KOSAN กำลังค้นคว้าและพัฒนาสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงการบินในอากาศยาน 

โดยเทคโนโลยีเชื้อเพลิง SAF นี้ เป็นเชื้อเพลิงการบินที่ได้จากพลังงานหมุนเวียนหรือจากของเสียที่ตรงตามหลักเกณฑ์การพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น แอลกอฮอล์ (อ้อย) น้ำมันทำกับข้าวที่ใช้แล้ว หรือแม้แต่ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

วัตถุดิบที่นำมาทำเชื้อเพลิง SAF เป็นได้ทั้งแอลกอฮอล์ที่ได้จากการหมักอ้อย น้ำมันทำอาหารใช้แล้ว ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือวัตถุดิบอื่น ๆ โดยนำมาผ่านเทคโนโลยี คือ  AJT เพื่อเปลี่ยนแอลกอฮอล์เป็นเชื้อเพลิงเจ็ท เทคโนโลยี HEFA ไฮโดรจิเนชันเอสเทอร์และกรดไขมัน เทคโนโลยี E-Fuels เชื้อเพลิงเหลวที่ผลิตจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเทคโนโลยี Fischer-Tropsch Synthesis หรือการแปรสภาพวัตถุดิบเป็นก๊าซ ตามลำดับ ซึ่งหากว่าเชื้อเพลิง SAF พัฒนาสำเร็จและนำมาใช้จริง จะสามารถลดการปล่อยคาร์บอนทางอากาศยานได้ถึง 80% จากกระบวนการทั้งหมด ทั้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย

  1. Smart Yorozuya

    เป็นแนวคิดที่พัฒนาโดย IDEMITSU KOSAN โดยเริ่มต้นที่เมืองชิมาดะ จังหวัดชิซูโอกะ เป็นโครงการที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาสถานีบริการน้ำมันให้กลายเป็นศูนย์บริการอเนกประสงค์ที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของชุมชนในท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย ซึ่งนอกจากการจัดหาพลังงานแล้ว ยังพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางไลฟ์สไตล์ที่สำคัญในท้องถิ่น เพื่อรับมือกับความท้าทายในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในภูมิภาค

จะเห็นได้ว่า บริษัท อิเดมิตสึ โคซัน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น คือผู้นำอย่างแท้จริงในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีสีเขียว ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเพื่อสร้างอนาคตยั่งยืน สมกับที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมันเครื่องมากว่า 113 ปี มุ่งดำเนินธุรกิจด้วยภารกิจที่แสดงความรับผิดชอบในการปกป้องสิ่งแวดล้อมโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต มุ่งสู่สังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน ลดการใช้ทรัพยากร สร้างพลังงานหมุนเวียน และริเริ่มการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในรูปแบบใหม่ให้ได้ภายในปี 2050

จากแผนเทคโนโลยีสีเขียวที่กล่าวมาข้างต้น ถูกส่งต่อมาให้ บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ที่มีความร่วมมืออันดีกับ IDEMITSU KOSAN ได้รับเทคโนโลยีสีเขียวนี้มาใช้พัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของอุตสาหกรรมพลังงานในประเทศไทยด้วย เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนไปด้วยกัน

บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com
ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID : @apollothailand